การเปิดศึกหลายด้านของรัฐบาลเมียนมา

04 ธ.ค. 2566 | 04:30 น.

การเปิดศึกหลายด้านของรัฐบาลเมียนมา คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปบรรยายในงานสัมมนาที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมไทย-พม่าเพื่อมิตรภาพ ซึ่งก็ได้พบปะเพื่อนๆ พี่น้องผู้ประกอบการค้าชายแดน ที่คุ้นเคยกันดีหลายท่าน มีคำถามเยอะแยะที่เพื่อนๆ ได้สอบถามมาบนเวทีสัมมนานั้น เสียดายที่การเดินทางโดยสายการบินนกแอร์ ในช่วงที่ผ่านมานี้ ไม่ค่อยจะตรงเวลานัก เลยทำให้เวลาในการบรรยายต้องเร่งรีบมาก มิเช่นนั้นคงตกเครื่องบิน ซึ่งจะทำให้งานที่ผมนัดไว้ที่กรุงเทพฯ อาจจะต้องมีอันต้องเลื่อนออกไป ซึ่งบางงานที่ผมจะต้องเข้าร่วมประชุม ที่มีความสำคัญระดับภูมิภาค ผมอาจจะไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ เลยต้องจบการสัมมนาก่อนเวลาเกือบชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังสามารถรับใช้เพื่อนๆ พี่ๆ ที่ต้องการคำตอบในด้านต่างๆ ได้ตลอดเวลานะครับ ส่งคำถามหรือติดต่อมาโดยตรงได้ที่สภาธุรกิจไทย-เมียนมาได้ตลอดเวลาครับ

ผมอยากจะเล่าถึงสถานการณ์ในปัจจุบันนี้ของประเทศเมียนมา ซึ่งต้องบอกว่าเหนือความคาดหมายของนักวิเคราะห์ข่าวหลายๆ ท่านเลยทีเดียว ซึ่งก็รวมทั้งผมด้วย เพราะเหตุการณ์ที่เปิดศึกสู้รบมาตั้งแต่ยุทธการ 1027 ของการรวมตัวของพันธมิตรสามฝ่าย อันประกอบด้วยกองกำลังโกก้าง (MNDAA) กองกำลังอาระกัน (AA) และกองทัพปลดปล่อยตะอ่าง (TNLA) ดั่งที่เราทราบๆ กัน ช่วงแรกการเปิดศึกของทั้งสองฝ่าย ระหว่างกลุ่มพันธมิตรสามฝ่ายกับทหารฝ่ายรัฐบาล จะเปิดศึกหนักกันเฉพาะบริเวณรัฐฉานตอนเหนือติดกับรัฐกระฉิ่นตอนใต้ ที่เป็นพื้นที่อิทธิพลของกลุ่มกองกำลังโกก้างเป็นหลัก

ส่วนอีกสองฝั่งคือรัฐยะไข่และรัฐชิ่นที่อยู่ฝั่งตะวันตกของประเทศเมียนมา ที่เป็นเขตอิทธิพลของกองกำลังอาระกัน (AA)  ก็มีการสู้รบกันปะปราย ในขณะที่ฝั่งรัฐกระหย่าที่อยู่ฝั่งตะวันออกและอยู่ติดกับจังหวัดแม่ฮ่องสอนของเรา ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของกองทัพปลดปล่อยตะอ่าง (TNLA) ก็มีการสู้รบกันอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับหนักมาก เหตุที่เป็นเช่นนั้น ผมเองมีความเชื่อว่า อาจจะเป็นเพราะทหารของพันธมิตรสามฝ่าย คงจะต้องผนึกกำลังกันทำศึกหน้าเดียว เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นก็ได้

ซึ่งในวันที่ผมเดินทางไปบรรยายที่แม่สอด ก็ยังให้กำลังใจเพื่อนๆ ที่ทำการค้าอยู่ที่แม่สอดว่า ในความคิดของผม คิดว่าทางฝั่งชายแดนแม่สอด-เมียววดี รัฐบาลเมียนมาคงจะต้องพยายามรักษาความสงบไว้ให้ได้ เพราะว่าการสู้รบทางฝั่งภาคเหนือเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา คงสร้างความลำบากใจให้กับรัฐบาลเมียนมาและรัฐบาลจีนไม่น้อย ที่มีความไม่สบายใจจากกรณีรถบรรทุกสินค้าของจีน ถูกถล่มด้วยระเบิดจากกองกำลังไม่ทราบฝ่าย เสียหายไปร้อยกว่าคัน ซึ่งอาจจะมีการ “เอาคืน” จากทางฝากฝั่งทหารรัฐบาลอย่างไม่ต้องสงสัย

เมื่อเป็นเช่นนี้ การคมนาคมและโลจิสติกส์ทั้งหมด จะต้องสะดุดหยุดลง การค้าชายแดนระหว่างประเทศเมียนมา-จีน ก็คงต้องหยุดลงไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้อานิสงส์จากการปิดพรมแดน รัฐบาลเมียนมาก็ต้องหันมาดูแลช่องทางชายแดนแม่สอด-เมียววดีไว้ เพื่อไม่ให้มีการปิดประเทศนั่นเองครับ

แต่พอผมกลับมาถึงกรุงเทพฯไม่ทันไร ในเช้าตรู่ของวันพุธที่ 1 ธันวาคม กลุ่มทหารกระเหรี่ยง KNLA ก็ได้เปิดฉากยิงต่อสู้กับทหารรัฐบาลเมียนมาที่เกาะกะเร็ก ซึ่งตั้งอยู่บนทางด่วนสายเมียววดี-ย่างกุ้ง การสู้รบค่อนข้างจะรุนแรง เท่าที่ผมเห็นตามภาพข่าวของหนังสือพิมพ์เมียนมาและข่าวที่ได้รับจากท่านทูตพาณิชย์ไทยประจำเมียนมา ท่านเอกวัฒน์ ธนประสิทธิ์พัฒนา ที่กรุณาส่งมาให้ ก็มีความกังวลใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะนั่นจะทำให้การค้าขายและการนำเข้า-ส่งออกสินค้า บนเส้นทางหลักของประเทศเมียนมา เกิดปัญหาขึ้นมาทันที

และทันทีที่เห็นข่าว ผมก็ได้โทรศัพท์เรียนสายกับท่านทูตพาณิชย์ว่า ทุกครั้งที่มีการกระทบกระทั่งกันของกลุ่มกระเหรี่ยง KNLA กับฝ่ายรัฐบาล ก็มักจะมีการแจ้งให้ประชาชนที่อาศัยอยู่แถบนั้น และกลุ่มพ่อค้าชายแดนทั้งหลายทราบ เพื่อให้เตรียมการอพยพไม่ให้เข้าใกล้สนามรบ เพื่อความปลอดภัยอยู่เสมอ แต่คราวนี้ไม่เห็นมีการแจ้งเตือนล่วงหน้า ดังนั้นจึงคิดว่าน่าจะเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยจะสู้ดีนัก เกรงว่าอาจจะยืดยาวก็เป็นได้ ดังนั้นทฤษฏีที่ว่า “ปิดด่านทางเหนือ ต้องรักษาให้เปิดด่านทางใต้” เพื่อความอยู่รอดของการค้าระหว่างประเทศ ก็อาจจะไม่น่าจะใช่ซะแล้วครับ คงต้องมาวัดใจทั้งฝ่ายกองกำลังกระเหรี่ยง KNLA กับฝ่ายทหารรัฐบาลเมียนมา ว่าเขามีความคิดเห็นอย่างไร ในการเปิดศึกหลายหน้าเช่นนี้แหละครับ

จากสถานการณ์ดั่งที่เกิดขึ้น คงจะไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เสียแล้ว แต่ถึงอย่างไรเสียเราก็คงต้องรักษาความเป็นมิตรให้ได้กับทุกๆ ฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราคงต้องคิดต่อว่า ถ้าหากการคมนาคมทางฝั่งเมียววดี-ย่างกุ้ง ต้องมีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้เกิดขึ้น เราจะรักษาสถานภาพของการค้าระหว่างประเทศกับเมียนมาอย่างไร? ให้คงอยู่ได้อย่างไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ทางสำนักงานทูตพาณิชย์ไทยประจำย่างกุ้ง ก็ได้ร่วมกับทางสภาธุรกิจไทย-เมียนมา เริ่มทำการหาทางออกหรือแผนต่อไปว่าจะทำอย่างไร?

ซึ่งแน่นอนว่าทางออกทุกทาง ย่อมมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น จะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกและระยะทางการขนส่งเป็นหลัก เชื่อว่าเราต้องรอดูเหตุการณ์ก่อนสักหนึ่งอาทิตย์ ถ้าทุกอย่างคลี่คลายลง ก็ถือว่าเป็นโชคดีของชาวเมียนมาไป แต่ถ้าโชคไม่เข้าข้าง เราคงต้องเหนื่อยในการเจรจาหาทางออกร่วมกันอีกหลายรอบแล้วละครับ ขอให้เพื่อนๆ ผู้ประกอบการค้าชายแดน รอฟังข่าวกันก่อนนะครับ มีความคืบหน้าอย่างไร? ผมจะส่งข่าวมาให้ทุกท่านทราบครับ