การแสวงหาความก้าวหน้าจากการศึกษา

23 ต.ค. 2566 | 05:15 น.

การแสวงหาความก้าวหน้าจากการศึกษา คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้เล่าเรื่องทางเลือกของการศึกษาของชาวเมียนมาในยุคนี้ ผ่านทางรายการวิทยุอสมท. ในรายการ Good Morning Asian ซึ่งหลังจากออกรายการไปแล้ว ก็มีแฟนคลับหลายท่าน ได้ส่งข้อความมาแสดงความคิดเห็น ผ่านมาทางไลน์ให้ผมอ่าน ผมเข้าใจดีว่าทุกท่านที่ได้เปรียบเทียบโอกาสในการเลือกการศึกษา ของเด็กไทยกับเด็กเมียนมานั้น มีความแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน แต่ทุกคนที่เป็นมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดา ล้วนแล้วแต่วาสนาของใครของเขานะครับ ไม่สามารถเลือกเองได้จริงๆ เพราะว่านั่นเป็นพรหมลิขิตขีดเส้นชะตาไว้แล้วทั้งสิ้นครับ

เด็กยุคใหม่ของไทยเรา แม้อาจจะมีทางเลือกที่ตนเองปารถนาไม่เท่ากัน แต่ทุกคนย่อมสามารถเลือกทางเดินชีวิตของตนเองได้ อยู่ที่ว่าจะเลือกไปทางไหนเท่านั้น แต่ว่านั่นไม่ใช่เด็กๆ ของชาวเมียนมาจะสามารถทำได้ทุกคนเหมือนเรา ประเทศเมียนมาในยุคที่ผ่านมา หลังจากประเทศได้เข้าสู่ยุคประชาธิปไตยเรืองรอง หรือประมาณเริ่มต้นในปี 2010 ที่ผ่านมา  เขาเองเริ่มเห็นความแตกต่างระหว่างการที่เป็นคนมีการศึกษา กับคนที่ด้อยการศึกษานั้นมีความแตกต่างกัน

เพราะเมื่อมีการเปิดประเทศหลังที่ถูกแซงชั่นมานานเป็นทศวรรษ ความเจริญได้หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศเมียนมา ความแตกต่างระหว่างผู้ที่ได้รับการศึกษาหรือไม่ ก็มีความแตกต่างกันมาก ช่องว่างระหว่างความจนกับความรวย ก็มีความห่างกันมากขึ้น จึงทำให้เขาต้องเร่งรีบหาหนทางเข้าถึงการศึกษากันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคสมัยที่เข้าสู่ยุคไอที ทำให้คนทั่วไปเข้าถึงแหล่งความรู้ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ยิ่งทำให้เด็กๆ ยุคใหม่ของเมียนมา รู้ซึ้งถึงปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเด็กรุ่นใหม่ของเมียนมา จึงมีความขยันเรียนหนังสือกันจัง 

ความแตกต่างระหว่างเด็กของเขากับเด็กของเรานั้นแตกต่างกันมาก เหตุผลหลักตามที่ผมเข้าใจ อาจจะมาจากสถานะความเป็นอยู่ของประชาชน ที่มีความแตกต่างกันมาก เด็กรุ่นใหม่ของไทยเรานั้นเกิดมาก็มีแต่ความสุขสบายทางวัตถุเสียเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่เด็กเมียนมาเอง เขาไม่ค่อยจะได้มีโอกาสเหมือนเช่นเด็กไทยเรา เขาจึงรับรู้ถึงความยากลำบาก ที่ทำให้เขาต้องคิดเสาะแสวงหาหนทาง ในการสร้างฐานะของเขา ให้อยู่ดีมีสุขให้ได้ เขารู้ดีว่าเครื่องมือที่จะช่วยให้เขาประสบความสำเร็จได้ ก็มีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น นั่นก็คือ “การศึกษา” นั่นเองครับ

พอบ้านเมืองของเมียนมาเดินเข้าสู่ยุคของความศิวิไล เราจะเห็นเด็กๆ ชาวเมียนมา บางคนที่ครอบครัวมีฐานะไม่ค่อยดีนัก แม้จะไม่สามารถเดินทางไปศึกษายังต่างประเทศ เขาก็ต้องพยายามเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในประเทศให้ได้ ส่วนคนที่อยู่ในฐานะปานกลาง ก็จะหาช่องทางที่จะไปต่างประเทศ โดยการแสวงหาทุนการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาลหรือของเอกชน ถ้ามีการให้ทุนการศึกษาบ้างไม่มากก็น้อย เขาจะต้องพยายามให้พ่อ-แม่ส่งเสียให้เขาได้ออกไปเรียนให้ได้

แน่นอนว่าสำหรับคนที่ทางครอบครัวมีฐานะดี เขาก็ไม่ต้องหาแหล่งที่มาของทุนการศึกษาจากต่างประเทศเอง อาศัยพ่อ-แม่ก็เพียงพอแล้ว ในยุคก่อนโรคระบาดโควิด-19 ผมเองก็เคยเจอเด็กๆ เหล่านั้นเยอะมาก ที่มาเรียนอยู่ที่ประเทศไทย เพราะประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของเขาเหล่านั้น ก็ได้พูดคุยโดยตรงกับเขา จึงได้ทราบถึงความต้องการของเขาครับ

เรื่องเช่นนี้สำหรับเด็กรุ่นใหม่ของเมียนมา เราไม่ต้องไปสอนเขามาก เขาก็รู้ว่าเขาควรทำเช่นไรครับ ในขณะเดียวกัน พวกเขาไม่จำเป็นต้องมีใครมาพร่ำบ่นพร่ำสอนเลยครับเพราะโลกในยุคปัจุบัน การเสาะหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตนั้นง่ายมาก ไม่เหมือนยุคผมที่ต้องมีผู้ใหญ่มาคอยสอนครับ แต่หลังจากประเทศเมียนมา ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เด็กๆ รุ่นใหม่ที่เคยได้ลิ้มรสของประชาธิปไตยแล้ว เขาเหล่านั้นไม่ยอมรับกับการเปลี่ยนแปลง จนเกิดความคิดต่อต้านรัฐบาลขึ้น จนกลายเป็นขบวนการต่างๆ ในปัจุบันนี้

เมื่อความไม่สงบเข้ามาสู่สังคม ก็คล้ายๆ กับยุคหนึ่งของประเทศไทย เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม และ 6 ตุลาคม นั่นแหละครับ เพียงแต่ยุคสมัยเปลี่ยนไป ระบบไอทีและความเจริญทางด้านยสื่อสารต่างๆ ก็เปลี่ยนไปมากกว่าเก่า ในขณะที่การศึกษาของเมียนมาได้หยุดชะงักมากกว่าในยุคดังกล่าวของไทยเรา จึงเห็นนักศึกษาเมียนมาแสวงหาโอกาสเดินทางออกมาสู่ต่างประเทศมากกว่าที่ควรจะเป็น อีกประการหนึ่งในยุคนั้นของประเทศไทย นักศึกษาส่วนใหญ่จะเข้าป่าไปร่วมกันต่อต้านรัฐบาล ในขณะที่ปัจุบันเด็กๆ ชาวเมียนมาเขาเดินทางออกนอกประเทศ ถ้าไม่ไปทำงานก็ไปแสวงหาการศึกษานั่นแหละครับ

ดังนั้นคนที่ครอบครัวมีสถานะที่ดีกว่า ก็มีทางเลือกได้มากกว่า บางคนก็ไปประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา หรือประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้หรือสาธารณรัฐประชาชนจีน คนที่มีสถานะรองลงมา ก็มาประเทศไทย เพราะค่าใช้จ่ายในการศึกษาของเรา ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ การกินการอยู่ก็ถูกกว่าที่อื่นเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะมีนักศึกษาจากประเทศเมียนมา เข้ามาเรียนที่เรามีจำนวนไม่น้อยเลยครับ

ดังนั้นเวลาเราพบเจอเขาเหล่านั้น เราอาจจะไม่รู้หรอกครับว่า เขาเป็นลูกเต้าเหล่าใคร หรือเขาอาจจะเป็นลูกคนที่มีสถานะทางสังคมที่เราคาดไม่ถึงก็ได้นะครับ หรือแม้ว่าเขาจะมีสถานะทางเศรษฐกิจดีหรือไม่ เราก็ไม่อาจจะทำนายได้ บางครั้งแม้เขาจะมีสถานะทางเศรษฐกิจไม่ดีในวันนี้ วันหนึ่งเมื่อฟ้าเปิด เขาเดินทางกลับบ้านเขาที่เมียนมา เขาอาจจะพลิกสถานะของเขาได้ก็ไม่แน่นะครับ เรื่องของอนาคตไม่มีใครตอบได้หรอกครับ แม้แต่หมอดูที่ว่าทายแม่นๆ ก็ยังตอบยากเลยครับ