การหาเงินเข้าคลังของรัฐบาล

09 ต.ค. 2566 | 05:30 น.

การหาเงินเข้าคลังของรัฐบาล คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

การหาเงินเข้าคลังของรัฐบาลทั่วๆ ไปในโลกใบนี้ ไม่เพียงแต่รัฐบาลเมียนมาเท่านั้น ผมเชื่อว่าทุกประเทศ ล้วนแล้วแต่ต้องมีการตั้งเป้าหมาย ในการเสาะแสวงหาเงินตราเข้าสู่คลังของประเทศ แม้วิธีการจะแตกต่างกันออกไป แต่ก็ไม่ได้ผิดเพี้ยนไปจากที่ผมจะเล่าให้ทุกท่านฟังต่อไปนี้แทบทั้งนั้น เพียงแต่บางประเทศที่อาจจะโชคดี ที่มีทรัพยากรทั้งบนดินและใต้ดินที่มีมากเพียงพอ ไม่มีความจำเป็นต้องไปกระตุ้นการหารายได้ทางด้านอื่นๆ อีก ตัวอย่างเช่น บางประเทศที่ผ่านมา เขามีน้ำมันใต้พื้นผิวโลก ที่สร้างรายได้มากมายมหาศาล 

โดยทั่วไปแล้วการหาเงินตราเข้าสู่คลังของประเทศ มักจะใช้กลไกของภาษีอาการ ภาษีศุลกากร และภาษีพิเศษอื่นๆ เป็นหลัก อยู่ที่ว่าการจัดเก็บนั้นๆ จะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน ส่วนใหญ่การจัดเก็บภาษีอากร ก็จะเป็นหน้าที่ของสรรพากรเป็นแม่งานในการจัดเก็บ ส่วนภาษีศุลกากร ก็จะจัดเก็บภาษีจากการนำเข้าสินค้าและการส่งออกสินค้า ส่วนภาษีอื่นๆ ก็แล้วแต่ละประเทศจะมีนโยบายอย่างไร? เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีโรงเรือน ภาษีสินค้าที่ทำลายสุขภาพ ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย(ที่รัฐบาลไม่ต้องการให้ประชาชนใช้จ่ายเยอะเกินไป) ภาษีการโฆษณา และภาษีแรงงานเป็นต้น  

แม้ว่าบางท่านอาจจะบอกว่า ไม่น่าจะเป็นจำนวนเยอะมาก หรือน่าจะไม่มีนัยยะสำคัญมากนัก แต่บางประเทศที่จำเป็นต้องพึ่งพาภาษีเหล่านั้น หรือบางประเทศอาจจะไม่สามารถจัดเก็บภาษีที่เป็นตัวหลักที่สำคัญได้ตามเป้าหมาย ก็จำเป็นต้องหันมาใช้ภาษีอื่นๆ เหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกครับ

ในช่วงสัปดาห์ก่อน เราจะเห็นภาพข่าวทางทีวีช่องหนึ่ง ที่มีพี่น้องชาวแรงงานเมียนมา ออกมาประท้วงรัฐบาลที่หน้าสำนักงาน United Nation เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมา ยุติการจัดเก็บภาษีแรงงานใหม่ ที่รัฐบาลเมียนมากำลังประกาศออกมาให้ใช้ในต้นเดือนหน้า โดยจะให้นายจ้างมีการโอนเงินเดือนของลูกจ้าง 25% ของรายได้สุทธิกลับไปประเทศเมียนมา โดยใช้ช่องทางที่ถูกกฎหมายเมียนมา(ทางธนาคารพานิชย์ของเมียนมา) และจะมีการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีใหม่ ซึ่งสร้างความไม่สบายใจให้กับผู้เสียภาษีที่เป็นแรงงานชาวเมียนมา จึงมีการออกมาประท้วงกันนั่นเอง

อันที่จริงการเสียภาษี ก็เป็นหน้าที่ของราษฎรทุกๆ คนอยู่แล้ว เพียงแต่ความสามารถของแต่ละคนอาจจะไม่เท่ากัน การหลบเลี่ยงภาษีจึงบังเกิด หากแต่ประเทศนั้นๆ ประชาชนผู้เสียภาษี เขามีความรู้สึกอย่างไร ย่อมเป็นสิทธิของเขาเหล่านั้น เราไม่สามารถที่จะไปก้าวล่วงเขาได้ เราก็ได้แต่เล่าสู่กันฟังไปเท่านั้นเอง ที่ประเทศเมียนมาการจัดเก็บภาษีของรัฐบาล ยังค่อนข้างจะมีความแปลกประหลาดกว่าประเทศอื่นๆ ที่นั่นเขายังมีความเหลื่อมล้ำของการจัดเก็บภาษีอยู่มาก แน่นอนว่าประเทศที่กำลังจะพัฒนาทั่วๆ ไป ก็เป็นเช่นนี้เสมอ

การหลบเลี่ยงการเสียภาษี ที่มีการเจรจากับเจ้าหน้าที่สรรพากร ยังคงเป็นเรื่องปกติของที่นั่น จึงทำให้การจัดเก็บไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จะเห็นว่าในช่วงของการเข้าสู่การปกครองของรัฐบาลทหารในยุคใหม่นี้ เขาพยายามไล่บี้ เพื่อเรียกผู้ประกอบการเข้าไปตรวจสอบการเสียภาษีค่อนข้างจะเข้มข้นกว่าเก่าเยอะ มีการเรียกดูเอกสารหลักฐานต่างๆ มากมาย แต่ก็เชื่อว่าเขายังจัดเก็บได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ตราบใดที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงานยังคงเป็นชุดเดิมอยู่ ดังนั้นจึงทำให้เห็นภาพของการไล่บี้ทุกๆ หน่วยงาน ที่มีหน้าที่จัดหารายได้อย่างเข้มงวด

นอกจากภาษีแรงงาน ที่เหล่าแรงงานออกมาประท้วงกันแล้ว ยังมีภาษีนำเข้าสินค้า ที่รัฐบาลเมียนมาก็เร่งออกมาตรการ ในการเรียกเก็บอย่างเข้มงวดเช่นกัน การขอใบอนุญาตนำเข้าสินค้า จากเดิมที่เคยให้เจ้าหน้าที่ระดับปฎิบัติการ ที่ประจำอยู่ที่กรุงย่างกุ้งสามารถออกใบอนุญาตได้ ก็เปลี่ยนมาให้หน่วยงานในกรุงเนปิดอร์ เป็นผู้เข้ามากำกับดูแล หรือการส่งออกสินค้าที่ประเทศทั่วๆ ไป มักจะส่งเสริมให้มีการส่งออกมากขึ้น ด้วยการลดภาษีหรือให้คืนภาษีได้ บางประเทศยังกระตุ้นด้วยการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ด้วย แต่ที่ประเทศเมียนมาไม่ใช่ เขายังจัดเก็บภาษีการส่งออกสินค้าด้วยซ้ำไปครับ เราจึงไม่แปลกใจที่เขาจะมีการบังคับให้จ่ายภาษีแรงงานมากกว่าเดิมครับ

สำหรับภาษีแรงงานที่ออกประกาศว่า ให้โอนโดยผ่านธนาคารที่ทางการกำหนด 25% นั้น ด้วยเหตุที่ในการโอนเงินกลับประเทศ โดยธรรมเนียมปฎิบัติทั่วๆ ไปแล้ว แรงงานส่วนใหญ่เขาจะใช้วิธีการโอนเงินกลับโดยใช้ช่องทางโพยก๊วน หรือช่องทางใต้ดินนั่นเอง เพราะกลุ่มโต๊ะโพยก๊วน เขามีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าการโอนผ่านธนาคารทั่วไป อีกทั้งการบริการยังน่าประทับใจกว่าการใช้บริการของธนาคารพานิชย์ทั่วไป นอกจากนั้นยังสามารถหลบเลี่ยงภาษีได้อีกด้วย จึงทำให้กลุ่มการบริการใต้ดินนี้ จึงมีผู้มาใช้บริการมากกว่าธนาคารทั่วไป 

แล้วถ้าถามว่าการหลบเลี่ยงภาษีแรงงานที่ผ่านๆ มาเขาทำกันอย่างไร? ก็โดยปกติแรงงานเมียนมาหรือประเทศอื่นๆ ที่ไม่เข้าสู่ระบบ หรือแรงงานที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย เข้าก็ไม่มีการบันทึกการเข้ามาทำงานในต่างประเทศ แต่แรงงานที่เข้ามาอย่างถูกต้อง ที่เดินทางเข้ามาสู่ประเทศเพื่อนบ้านทุกคน จะต้องมีหนังสือเดินทาง ที่อาจจะเป็นหนังสือ MOU หรือไม่ก็เป็น Passport เสมอ ดังนั้นการเรียกเก็บภาษีจึงทำได้ไม่ยากเหมือนดังคนที่ไม่ได้เดินทางเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมายนั่นเองครับ

อีกประการหนึ่งคือรายได้ของแรงงานที่ถูกเรียกเก็บภาษี หากเขาเรียกเก็บ 25% แน่นอนว่าเขาก็สามารถทราบได้ว่า ร้อยเปอร์เซ็นต์นั้นจะเป็นเท่าใด จึงไม่สามารถแจ้งต่ำกว่าจำนวนที่รับจริงได้นั่นเอง ซึ่งจำนวนตัวเลขที่รัฐบาลเมียนมา จะได้เงินคืนเข้าสู่คลังนั้นมีมากมหาศาล อย่าคิดว่าไม่มีนัยยะนะครับ เพราะยิ่งในช่วงเวลานี้ เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก จากการถูกรัฐบาลต่างชาติหรือพวกชาติตะวันตกเขาแทรกแซงอยู่ ในปัจจุบันนี้ รัฐบาลเมียนมาจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีรายได้มาหล่อเลี้ยงประเทศ ให้อยู่รอดปลอดภัยให้ได้ นี่คือคำตอบครับ