เมืองใหม่ของย่างกุ้ง ต่าหล้า

14 ส.ค. 2566 | 05:00 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ส.ค. 2566 | 00:23 น.
637

เมืองใหม่ของย่างกุ้ง ต่าหล้า คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

กลับมาอีกครั้งสำหรับเรื่องเล่าที่เกี่ยวกับเมียนมา หลังจากที่ผมได้เขียนเรื่องของการสัมมนาในหัวข้อเกี่ยวกับลัทธิไตรประชา ซึ่งก่อกำเนิดโดยท่านดร.ซุน ยัต เซ็น ไปสามอาทิตย์ และผมได้สัญญาว่า จะเขียนเรื่องของ New Yangon city หรือเมืองใหม่ของย่างกุ้ง ที่อยู่ตรงข้ามกับเมืองเก่าหรือไชน่าทาวน์นั่นเองครับ เมืองใหม่นี้เริ่มต้นจากรัฐบาลที่ผ่านมา โดยท่านมุขมนตรีประจำเมืองย่างกุ้ง ท่าน อู เพียว มิ่น เต็ง ได้เป็นผู้ริเริ่มขึ้นมา ถ้าหากเป็นไปตามแผนงานที่ท่านกำหนดไว้ เมืองย่างกุ้งจะไม่น้อยหน้าเมืองใหญ่ๆ ในภาคพื้นอาเชียนเลยละครับ

แต่ก่อนอื่นผมต้องขอออกตัวก่อนนะครับว่า บทความของผมนี้ ไม่ได้ฝักใฝ่การเมืองของทุกประเทศ ไม่ยกเว้นเมียนมาหรือที่ประเทศไทย เพราะรู้ว่าสถานการณ์อันเปราะบางนี้ การเมืองเป็นเรื่องต้องห้ามของนักเขียนทุกคน ดังนั้นผมยังคงยืนยันถึงจุดยืนเดิมๆ อยู่เช่นเคยครับ

ในช่วงระยะสุดท้ายของการเข้ามาบริหารประเทศของพรรค NLD ท่านมุขมนตรี อู เพียว มิ่น เต็ง ได้มีดำริให้มีการว่าจ้างสถาปนิกจากต่างประเทศ ให้เขียนแบบ Master Plan ของการพัฒนาเมืองย่างกุ้งขึ้น โดยมีโปรเจคทั้งหมด 80 เมกกะโปรเจค ซึ่งมีทั้งการก่อสร้างเส้นทางวงแหวนรอบนอก 2 เส้นทาง การก่อสร้างรถไฟฟ้ารอบเมืองย่างกุ้ง การสร้างสถานีรถไฟแห่งใหม่บนสถานที่เดิม การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำย่างกุ้งเพิ่ม การก่อสร้างตลาดสดให้มีความทันสมัย เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน การรื้ออาคารสิ่งปลูกสร้างเก่า เพื่อมาสร้างอาคารใหม่ทดแทน การสร้างเมืองใหม่ของย่างกุ้งบนที่ดินฝั่งเขตต่าหล้า ที่เป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่าเดิม การก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมใหม่ และการปรับปรุงนิคมอุตสาหกรรมเก่าให้เปลี่ยนเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ทันสมัย ฯลฯ

นี่คือบางส่วนของโครการเมกกะโปรเจค ที่ได้มีการดำเนินการไปแล้วบางส่วน เสียดายที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ด้วยเหตุอันมิอาจก้าวล่วงได้ ซึ่งบางโปรเจคก็มีการดำเนินการต่อจากรัฐบาลชุดเก่า แต่บางโปรเจคที่ต้องใช้เงินงบประมาณสูงมาก ด้วยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของเมียนมามีไม่มาก ผมก็เชื่อว่าคงต้องถูกยกเลิก หรืออาจจะถูกระงับยับยั้งไปก่อน จนกว่าจะมีความเป็นไปได้ใหม่อีกครั้งแล้วกระมัง

ในช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 เกิดขึ้น จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลง ผมก็ไม่ได้เดินทางเข้าไปย่างกุ้งนานถึงสามปีกว่า แต่พอประเทศเริ่มเปิดอีกครั้ง ผมก็ได้เดินทางเข้าไป แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ออฟฟิศ ไม่ได้เข้าไปในเมืองหรือแถบเขตอะโหล่ง ที่อยู่ปลายของถนนมหาบันดูล่า หรือปลายไชน่าทาวน์ จนกระทั่งครั้งหลังสุด ด้วยผมมีอาการปวดต้นคอและบ่าไหล่มาก เลยขับรถไปพบหมอจีนที่นั่น เพื่อให้หมอจีนช่วยดูอาการให้ ปรากฎว่าสิ่งที่ได้พบเห็นคือสะพานข้ามแม่น้ำย่างกุ้งที่อยู่ใกล้ๆ เขตอะโหล่ง สร้างข้ามไปยังเมืองใหม่ย่างกุ้งที่เขตต่าหล้า ได้สร้างเกือบเสร็จแล้ว ตามที่ผมได้เล่าให้ฟังไปเมื่อสี่อาทิตย์ก่อน วันนี้เลยอยากจะมานำเสนอให้อ่านว่าเป็นอย่างไรครับ

เมืองใหม่ของย่างกุ้ง (New Yangon City) ได้มีการออกแบบให้เป็นเมืองที่ทันสมัยมาก คล้ายๆ กับการสร้างเขตพู่ตงของเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพราะที่นั่นเมื่อก่อนนี้จะเป็นเขตป่าที่รกร้างว่างเปล่า พาดยาวตั้งแต่ริมแม่น้ำย่างกุ้ง จรดใต้สุดของแผ่นดินลงไปจนติดทะเลที่ปากอ่าวย่างกุ้งเลยทีเดียว จะมีสลัมอยู่ขอบๆ ริมฝั่งแม่น้ำเท่านั้น เนื้อที่ทั้งหมดของโครงการนี้มี 22,240 เอเคอร์ ก็ประมาณ 55,600 ไร่ งบประมาณในการสร้างเมืองใหม่นี้ ใช้งบประมาณ 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

การก่อสร้างจะแบ่งออกเป็นสองระยะ ระยะแรกจะเป็นการสร้างอาคารต่างๆ ที่มีการแบ่งโซนไว้อย่างชัดเจน ซึ่งจะมีทั้งส่วนที่เป็นฮับของนิคมอุตสาหกรรมเบา ส่วนที่เป็นพื้นที่ใช้สอยร่วม หรือที่เรียกว่า Mix-Use อีกส่วนหนึ่งจะเป็น City Center อีกส่วนจะเป็น Concorde Plaza และจะมี Stadium ใหญ่มากหนึ่งแห่ง ยังมี West side Gateway มีเจตที่พักอาศัยหรือ Residential Center ที่น่าจะเป็นแหล่งที่อยู่ใหม่ของชาวย่างกุ้งครับ

ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทางเขาได้เตรียมการสร้างที่นี่ให้เป็นเมืองไฮเทค เพราะมีการวางแผนที่จะใช้เทคโนโลยีของประเทศจีน เข้ามาช่วยสร้างเสริมศักยภาพขึ้น จะเห็นว่าพื้นที่นี้ หากเริ่มก่อสร้างขึ้นมา จะมีการจ้างงานทั้งหมด 600,000 ตำแหน่งในปี 2025 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 900,000 ตำแหน่งในปี 2050 เลยทีเดียว  

นอกจากนี้ที่เมืองใหม่ย่างกุ้ง จะมีคนเข้าไปอยู่อาศัยหรือประชากรเพิ่มอีกประมาณการณ์ไว้ว่าไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านคน เนื่องจากอีกด้านหนึ่งของเมืองใหม่นี้ ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำย่างกุ้ง เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมติลาว่า ที่เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ทันสมัยมาก เพราะที่นิคมอุตสาหกรรมติลาว่านั้น มีการแบ่งโซนออกเป็นสามโซนใหญ่ๆ คือ โซนเขตเศรษฐกิจพิเศษของนิคมอุตสาหกรรมญี่ปุ่น โซนนิคมอุตสาหกรรมจีน และโซนนิคมอุตสาหกรรมท้องถิ่น ซึ่งในนิคมอุตสาหกรรมจีนกับโซนเศรษฐกิจพิเศษญี่ปุ่น ส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานสัญชาติญี่ปุ่น จีน ไทย และสิงคโปร์จะอยู่ในนั้น ดังนั้นการสร้างงานในนิคมอุตสาหกรรมติลาว่ากับเขตเมืองใหม่ของย่างกุ้ง จะสอดคล้องกันได้เป็นอย่างดีเลยครับ

ในช่วงของการเกิดโรคระบาดใหม่ๆ แม้ผมจะไม่ได้เข้าไปเมียนมา ผมก็ขอให้น้องๆ ที่บริษัท เข้าไปดูการก่อสร้างว่ามีความคืบหน้ามากน้อยเพียงใด? เพื่อที่จะได้นำมาเล่าให้เพื่อนๆฟังได้ แต่พอเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผมก็เลยไม่ได้สั่งให้เข้าไปดู เพราะเดาเอาเองว่า คงจะไม่น่าจะมีอะไรคืบหน้า แต่ครั้งที่ผ่านมา ได้เห็นกับตาว่าสะพานที่ยาว 2.88 กิโลเมตร ได้สร้างแล้วเสร็จไปแล้วเกือบ 70% จึงตื่นตาตื่นใจมากครับ ต้องบอกว่านี่คือความหวังใหม่ของคนเมียนมาทั้งประเทศเลยก็ว่าได้ครับ