การให้ความคุ้มครองนักธุรกิจในเมียนมา

03 ก.ค. 2566 | 04:33 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ค. 2566 | 06:12 น.

คอลัมน์เมียงมอง เมียนมา การให้ความคุ้มครองนักธุรกิจในเมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ในระยะนี้ เราจะเห็นมีนักลงทุนที่เป็นชาวเมียนมา เดินทางออกมาลงทุนนอกประเทศเยอะมากขึ้นกว่าอดีต ที่ประเทศไทยเราเองก็มีมากผิดปกติ มีทั้งมาลงทุนหลากหลายธุรกิจ วันนี้เราคงต้องมาดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับนักธุรกิจเหล่านั้น ซึ่งมีทั้งนักธุรกิจชาวเมียนมาเอง และเป็นนักธุรกิจชาวต่างชาติที่ไปลงทุนในประเทศเมียนมา ทำไมจึงทำให้นักธุรกิจเหล่านั้น ต้องตัดสินใจลักษณะเช่นนี้ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งครับ 

ผมขอแยกส่วนออกมาเป็น 2 ประเภท คือนักธุรกิจชาวต่างชาติที่ลงทุนในเมียนมา กับนักธุรกิจที่มีสัญชาติเมียนมา ในส่วนของนักธุรกิจชาวต่างประเทศที่ไปลงทุนในเมียนมา โดยได้ไปทำโรงงานผลิตสินค้าชนิดหนึ่ง (เพื่อความปลอดภัยของเขา ขออนุญาตไม่เปิดเผยรายละเอียดครับ)

อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้รับโทรศัพท์ร้องขอความคิดเห็นจากนักธุรกิจท่านหนึ่ง ท่านเล่าว่า เมื่อไม่กี่วันมานี้ ได้รับจดหมายในลักษณะข่มขู่ ว่าจะดำเนินคดีกับบริษัทของเขา ในเรื่องการใช้แรงงานที่ไม่ทำตามกฎบัตรสนธิสัญญาการคุ้มครองแรงงานตามหลักการสากล ซึ่งทางผู้ส่งจดหมายมา มีหัวกระดาษขององค์กรหนึ่ง ที่ทรงอิทธิพลในประเทศเมียนมาแห่งหนึ่ง ผมจึงได้สอบถามที่มาที่ไปว่าเกิดอะไรขึ้น

เขาจึงเล่าว่า เมื่อประมาณเดือนเศษๆ ที่ผ่านมา มีกลุ่มแรงงานลูกจ้างชาวเมียนมา ได้รวมกลุ่มกัน(จากการยุยงจากภายนอกโรงงาน) มาประท้วงขอขึ้นค่าแรง เขาจึงเรียกให้เข้ามาเจรจาพูดคุย เพื่อตกลงกันให้สามารถทำงานกันต่อไปได้ การเจรจาผ่านไปด้วยดี เขาจึงยอมที่จะขึ้นค่าแรงให้ตามที่ถูกร้องขอมา

แต่หลังจากนั้นไม่นาน หัวหน้าคนงานที่เป็นผู้นำประท้วง ไม่ทราบด้วยเหตุผลกลใด ได้ถูกทางการเมียนมาจับกุมตัวไป ซึ่งในเรื่องนี้ตัวเขาเองก็ร้อนใจเช่นกัน เพราะเกรงว่าจะถูกกล่าวหาจากญาติมิตรของคนงานดังกล่าว ว่าเขาเป็นผู้ไปกลั่นแกล้งแจ้งความ ซึ่งก็เป็นไปตามที่เขาคาดคิดไว้ไม่ผิด

ต่อมาเขาก็ได้รับจดหมายแจ้งจากลูกค้า ที่สั่งซื้อสินค้าของเขาเป็นประจำที่อยู่ในประเทศยุโรป เชิญให้เดินทางไปพบ เมื่อไปพบทางลูกค้าก็ได้กล่าวอ้างถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงงานของเขา ที่ประเทศเมียนมา พร้อมทั้งขอยกเลิกการสั่งซื้อทั้งหมด ทำให้เขาตกใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเขาได้เตรียมวัตถุดิบที่จะผลิตสินค้าไว้หมดแล้ว ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่เขาเป็นอย่างมาก ทั้งๆ ที่เหตุผลที่ยุติการสั่งซื้อในครั้งนี้ เขาไม่ได้เป็นผู้ก่อขึ้นเลย ที่สำคัญไปกว่านั้น เขายังได้รับจดหมายข่มขู่ตามที่กล่าวมาแล้ว จึงไปไม่เป็นเลยครับ จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ เขาได้ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตทั้งหมด ออกนอกประเทศเมียนมาทันที นี่คือความเสียหายทั้งประเทศเมียนมา และตัวเขาเองครับ 

หลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา ต้องยอมรับว่าการลงทุนในประเทศเมียนมา มักจะได้รับผลกระทบจากการถูกรัฐบาลชาติตะวันตก ได้ทำการแซงชั่นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดก็มีการประกาศใช้นโยบายแซงชั่น 2 ธนาคารสำคัญของรัฐบาลเมียนมา ตามที่ผมได้เขียนบทความไปในอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งนั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

แต่ที่เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น ก็มีการใช้วิธีการต่างๆนาๆ ที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลนำออกมาใช้ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าแท้จริงแล้ว เกิดจากกลุ่มไหนกันแน่ เพราะเท่าที่ผมเห็นเอกสาร ที่ผู้ได้รับผลกระทบส่งมาให้ดูนั้น ก็ไม่สามารถฟันธงได้ว่า เป็นเพราะฝีมือของใคร ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ย่อมทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศเมียนมาเองทั้งสิ้น ที่รัฐบาลเมียนมาจำเป็นต้องเร่งรีบออกมาแก้ไข หรือให้การคุ้มครองนักลงทุนทั้งหมด ก่อนที่จะสายเกินแก้ครับ

หากลองกลับไปดูด้านการลงทุนของนักลงทุนชาวเมียนมาเอง ซึ่งได้เข้ามาขอพบผมที่กรุงเทพฯ พร้อมทั้งขอคำแนะนำว่า เขาจะเข้ามาลงทุนทำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ประเทศไทย เขาจะต้องทำการลงทุนอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมายไทย ซึ่งผมก็แจ้งไปว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่จะต้องถือครองที่ดิน ยากที่จะจดทะเบียนได้ เพราะประเทศไทยเราไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติถือครองที่ดิน นอกเสียจากถือครองที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม ที่จะต้องเข้ามาลงทุนด้านการผลิตสินค้าเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการจัดสรรที่ดิน หรือมิเช่นนั้นจะต้องมีการร่วมทุนกับนักธุรกิจไทย

ผมจึงถามไปว่า คุณก็ทำธุรกิจในประเทศเมียนมาได้ดีอยู่แล้ว ทำไมถึงคิดที่จะออกมาลงทุนที่ประเทศไทยละ? เขาก็ตอบว่า หลังจากที่ประเทศเมียนมาได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา เขาเองก็ได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเกิดจากฝ่ายไหนเช่นกัน นั่นคือการได้รับการคุกคามจากภัยมืดที่มองไม่เห็น ที่มีทั้งจากจดหมายที่เรียกร้องค่าใช้จ่าย ที่เขาเองไม่ได้เล่าให้ผมฟังอย่างชัดเจนนัก

เขาเพียงแต่บอกว่า มันมากกว่าในอดีตเยอะ เกินกว่าที่เขาจะรับได้ เขาจึงคิดว่าควรออกมาหาช่องทางทำมาหากินที่ประเทศไทยน่าจะดีกว่า ซึ่งผมก็ได้แต่บอกเขาไปว่า ขอให้คิดให้ดี เพราะถึงอย่างไรคุณก็คือชาวเมียนมา คุณต้องมองว่าที่นั่นเป็นเรือนตายของคุณ ไม่ควรจะทิ้งไปง่ายๆ เช่นนั้น เพราะการที่จะเดินออกนอกประเทศที่ตัวเองอาศัยมาตั้งแต่เกิด ย่อมเป็นการตัดสินใจที่ยากยิ่งจริงๆ

จะเห็นได้ว่า ทั้งสองกรณีที่ผมเล่าให้ฟังมานี้ เป็นบทเรียนสำคัญของทุกๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตามในโลกนี้ เศรษฐกิจของประเทศ ต้องอาศัยการคุ้มครองที่มีประสิทธิภาพจากภาครัฐฯ หากภาครัฐบาลไม่สามารถให้ความปลอดภัยในการลงทุนได้ นักธุรกิจเหล่านั้น เขาย้ายฐานได้ง่ายๆ เพราะเขามีทั้งความสามารถเฉพาะตัว ความรอบรู้ในด้านธุรกิจที่เขาดำรงอยู่ ฐานการเงินที่เข้มแข็ง และความกล้าที่จะเผชิญภัยที่อยู่ภายหน้า

สิ่งต่างๆ เหล่านั้น เขามีมากกว่าคนที่ไม่มีฐานะมากมายนัก ดังนั้นการสูญเสียนักลงทุนไปหนึ่งคน อาจจะทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคลไปด้วย อีกทั้งยังสูญเสียตำแหน่งงานไปอีกไม่รู้กี่ตำแหน่ง สูญเสียการกระจายของรายได้และเม็ดเงินในท้องตลาดไป ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งครับ หวังว่าประเทศไทยเราจะไม่เกิดปัญหาเช่นนี้นะครับ