มุมมองเรื่องร้อนในเมียนมา

26 มิ.ย. 2566 | 07:30 น.

คอลัมน์เมียงมอง เมียนมา มุมมองเรื่องร้อนในเมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ในวันอังคารที่ผ่านมา ผมได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนรักท่านหนึ่ง ที่ทำการค้าและมีโรงงานอยู่ที่กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ซึ่งเขาได้ไปทำมานานพอๆ กับที่ผมเข้าไปค้าขายในนั้น เขาถามมาว่า คุณกริชทราบข่าวหรือยังว่าธนาคารของรัฐบาลเมียนมา ถูกรัฐบาลสหรัฐอเมริกาออกมาตรการบอยคอตธนาคารสองแห่งด้วยกัน ผมก็ตอบไปว่า ยังไม่เห็นข่าวเลย เพราะอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมไม่ได้ติดตามข่าวเลย เพราะมัวแต่เตรียมตัวสอบ ต้องอ่านหนังสือทั้งอาทิตย์ และถามเขาไปว่า ธนาคารแห่งชาติเมียนมาหรือเปล่า? เขาบอกว่าไม่ใช่ แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นธนาคารอะไร? เพราะเห็นข่าวที่เป็นภาษาจีน จึงไม่ทราบว่าธนาคารอะไร? ผมจึงรีบไปหาดูข่าวทั้งภาษาอังกฤษและภาษาเมียนมา จึงทราบว่าเป็นธนาคารการค้าต่างประเทศของเมียนมา (Myanmar Foreign Trade Bank) และธนาคารการลงทุนและพาณิชย์ของเมียนมา (Myanmar Investment and Commercial Bank) ผมถึงกับอึ้งไปเลยครับ

เป็นการบังเอิญเหลือเกิน ที่ก่อนหน้านั้น ผมได้เจอข่าวของ ฯพณฯ ท่านดอน ปรมัตถ์วินัย ท่านรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของไทย ที่ได้มีการทำหนังสือเรียนเชิญรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ ซึ่งรวมถึงรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของเมียนมาด้วย ให้มาร่วมหารือเพื่อหาทางออกให้แก่ประเทศเมียนมา ที่มีปัญหาภายในอยู่ในขณะนี้ ซึ่งพอตอนสายๆ ผมก็ทยอยได้รับข่าวสารจากเพื่อนๆ แฟนคลับอีกหลายท่าน ที่ส่งเขามาถามผมด้วยความห่วงใย ว่ารายการนี้รัฐบาลไทยเรา จะโดยทัวร์ลงหรือเปล่า? ซึ่งด้วยประสบการณ์ในมุมมองของผม และมองว่าจะมีปัญหาอะไรหรือไม่

ด้วยความเคารพ ผมเองก็ไม่ค่อยอยากจะยุ่งกับข่าวการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านเลย เพราะว่าไม่น่าจะเกิดผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะมองในมุมไหน ก็จะมีแต่เสียกับเสีย แต่ถ้าอยากรู้จริงๆ ผมก็จะตอบแบบกลางๆ นะครับ เพื่อเป็นการมองด้วยสายตายุติธรรมต่อทุกฝ่าย ผมเองคิดว่าทั้งสองเหตุการณ์ดังกล่าว น่าจะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกันอยู่ไม่น้อย  เพราะมีสมาชิกประเทศอาเซียน มีอยู่ 3 ประเทศที่ปฏิเสธการเข้าร่วมหารือ ซึ่งประกอบด้วย ประเทศอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย ซึ่งก็เชื่อว่า คนที่ติดตามข่าวต่างประเทศหลายท่าน ก็คงจะคิดว่าเป็นไปตามความคาดหมายอยู่แล้ว เพราะเขาเริ่มตั้งป้อมมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้วว่า ไม่เอารัฐบาลทหาร แต่ถ้าหากเขามาร่วมประชุมจริงๆ ก็อาจจะไม่สบายใจที่จะกลืนคำพูดของตัวเอง และจะทำให้เกิดความไม่พอใจต่อชาติยักษ์ใหญ่ตะวันตกบ้าง ประเทศที่เขาจำเป็นต้องหนุนหลังอยู่ได้ ผมก็ยังคิดว่า ถึงแม้ผมจะชื่นชมในความใจกว้าง และการวางตัวที่สง่างามของฯพณฯท่านดอน ปรมัตถ์วินัย ที่มีความพยายามที่จะช่วยเหลือให้ประเทศเมียนมา ได้เกิดสันติภาพให้เกิดขึ้นไวๆ แต่บางครั้งการกระทำบางอย่าง ก็จะทำให้เกิดความไม่สบายใจขึ้นมาได้ต่อทุกฝ่ายครับ

 

ซึ่งก็เป็นไปตามการคาดหมายของผม เพราะต่อมาเพียงข้ามคืน สหรัฐอเมริกา ก็เริ่มมีปฏิบัติการตอบโต้ ด้วยการประกาศออกมาตรการบอยคอตธนาคาร 2 แห่งของรัฐบาลเมียนมาทันที และในวันดังกล่าว ก็มีน้องๆ สื่อมวลชนหลายสำนัก ได้โทรศัพท์และไลน์เข้ามาขอความเห็นจากผม แรกเลยผมก็ตอบปฏิเสธไป เพราะไม่อยากให้เป็นข่าวดัง เพราะเชื่อว่า สหรัฐอเมริกาคงจะมีความต้องการกระหน่ำรัฐบาลเมียนมาต่อเนื่องอย่างแน่นอน ซึ่งต่อมาก็มีศูนย์วิจัยชื่อดัง ที่มักจะมีการขอความเห็นจากผมเป็นประจำ ก็ได้โทรศัพท์เข้ามาสอบถามความเห็นของผมอีกเช่นกัน ดังนั้นผมจึงขอประมวลเหตุผลทั้งหมด เพื่อจะได้ให้คนไทยเรามองด้วยสายตาเป็นธรรมเหมือนๆ กันครับ

การบอยคอตธนาคารทั้ง 2 แห่งดังกล่าว ส่วนตัวผมเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรให้แก่ประเทศไทยและนักธุรกิจไทยเรามากนัก เพราะว่าธนาคารทั้ง 2 แห่ง ล้วนแล้วแต่เป็นธนาคารของรัฐบาลทั้งคู่ ซึ่งความนิยมใช้บริการของผู้ประกอบการทั่วไป ยังมีไม่มากนัก ไม่เหมือนธนาคารเอกชนอีก4-5 แห่ง เช่นธนาคารKanbawza Bank ,Yoma Bank, CB Bank, A Bank เป็นต้น ซึ่งผมเชื่อว่าธนาคารเหล่านี้ เป็นหัวใจหลักในการดำเนินการด้านบริการให้แก่นักธุรกิจทั้งชาวเมียนมาและชาวต่างชาติที่ทำธุรกิจในนั้น แต่สำหรับธนาคารการค้าต่างประเทศเมียนมา (Myanmar Foreign Trade Bank) ส่วนใหญ่มักจะเป็นการทำการค้าแบบ G to G เสียมากกว่า กล่าวคือไม่ว่าจะเป็นการซื้อ-ขายทรัพย์สินที่รัฐบาลเมียนมาเป็นผู้ขาย ซึ่งมีการซื้อ-ขายระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล เขามักจะใช้บริการของธนาคารดังกล่าวเสมอ  และอีกหนึ่งแห่งคือ ธนาคารการลงทุนและพาณิชย์เมียนมา (Myanmar Investment and Commercial Bank) ธนาคารนี้ก็เช่นเดียวกัน ที่เป็นธนาคารที่มีรัฐบาลเป็นเจ้าของ ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการที่เข้าไปลงทุนที่เมียนมาที่เป็นรายใหม่ๆ ก็มักจะใช้ธนาคารดังกล่าวแทบทั้งสิ้น ดังนั้นสำหรับผู้ประกอบการทั่วไป ก็จะไม่ได้รับผลกระทบต่อการดำเนินการเลยครับ

ส่วนเรื่องการจัดประชุมเพื่อปรึกษาหารือของกระทรวงต่างประเทศไทย ที่จะเป็นเจ้าภาพในการจัดขึ้นที่พัทยา ในความคิดเห็นของผม ผมเชื่อว่าเป็นการประชุมนอกรอบ ที่อยากจะช่วยให้เกิดสันติภาพเกิดขึ้นในประเทศเมียนมา ด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ของรัฐบาลไทยเรา เพราะแน่นอนว่า หากความไม่สงบในประเทศเมียนมา ยังคงปะทุอยู่ตลอดเวลา ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือประเทศไทยเรานี่แหละครับ เพราะเรามีพรมแดนติดต่อกับเขายาวถึง 2,408 กิโลเมตร มีช่องทางธรรมชาติที่เข้า-ออกประเทศ ที่ติดพันกันอยู่ มากกว่าพันช่องทาง ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เขาไม่ได้มีชายแดนติดต่อกับประเทศเมียนมา เขาก็ไม่เดือดร้อนหรอกครับ ระเบิดไม่ได้ไปลงที่หลังคาบ้านเขาอยู่แล้ว ดังนั้นเราเองจะต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้เกิดสันติภาพเกิดขึ้นกับข้างบ้านเรา อันที่จริงเขาน่าจะเห็นใจเรามากกว่ามาพูดจาถากถางนะครับ หรือแม้กระทั่งเราคนไทยด้วยกัน ก็จะต้องมีมุมมองไปในทิศทางเดียวกัน ผมว่าน่าจะดีที่สุดนะครับ

ในส่วนของการดำเนินการนโยบายแทรกแซงของชาติตะวันตก ที่มีต่อประเทศเมียนมา เราเองก็ไม่น่าจะสามารถช่วยเหลืออะไรได้มากไปกว่าที่ทำอยู่นี้ เพราะนั่นเป็นการดำเนินการของหมาป่าที่มีต่อลูกแกะ เหมือนที่เราทราบๆ กันนั่นแหละครับ “พูดไปก็สองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง” ดังนั้นเราควรจะแสดงบทบาทอย่างไรนั้น ผมเชื่อว่าคนที่มีความสามารถระดับฯพณฯท่านดอน ปรมัตถ์วินัย ที่เป็นผู้ใหญ่ในประเทศไทยเรา ท่านคงจะรับมืออยู่ ดังนั้นเราน่าจะสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้แก่ท่านในการดำเนินการ น่าจะดีที่สุดครับ เพราะเขาเป็นยักษ์ใหญ่ เราเป็นแค่มดตัวเล็กๆ เราก็คงต้องสงบปากสงบคำกันไปครับ