ปัญหาสังคมที่ย่างกุ้ง

11 ก.ค. 2565 | 06:30 น.
854

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เช้าวันที่ 9 นี้ ผมมีโอกาสได้ไปนั่งทานอาหารเช้าที่ร้าน Signature ใกล้ทะเลสาบกันดอร์จี ใจกลางกรุงย่างกุ้งกับเพื่อนนักธุรกิจชื่อดังชาวเมียนมา ซึ่งร้านนี้เป็นที่รู้กันว่า ในอดีตเป็นแหล่งชุมนุมของกลุ่มนักธุรกิจชั้นนำของประเทศเมียนมา
 

ทุกเช้าจะมีนักธุรกิจใหญ่ไปนั่งทานอาหารเช้ากันเป็นประจำ สามารถเรียกได้ว่าเป็นศูนย์รวมของไฮโซชั้นนำของเมียนมาก็ว่าได้ครับ ซึ่งร้านนี้เจ้าของคือ อู ชิตข่าย ซึ่งเป็นเจ้าของธนาคารชื่อดัง ซึ่งปัจจุบันนี้ท่านก็ได้ประสบปัญหาทางด้านการเมือง ถูกจับตัวไปดำเนินคดีพร้อมบุตรชาย วันนี้จึงมีบรรยากาศไม่คึกคักเหมือนก่อน แต่ก็ยังมีลูกค้ามานั่งทานอาหารเช้า แต่ก็ไม่เยอะเหมือนอดีตครับ
 

ผมอยากจะนำเอาสิ่งที่เราได้พูดคุยกันในวันนี้ ซึ่งมีอยู่หลายเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะนอกจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้สังคมในวันนี้ของประเทศเมียนมา มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเยอะมากทีเดียว อาทิเช่น ปัญหาของความปลอดภัยของประชาชน ที่วันนี้ดูเหมือนว่าจะมีความวุ่นวายไปไม่น้อย การฉกชิงวิ่งราวในอดีตยุคก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นยุคปี 1962 หรือปี 1988 แม้จะมีการปฎิวัติรัฐประหาร แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาที่รุนแรงอย่างเช่นวันนี้

 

 

เขาถามผมว่าผมมีความคิดเห็นอย่างไร? ซึ่งผมก็ตอบไปว่า ปัญหาวันนี้ที่เกิดขึ้นมาค่อนข้างจะรุนแรง เนื่องจากปัจุบันนี้กระแสโลกาภิวัฒน์(Globalization) ได้มีการเข้ามาสู่ประเทศเมียนมา และระบบไอทีเข้ามามีอิทธิพลสูงมากยากที่จะต้านทานได้  ทำให้ธุรกิจหลากหลาย เมื่อพบกับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงที่ทั้งโรคร้าย COVID-19 และการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ต้องล้มหายตายจากลงไปเยอะมาก
 

ก็อย่าไปกล่าวโทษฝ่ายนั้นฝ่ายนี้เลย เพราะในอดีตการรับรู้ของประชาชนต่อค่านิยมตะวันตกในยุคนั้น แตกต่างจากยุคนี้มาก การที่สิบห้าปีที่ผ่านมาคนรุ่นใหม่ของประเทศเมียนมา ได้เสพรับเอาค่านิยมดังกล่าวไปเยอะมาก ไม่เหมือนในยุคก่อนที่จะเปิดประเทศ ที่ทุกอย่างถูกปิดสนิท ทำให้ประชาชนชาวเมียนมาในยุคนั้น ไม่มีความคิดที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวนี้
 

ปัจจัยต่อมาคือปัญหาเศรษฐกิจ ที่ประเทศเมียนมาได้รับนั้น รุนแรงเกินกว่าที่จะแก้ไขได้ภายในระยะเวลาอันสั้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่แย่ลงมาก เพราะจากเดิมค่าเงินจ๊าดจะอยู่ที่ 1350 จ๊าดต่อ 1 US$ แต่วันนี้ได้ลดลงไปอยู่ที่ 2000-2100 จ๊าดแล้ว ทำให้การลงทุนลดลงไปอย่างน่าใจหาย เป็นเรื่องยากที่จะฟื้นคืนได้อย่างรวดเร็วจริงๆ

 

อีกประการหนึ่งคือปัญหาแรงงานของเมียนมา แม้ว่าวันนี้ค่าแรงที่ได้รับเมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อสามปีก่อนจะมีปัญหา กล่าวคือค่าแรงไม่ได้มีการปรับค่าแรงขึ้นหรือลดลง แต่ค่าครองชีพหรือราคาสินค้ากลับปรับขึ้นไปสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าโดยสารรถประจำทางที่ได้ปรับขึ้นไปเกือบเท่าตัว จากเดินเคยขึ้นรถเมล์อยู่ที่ 50 จ๊าดต่อครั้ง แต่วันนี้ต้องจ่ายมากถึง 200 จ๊าดไปแล้ว
 

หรือแม้แต่ค่าขนมจีนหรือโมฮินงา จากเดิมเคยมีราคาแค่ 500 จ๊าดต่อหนึ่งจาน วันนี้ต้องจ่ายมากถึง 800 จ๊าดต่อหนึ่งจาน ทำให้เงินเดือนที่ได้รับ ไม่พอใช้แก้ปัญหาต่อการครองชีพสูงขึ้น นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นจากพิษร้ายของเศรษฐกิจที่รุนแรงมากเป็นประวัติการณ์ แม้จะสวดมนต์อ้อนวอนพระเจ้า ก็ยากมากครับ
 

อีกปัญหาหนึ่งที่คนเมียนมาเองก็ถึงกับเอ่ยปากบ่น คือปัญหาอาชญากรรม ที่เป็นปัญหาต่อเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ เพราะเมื่อท้องหิว ก็ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด เพื่อนชาวเมียนมาที่ผมทานข้าวด้วยบอกว่า ข่าวเรื่องการชิงทรัพย์ค่อนข้างจะได้ยินกันเกือบทุกวัน เพราะฉะนั้นเวลาขึ้นรถเท็กซี่ ให้พยายามถ่ายรูปทะเบียนรถและคนขับรถเก็บไว้ และต้องอย่าปิดหน้าต่างรถโดยเด็ดขาด
 

ผมก็ถามถึงเหตุผลว่าทำไมไม่ให้ปิดหน้าต่างรถ เขาบอกว่า หากมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ให้ตะโกนเรียกคนช่วยยังน่าจะมีทางรอดมากกว่าปิดหน้าต่าง และถ้าจวนตัวจริงๆ ให้แอบโยนโทรศัพพ์มือถือที่มีรูปภาพที่ถ่ายไว้ทิ้งออกนอกรถ เพื่อไม่ให้ตกถึงมือคนร้ายนั่นเองครับ
 

การขับรถเองที่เมืองย่างกุ้ง ยังคงเป็นทางเลือกที่ดีและปลอดภัยที่สุด ในทางกลับกันกับนั่งรถแท็กซี่ คือไม่ควรเปิดหน้าต่างรถ เพราะเป็นห่วงช่วงรถติดไฟจราจร จะมีทั้งเด็กตามสี่แยกและผู้ใหญ่เดินขายของ นอกจากนี้ยังมีขอทานที่ออกมาบนถนนเยอะมาก ซึ่งผมก็เห็นกับตาว่าก็เป็นจริงเช่นนั้นครับ ดังนั้นต้องระวังตัวมากกว่าปกติมาก ที่คอนโดมิเนียมที่บ้านพักผม ในอดีตก็ไม่เคยมียามเฝ้า แต่ปัจจุบันนี้ จะมียามเฝ้าหน้าลิฟฟ์อยู่ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงเลยครับ จะเห็นว่าความปลอดภัยในเมืองย่างกุ้งแย่กว่าเดิมจริงๆ
 

ปัญหาที่เช้าวันเสาร์ผมได้คุยกับเพื่อนชาวเมียนมา ทำให้ผมนึกย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 1990 ตอนที่ผมได้เข้าไปทำธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งในยุคนั้น ซึ่งดูเหมือนว่าจะแตกต่างจากยุคนั้นไม่มากเลยครับ แต่ก็ได้แต่ปลอบใจเขาว่า ในยุคนั้นทุกๆ ธุรกิจล้วนมีโอกาสเติบโตได้ หากรู้จักดำเนินการที่ดีพอ ดังนั้นเขาควรจะต้องฉกฉวยโอกาสนี้ไว้ให้ดี แต่ถ้าจะให้ผมวิเคราะห์สถานการณ์รุนแรงไปกว่านี้ อาจจะทำให้เขาคงทานอาหารไม่อร่อยแน่ๆครับ
 

แต่ผมคิดว่า เราเป็นเพื่อนรักกัน และผมเองก็เข้ามาอาศัยทำมาหากินอยู่ในประเทศเมียนมานาน ข้าวสาร(เปาะซานมุย)ของเมียนมา ผมก็ทานมาเยอะแล้ว จึงไม่สามารถพูดเท็จให้เขาสบายใจได้ เราต้องพูดความจริงกับเพื่อนครับ แต่ต้องพูดแบบกลางๆ นะครับ มิเช่นนั้นอาจจะต้องเปลี่ยนจากข้าวเปาะซานมุยไปทานข้าวแดงในเรือนจำแทน...