ปัญหาขาดแคลนธัญญาหาร

04 ก.ย. 2566 | 06:00 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ย. 2566 | 06:30 น.

ปัญหาขาดแคลนธัญญาหาร คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ช่วงนี้มีหลายๆประเทศเริ่มมีปัญหาขาดแคลนธัญญาหารกัน บางประเทศเริ่มมีการออกนโยบายห้ามส่งออกกันแล้ว โดยเฉพาะที่ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวบาสมาติอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งข้าวประเภทนี้ เป็นข้าวที่เป็นที่นิยมรับประทานกันในกลุ่มคนที่นิยมทานข้าวร่วนและแข็ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนเชื้อสายอินเดียน ดังนั้นก็ได้รับผลกระทบของส่วนแบ่งการตลาดพอสมควรทีเดียว ส่วนประเทศเมียนมา ก็เริ่มประกาศห้ามส่งออกตั้งแต่ต้นเดือนนี้เป็นต้นไป โดยจะมีผลสั่งห้าม 45 วันนับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายยนนี้ เพื่อป้องกันการขาดแคลนธัญญาหารในปีนี้

สถานการณ์สภาวะอากาศในประเทศต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีปัญหาที่ปั่นป่วนด้วยกันทั้งนั้น สาเหตุก็อย่างที่ทราบๆ กันนั่นแหละครับ ส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญต่อปัญหานี้มาก มีการออกมาตรการต่างๆ ออกมาดูแลธัญญาหารของประเทศตนเองอย่างขะมักเขม้น จะมีเพียงไม่กี่ประเทศที่โชคดี ไม่ต้องมีการจำกัดจำเขี่ยธัญญาหารภายในประเทศมากนัก ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งในจำนวนนั้น

จำได้ว่าตั้งแต่ผมเกิดมาจำความได้ ก็ไม่เคยเจอปัญหาขาดแคลนเลย เราโชคดีที่เป็นประเทศอู่ข้าวอู่น้ำของโลกอย่างแท้จริง ผมเคยแต่ได้ยินคุณแม่ของผมเล่าให้ฟังว่า สมัยที่ท่านยังอาศัยอยู่ที่ประเทศจีน รัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ในยุคนั้น เขาจัดสรรข้าวสารให้แก่ประชาชนในจำนวนจำกัดมาก จนกระทั่งชาวบ้านที่มีฐานะยากจน ต้องอาศัยขุดหัวเผือกหัวมันเทศมาต้มผสมข้าวทานกัน บางบ้านก็ต้มข้าวต้มใส่ผักบ้าง ใส่เผือกบ้าง ใส่หัวมันเทศบ้าง ถึงจะพอกินบรรเทาความหิวกันไป แต่พอมาอาศัยพระบรมโพธิสมภารในประเทศไทย ข้าวปลาอาหารไม่เคยขาดแคลน แต่ท่านเองก็ยังอดคิดถึงอดีตไม่ได้ บางวันคุณแม่ก็จะต้มข้าวต้มผัก ข้าวต้มเผือก ข้าวต้มหัวมันเทศมาทานกัน ซึ่งปัจจุบันนี้ข้าวต้มลักษณะเช่นนั้น กลายเป็นของหาทานยากไปเสียแล้วครับ

 

พูดถึงการให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการปริมาณธัญญาหารของประเทศ ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ให้ความสำคัญมาก โดยมีการตั้งกรมการธัญญาหาร (粮食局) เพื่อที่จะมาดูแลปริมาณของธัญญาหารของแต่ละปี ว่ามีเพียงพอต่อการบริโภคหรือไม่? หากในปีใดขาดแคลนไม่เพียงพอต่อการบริโภคของประชาชน เขาก็จะอนุญาตให้มีการนำเข้าในปริมาณที่พอต่อความต้องการบริโภค จะเห็นได้ว่า แต่ละปีแต่ละมณฑลเขาจะมีการประเมินผลการผลิตและการบริโภคทุกปี และจะอนุญาตให้แต่ละมณฑลมีการนำเข้าธัญญาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวสาร ที่มีจำนวนไม่เท่ากันเสมอ ดังนั้นก็จึงเป็นโอกาสของผู้ส่งออกข้าวไทย ที่จะนำข้าวสารเข้าไปขายในประเทศเขาครับ

 

ในส่วนของการบริโภคข้าวสารของทั้งโลก การบริโภคก็จะแตกต่างกันออกไป เช่นในประเทศแถบเอเชียตอนเหนือ ก็จะบริโภคข้าวเมล็ดสั้นเป็นหลัก ประเทศแถบแอฟริกาจะบริโภคไม่ค่อยเลือกมาก ขอให้เป็นข้าวก็พอ ส่วนประเทศที่เป็นเชื้อสายอินเดียน ก็จะเป็นข้าวสวยที่เมล็ดร่วนๆ แข็งๆ อย่างสายพันธุ์บาสมาติ หรือประเทศแถบอาเชียนเรา มักจะบริโภคข้าวสายพันธุ์เมล็ดยาว ที่จะมีประเทศไทยและเวียดนามเป็นผู้ส่งออกหลายใหญ่อยู่

ในอดีตก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศที่ส่งออกข้าวสารมากที่สุด คือประเทศเมียนมา ในยุคนั้นเขานิยามประเทศเมียนมา ว่าเป็น “ชามข้าวของโลก” “The rice bowl of the world” เลยละครับ แต่ต่อมาประเทศเมียนมาถูกแซงชั่น การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจก็เริ่มตกต่ำ การส่งออกสินค้าอย่างเช่นข้าวสาร ก็เริ่มถดถอยลงไป ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ก็น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เพราะประเทศเมียนมาเอง ก็มีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวออกมาหลากหลายสายพันธุ์ ที่เด่นๆ ดังๆก็มีสายพันธุ์ “ข้าวเปาะซานมุย” ที่ในปีค.ศ.2011 เคยได้รับรางวัลชนะเลิศข้าวระดับเกรดพรีเมี่ยม ที่ดีที่สุดในโลกมาแล้ว ในการประกวดที่ World Rice Conference ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของชาวเมียนมามากครับ

ถ้าจะกล่าวถึงสายพันธุ์ข้าวในประเทศเมียนมา ที่ตัวผมเองก็รู้สึกประทับใจข้าวสายพันธุ์หนึ่ง ที่ปลูกในรัฐฉาน เรียกว่าข้าวพันธุ์ดอกกุหลาบ (ชื่อที่เป็นภาษาเมียนมาผมจำไม่ได้ว่าเขาเรียกว่าพันธุ์อะไร วันหลังจะหามาเล่าให้ฟังนะครับ) ข้าวสายพันธุ์นี้ สีของข้าวสารจะออกเป็นสีชมพู ข้าวเมื่อหุงสุกจะหอมเหมือนดอกไม้เลยครับ ทานอร่อยมาก ยังมีอีกหลากหลายสายพันธุ์ที่ก็ไม่เลวเลยทีเดียวครับ เช่น สายพันธุ์ชเวโปเปาะซาน ที่ปลูกมากในเขตสะกาย สายพันธุ์นี้ทางภาครัฐโดยสถาบันวิจัยข้าวของเมียนมา ได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้เกษตรกรแถบชเวโปนำไปเพาะปลูก อีกสายพันธุ์หนึ่งคือสายพันธุ์เอ่-ตะยา Aye Tharyar สายพันธุ์นี้จะปลูกมากที่รัฐอิระวดี เพราะเป็นสายพันธุ์ที่ทนทานต่อน้ำกร่อยมาก รสชาติก็อร่อยดีครับ

หากจะเล่าถึงสายพันธุ์ข้าวต่างๆ ในเมียนมา ซึ่งยังมีอีกหลากหลายสายพันธุ์ มีมากประมาณหนึ่งพันกว่าสายพันธุ์ คงเล่าไม่หมดแน่ๆ ครับ เอาแค่ที่สำคัญๆ ก็พอนะครับ เพราะที่ประเทศเมียนมานั้น มีสายน้ำที่ไหลผ่านประเทศใหญ่ๆ สองสาย คือแม่น้ำอิระวดี กับแม่น้ำสาละวิน อีกทั้งยังมีแม่น้ำสายรองๆ ลงมาอีกมากมายหลายสาย ดังนั้นการเกษตรของเมียนมา ที่มีน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการหล่อเลี้ยงพืชผลทางการเกษตร อีกทั้งประเทศเมียนมาเอง การชลประทานก็ยังไม่ค่อยจะทันสมัยนัก จึงเกิดมีอุทกภัยอยู่เป็นประจำทุกปี เมื่อน้ำลดก็จะเหลือปุ๋ยธรรมชาติที่พัดพามากับน้ำท่วม หลงเหลืออยู่อย่างธรรมชาติ

ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าปีนี้ ทางการเมียนมาจะประกาศให้งดส่งออกข้าวเป็นเวลา 45 วัน ผมจึงเชื่อว่าเหตุผลหลักของการสั่งห้ามส่งออกข้าว น่าจะมาจากเกษตรกรไม่สามารถลงพื้นที่เพาะปลูกได้ จากเหตุของความไม่สงบมากกว่าจากเหตุภัยแล้งครับ ซึ่งก็น่าเห็นใจและต้องส่งกำลังใจให้เมียนมากลับคืนสู่ความสันติสุขโดยเร็วครับ