แนวคิดทฤษฎีของดร.ซุน ยัต เซ็น

07 ส.ค. 2566 | 04:30 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ส.ค. 2566 | 11:25 น.
551

แนวคิดทฤษฎีของดร.ซุน ยัต เซ็น คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

จากหลักแนวคิดทฤษฎีของท่านดร.ซุน ยัต เซ็น ที่ผมได้เขียนเล่ามาทั้งสองตอนที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าตัวท่านเองได้นำเอาแนวคิดของลัทธิขงจื้อ-หม่งจื้อ มาเรียบเรียงให้ทันสมัยและทันต่อเหตุการณ์ในยุคนั้น เพื่อนำมาสร้างประเทศจีนให้ยิ่งใหญ่ ผลที่ได้รับในช่วงแรก อาจจะไม่ได้ถูกนำไปปฎิบัติให้เกิดผลมากนัก ซึ่งเหตุผลของการที่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ในความคิดเห็นส่วนตัวของผม คิดว่าเกิดจากในยุคนั้น ประเทศจีนได้เกิดกลียุคขึ้น เพราะยุคนั้นอยู่ในช่วงที่กระแสของลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังมาแรง อีกทั้งการเปลี่ยนถ่ายของยุคล่าอาณานิคมกำลังเกิดขึ้น ทำให้กลุ่มประชาชนชาวจีน ที่มีจำนวนมหาศาล (ยุคนั้นประเทศจีนมีประชากรจำนวน 400 กว่าล้านคน) การปกครองที่กำลังเปลี่ยนถ่าย ขุมกำลังของแต่ละกลุ่ม ต่างก็ไม่ยอมลดราวาศอกกัน ทำให้เกิดการแบ่งแยกประเทศออกเป็นสองฝักสองฝ่าย

ในขณะที่ชาวจีนโพ้นทะเลทั้งหลาย ที่อยู่ทั่วทุกมุมโลก บางประเทศก็อาจจะมีการฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอยู่บ้าง แต่โชคดีที่ชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทยเรา ยังไม่มีปรากฎการเช่นนั้น เรายังคงรักษาสถานะของความเป็นกลางอยู่ เพราะพวกเราคิดว่า “จีนอย่างไรก็คือจีน” เราไม่มีการแบ่งแยกแต่อย่างใด ผมชอบคำพูดของท่านเติ้งเสี่ยวผิงที่ว่า “แมวไม่ว่าจะมีสีอะไรก็ไม่สำคัญ ขอให้จับหนูได้ก็พอ” ฉันใดย่อมฉันนั้น คนจีนไม่ว่าจะนิยมชมชอบระบอบลัทธิอะไร ขอให้เป็นคนจีนเหมือนกัน ก็เพียงพอที่จะสามารถทำให้โลกใบนี้มีสันติภาพได้ เราก็ยังคงภาคภูมิใจในความเป็นคนที่มีสายเลือดจีนครับ

ดร.ซุน ยัต เซ็นได้นำเอาแนวคิดส่วนหนึ่ง ของลัทธิขงจื้อมาใช้ในการเริ่มคิดค้น “ลัทธิไตรประชา” นั่นก็คือแนวคิด  天下為公  世界大同 ความหมายของข้อความคำสอนนี้ อยู่ในตอนหนึ่งของคำสอนของขงจื้อ ตอน “หลี่หยิ่นเพียน (禮運篇)” ถ้าจะนำมาทั้งหมด คงจะลำบาก ผมขออนุญาตนำมาแปลให้อ่านเล่นๆ เพื่อเข้าใจถึงแนวคิดทฤษฎีของท่านดร.ซุน ยัต เซ็น ที่เป็นแก่นแท้ของแนวคิดในลัทธิขงจื้อ ซึ่งมีความลึกซึ้งมาก โดยหากจะสร้างความเสมอภาคและภราดรภาคของโลกนี้ได้ จะต้องให้ประชาชนบนโลกใบนี้ มีสิทธิและเสรีภาพที่เท่าเทียมกันทุกคน การเลือกใช้ทรัพยากรบุคคลจะต้องคำนึงถึงความสามารถของคนนั้นๆ (選賢與能 ) ต้องไม่เลือกปฎิบัติว่าเขาเป็นญาติมิตรพวกพ้องของเรา หรือเป็นลูกหลานของเรา (故人不獨親其親  不獨子其子)

แนวคิดดังกล่าวนี้ หากเราจะนำมาเป็นกระจกเงาส่องดูสังคมที่ไหนในโลกนี้ ผมคิดว่าเราจะมองเห็นว่า โลกนี้ช่างยากเสียเหลือเกิน เพราะเราทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นปุถุชนคนธรรมดา ที่ยังคงมีอคติ 4 อยู่ในตัวตนของทุกคน หรือยังคงมี รัก โลภ โกรธ หลง กันอยู่ทุกคนไป ผมชอบคำสอนของพระคุณเจ้าพระอาจารย์ภาณุ จิตตฑนโต แห่งวัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษก ที่ท่านอธิบายถึงอคติ 4 อันหมายถึง ฉันทาคติ โทสาคติ โมหาคติ และภยาคติ ไว้ดีมากๆ ถ้าใครสนใจก็ลองไปหามาอ่านดูเอาเองนะครับ (ถ้านำมาเขียนในคอลัมม์นี้ เดี๋ยววันนี้จะไม่จบครับ) 

จากแนวคิดดังกล่าวข้างต้น ทำให้ผมมองว่า ท่านดร.ซุน ยัต เซ็น หากเทียบกับผู้นำในยุคสมัยนั้น ท่านน่าจะมีแนวคิดที่ล้ำสมัยมากจนเกินไป ทำให้ประชาชนทั่วไปอาจจะตามท่านไม่ทันก็ได้ เพราะนิยามคำสอนต่างๆ ที่ท่านได้นำมาจากคำสั่งสอนของลัทธิขงจื้อ แม้ว่าตัวของท่านปรมาจารย์ขงจื้อ จะเกิดมาก่อนยุคนั้นร่วมพันกว่าปี (ขงจื้อเกิดในปีก่อนพุทธศักราช 8 ปี) แต่ปรัชญาทางศีลธรรมและปรัชญาทางสังคมของขงจื้อ ได้ถูกถ่ายทอดกันต่อๆ มาหลายชั่วอายุคน

คำสอนทางด้านจริยธรรมและอุดมการณ์แห่งรัฐของลัทธิขงจื้อ ได้ถูกนำมาใช้หลายยุคหลายสมัย บางสมัยก็ช่วยให้ผู้ปกครองประเทศสามารถนำมาใช้ปกครองแผ่นดินได้อย่างถูกที่ถูกเวลา ทำให้เกิดความผาสุขแด่ประชาชนในยุคนั้นๆ แต่เสียดายที่ในยุคเปลี่ยนถ่ายของประเทศจีน ในยุคของท่านดร.ซุน ยัต เซ็น ได้มีปัญหาเกิดขึ้นอย่างมากมาย ทั้งจากปัจจัยภายในประเทศและต่างประเทศ ที่ถาโถมเข้ามา ทำให้การนำมาซึ่งการแบ่งแยกการปกครอง ดังที่เราๆ ท่านๆ ทราบกันดีนั่นเองครับ

ผมมีความเชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดก็ตาม หากประชาชนในประเทศแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไม่ได้เอาความอยู่รอดของประเทศเป็นที่ตั้ง มีแต่การมุ่งเน้นในประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก โดยไม่มีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจให้พึ่งพิง ประเทศนั้นก็จะไปไม่รอดอย่างแน่นอน บางประเทศถึงกับล่มสลายไปก็มีให้เห็นเป็นตัวอย่าง เราคงไม่ต้องบอกว่าประเทศใดนะครับ ให้มองไปรอบๆ ประเทศไทยเราเป็นหลักเลยครับ ตัวอย่างมีให้เห็นมากมายหลายประเทศ

ดังนั้นเฉกเช่นเดียวกันครับ เราคงจะต้องนำเอาบทเรียนต่างๆเ หล่านั้น มาเป็นอุทาหรณ์สอนใจให้แก่คนทุกๆ รุ่น และอย่างที่เราเห็นนั่นแหละครับว่า แต่ละประเทศแต่ละภูมิภาคในโลกใบนี้ ย่อมมีแนวคิดทฤษฎีและวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน เราไม่สามารถนำเอาแบบอย่างของเขา ที่อยู่คนละทวีปกับเรา มาใช้ในประเทศแถบทวีปนี้ได้ นอกเสียจากสามารถนำมาใช้เป็นบทเรียนสอนใจเราได้เท่านั้นครับ

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ผมจึงอยากให้ทุกท่าน ที่มีความสามารถในการฟังภาษาจีนกลางได้ มาร่วมรับฟังวงเสวนาในโอกาสที่ทางสมาคมจงหัวแห่งประเทศไทยจะจัดขึ้น ในวันอาทิตย์ที่ 20 สิงหาคมนี้ ที่โรงแรม Royal Orchid Sheraton Hotel ที่ซอยเจริญกรุง 30 สีลม กทม. ตั้งแต่เวลา 13:00 - 18:00 น. ซึ่งผมก็จะอยู่ที่เคาน์เตอร์ลงทะเบียนรอต้อนรับพวกเราอยู่ที่นั่น หากท่านมาก่อน 20 ท่านแรกแล้วมาถามหาผม ผมจะมีหนังสือ “ชีวประวัติดร.ซุน ยัต เซ็น” ที่เขียนเป็นภาษาไทยและภาษาจีน แจกให้ท่านฟรี 20 ท่าน แต่ท่านต้องจองที่นั่งมาก่อนนะครับ เพราะที่นั่งมีจำนวนจำกัด โทรมาจองที่สมาคมจงหัวแห่งประเทศไทยได้เลยครับ สัมมนาฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายครับ