เกษตรกรรมเวียดนามวันนี้

11 ก.ย. 2566 | 04:30 น.

เกษตรกรรมเวียดนามวันนี้ คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสร่วมคณะของผู้บริหารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ไปดูงานด้านการเกษตรของประเทศเวียดนามมา เพื่อนๆ อาจจะสงสัย แล้วผมไปยุ่งอะไรกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรด้วย ซึ่งการเดินทางครั้งนี้ ทางสถานีวิทยุอสมท.100.5 MH ส่วนของรายการ Good Morning Asian เป็นผู้จัด เขาเลยเชิญผมร่วมกับรศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิชไปเป็นผู้บรรยายพิเศษครับ (ผมก็ชอบยุ่งกับเรื่องของคนอื่นอย่างนี้แหละครับ) 

ครั้งนี้ได้รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของประเทศเวียดนามทางด้านการเกษตรเป็นอย่างมาก ทำให้ไม่แปลกใจเลยที่การส่งออกข้าวของเขา ทำไมถึงได้วิ่งนำหน้าเราไปแล้ว จึงอยากจะนำมาให้แฟนคลับทุกท่านได้อ่าน เผื่อข้อมูลเหล่านี้จะได้มีโอกาสเข้าถึงหูถึงตาท่านผู้มีอำนาจในยุคนี้บ้างนะครับ

สถานที่ที่คณะฯได้ไปเยี่ยมชมครั้งนี้ อยู่ที่สามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำโขง หรือทางด้านเวียดนามตอนใต้ ในตำบลเล็กๆ ที่ชื่อว่า โอมอน (Omon) ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดเกิ่นเทอ ตอนไปต้องนั่งรถวิ่งผ่านท้องนาและสวนผลไม้ อยากจะเล่าว่าในเขตลุ่มแม่น้ำโขงนี้ เป็นพื้นที่ที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่น้ำกร่อย เพราะมีแม่น้ำไหลผ่าน ที่ส่วนหนึ่งเป็นสายน้ำที่แตกแขนงออกจากแม่น้ำโขง ที่มีทั้งหมด 9 สายด้วยกัน โดยแม่น้ำทุกสายจะไหลลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ด้วยระยะทางไม่ไกลจากทะเลมาก จึงทำให้มีน้ำทะเลหนุนตลอดทุกวันในช่วงน้ำขึ้นน้ำลง ทำให้ผมนึกถึงเขตชายทะเลบ้านเรา ซึ่งก็คล้ายๆ กันกับที่นี่มากครับ

ช่วงที่วิ่งผ่านสวนผลไม้ระยะทางก็ไม่ใช่น้อย ที่เกือบจะทุกสวนจะมีการยกร่องสวน เพื่อปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองเยอะมาก ซึ่งในคณะผู้บริหารของธ.ก.ส.เอง ก็มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ที่ท่านมีสวนทุเรียนอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี ท่านก็บอกว่า บ้านเราปลูกทุเรียนไม่ได้ยกร่องสวนแบบนี้ ซึ่งการปลูกทุเรียนบนร่องสวน จะมีจุดอ่อนที่เวลาเก็บเกี่ยวลูกทุเรียน อาจจะเสี่ยงต่อการหล่นตกน้ำ จะทำให้มีน้ำซึมเข้าไปในผลทุเรียนได้ แต่พื้นที่ปลูกทุเรียนหลักของเขา จะอยู่ที่ภาคกลาง ในจังหวัดดาหลัด ซึ่งเป็นพื้นที่ภูเขาเป็นส่วนใหญ่ ทางเกษตรเวียดนามเขาตั้งเป้าหมายไว้ว่า สักวันหนึ่งเขาจะเป็นผู้ส่งออกทุเรียนหมอนทองเข้าสู่ตลาดประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุดในโลกในการบริโภคทุเรียนในวันนี้ครับ

เมื่อไปถึงที่ Omon ทางศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวที่นั่น ได้จัดต้อนรับคณะผู้บริหารธ.ก.ส. อย่างอบอุ่น อีกทั้งได้บรรยายให้เราได้เห็นภาพชัดเจนว่า เขาได้พัฒนาด้านการเพาะปลูกข้าวอย่างรวดเร็วมาก ดูได้จากสถาบันแห่งนี้ ที่อยู่ในเขตเล็กๆ ของประเทศนี้ บุคลากรของเขา มีผู้ที่จบปริญญาเอกด้านการเกษตรมากถึง 16 ท่าน ปริญญาโทอีกหลายสิบท่าน ปริญญาตรีจำนวนยังน้อยกว่าปริญญาโทด้วยซ้ำไป

ผู้ที่มาบรรยายที่เป็นหัวหน้าศูนย์ได้เล่าถึงการพัฒนาพันธุ์ข้าวชนิดต่างๆ ให้เราฟัง ที่น่าตกใจคือเขาเริ่มพัฒนาพันธุ์ข้าวหลายพันธุ์ ที่เขาบอกว่าบางสายพันธุ์ของข้าว จะมีความหอมเหมือนข้าวหอมมะลิของไทยมาก เพราะความกร่อยของน้ำ จะช่วยเสริมความหอมของข้าวได้อย่างดี และการเพาะปลูกข้าวของประเทศเวียดนาม ที่เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิทั่วประเทศ ในปี 2566 จะมีมากถึง 2,952,500 เฮกตาร์ ถ้าคิดเป็นไร่ก็ประมาณ 18,453,125 ไร่ ซึ่งถ้าจะเทียบกับปีที่ผ่านมา ยังน้อยกว่าปีที่ผ่านมา มีเพียง 98.7% เท่านั้น

โดยแบ่งเป็นพื้นที่ภาคเหนือจะมีพื้นที่ถึง 1,067.7 พันเฮกตาร์ จังหวัดภาคใต้มี 1,884.8 พันเฮกตาร์  ตามรายงานเบื้องต้น ผลผลิตข้าวฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิของประเทศอยู่ที่ประมาณ 42.75 ตัน/ไร่ แต่เมื่อเทียบกับผลผลิตฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 1 ตัน/ไร่ จะเห็นว่าพื้นที่เพาะปลูกในปีนี้ จะลดลงกว่าปีที่ผ่านมาแต่ผลผลิตก็เพิ่มขึ้น จึงเห็นผลของการพัฒนาพันธุ์ข้าวของประเทศเวียดนาม เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นนั่นเองครับ

ผลผลิตทางการเกษตรของเขา ไม่ว่าจะเป็นข้าว กาแฟ หรือพริกไทย ฯลฯ ทางการเขาให้การสนับสนุนอย่างดีมาก มีการทุ่มทรัพยากรบุคคลเข้าสู่ภาคการเกษตรอย่างเป็นระบบ ผมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับท่านผู้บริหารของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรบางท่าน ซึ่งส่วนตัวผมเองเห็นว่า ประเทศไทยเราทรัพยากรด้านบุคคลและด้านงบประมาณสำหรับเกษตรกรรมนี้ยังสู้ทางเวียดนามไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่ผู้เชี่ยวชาญของประเทศไทยเรา จะไม่ค่อยมีใครยินยอมเสียสละตนเอง เพื่อลงเข้าสู่พื้นที่ท้องไร่ท้องนา หายากมากที่คนระดับดอกเตอร์ที่ยอมทิ้งความศิวิไลย์ ลงไปใช้ชีวิตในท้องไร่ท้องนาดังกล่าว

เหตุที่จะจูงใจให้ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่จะเข้าสู่ชนบท รัฐบาลคงจะต้องทำอย่างจริงจังเหมือนประเทศเวียดนาม รัฐบาลไทยต้องมีงบประมาณลงไปช่วยจูงใจเขาเหล่านั้นให้มากขึ้น อย่าลืมว่าถึงอย่างไรการเกษตรพื้นฐาน ยังคงเป็นสายเลือดของเราที่ยังสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ เพราะสภาพภูมิอากาศและดินน้ำของเรา เป็นข้อได้เปรียบประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ เราจะเสียเปรียบแต่เพียงเรื่องของเทคโนโลยีเครื่องจักรกล ที่มาทุ่นแรงกำลังคนเท่านั้น ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านั้น สามารถใช้เม็ดเงินซื้อหาได้ แต่ทรัพยากรทางด้านดินฟ้าอากาศ ใช้เงินซื้อหาไม่ได้ เราควรใช้จุดแข็งของเราที่มีอยู่ เป็นตัวนำร่องในการต่อสู้กับตลาดโลกได้ครับ

สิ่งหนึ่งที่ผมคิด คือเราอย่ามองเขาเป็นคู่แข่ง ผมจำได้ว่า ผมเคยได้ยินคำพูดของท่านดร.เทียม โชควัฒนา สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ว่า “เราอย่ามองคนอื่นเป็นคู่แข่ง เราต้องมองเขาเป็นคู่ค้าเสมอ” นี่คือคำสอนที่เป็นประโยชน์มาก เช่นเดียวกันครับเวียดนามกับไทย เราต้องเป็นคู่ค้าที่เป็นพันธมิตรกันไว้ สินค้าการเกษตรในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นทุเรียนหรือข้าว ตลาดที่บริโภคสินค้าเหล่านี้ ยังมีความต้องการที่สูงมากๆ ต่อให้ประเทศไทยเรากับเวียดนาม รวมกันแล้วคูณด้วยสองเท่า ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดเลยครับ ดังนั้นหากเรามาจับมือกันแล้วโตไปด้วยกัน ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเลยครับ