วิกฤติการศึกษาของไต้หวัน

06 พ.ย. 2566 | 06:10 น.
อัปเดตล่าสุด :06 พ.ย. 2566 | 06:11 น.
1.4 k

วิกฤติการศึกษาของไต้หวัน คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ในช่วงอาทิตย์นี้ ผมได้ร่วมคณะมากับคณะกรรมการสมาคมจงหัวแห่งประเทศไทย เดินทาง เพื่อมาเยี่ยมเยือนหน่วยงานราชการและดูงานด้านต่างๆ ของรัฐบาลไต้หวัน ซึ่งใช้เวลาทั้งหมด 7 วันอันยาวนาน สิ่งที่ได้มาเห็นและรับรู้มาคือ การศึกษาของไต้หวันในช่วงระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสังคม ที่เปลี่ยนไปตามโลกาภิวัตน์ของโลก ทำให้ไต้หวันเอง ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการ Disrupted ของสังคมและวิถีชีวิตด้วยเช่นกัน
        
สังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ตามแรงกระแสของ Disruptions สิ่งแรกที่เห็นได้ชัด คือการดำรงชีวิตของประชาชน ที่ได้เดินตามสภาวะเศรษฐกิจที่สูงมากขึ้น ทำให้ทุกอย่างในการใช้ชีวิตในปัจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้นอย่างมาก แม้ว่ารายได้ของประชาชนจะสูงขึ้นมาตามอัตราเงินเฟ้อ แต่ก็ยังไม่สามารถตามค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้ทัน จะเห็นได้ว่าค่าแรงขั้นต่ำของประชาชน แม้จะสูงมากถึง 1,100 NT$ (อัตราแลกเปลี่ยนบาท/NT$ ก็เกือบๆ จะเท่ากัน) 

พนักงานทั่วไปที่จบการศึกษาขั้นปริญญาตรี จะได้รับเงินเดือนประมาณ 28,000-30,000 NT$ ในขณะที่ค่าเช่าบ้านที่กรุงไทเป จะอยู่ที่ประมาณ 8,000-10,000 NT$ ส่วนค่าเดินทางเบื้องต้นแม้จะไม่ได้แพงเท่าประเทศไทยเรา แต่ก็ต้องใช้จ่ายวันละไม่ต่ำกว่า 100 NT$ ค่าอาหารประจำวันจะอยู่ที่ 300-500 NT$ต่อวัน การทานบะหมี่ที่เปรียบเสมือนก๋วยเตี๋ยวบ้านเรา แพงถึงชามละประมาณ 60-180 NT$ ขึ้นอยู่ว่าจะทานบะหมี่อะไร? อาหารเช้าของชาวไต้หวัน ที่เป็นแค่น้ำเต้าหู้บวกอาหารประกอบบางชนิด(Side dishes) ก็ต้องใช้จ่ายประมาณ 100 NT$ต่อมื้อ นี่เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้นนะครับ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า นักศึกษาที่เพิ่งจบออกมาสู่สังคมใหม่ๆ ยากที่จะสามารถดำรงชีพอยู่ได้ หากไม่ได้การช่วยเหลือจากทางครอบครัวทางบ้าน

สิ่งที่จะตามมา การเลือกอาชีพที่จะสามารถช่วยให้ตนเองอยู่รอดปลอดภัยได้ จึงเป็นเรื่องที่เด็กรุ่นใหม่ต้องคิดหนัก ทุกคนจึงต้องแข่งขันกันเลือกเรียนสาขาวิชา ที่สามารถทำให้อนาคตของเขามีความมั่นคง ดังนั้นสาขาวิชาที่ไม่ค่อยมีอนาคตที่สดใส เด็กๆ รุ่นใหม่จึงไม่ค่อยสนใจอยากเรียน คนที่มีฐานะทางครอบครัวดีหน่อย ก็ไม่เดือดร้อน แต่คนที่ฐานะครอบครัวต่ำถึงปานกลางก็จะอยู่ยาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องดิ้นรน หาทางเล่าเรียนสาขาวิชาที่เด่นดัง เพื่ออนาคตของตัวเอง แต่ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิดเสมอไป จึงทำให้เด็กๆ ที่ผิดหวังเหล่านั้น บางคนก็อาจจะละทิ้งการศึกษาไปเลย จึงทำให้หลายๆ มหาวิทยาลัย ต้องพยายามดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดให้ได้ แต่บางสาขาวิชาที่ไม่ใช่เป็นที่ต้องการของตลาด ก็จะเกิดวิกฤติการศึกษาที่ขาดแคลนเด็กๆเข้าเรียน ส่งผลกระทบไปสู่การหาแรงงานที่ยาก แม้ว่าค่าจ้างแรงงานทั่วประเทศจะสูงเพียงใด แต่ยังหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการแบ่งชั้นอาชีพเช่นกัน นี่คือสิ่งที่ทำให้ไต้หวันต้องนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศเข้าไปทดแทนแรงงานที่เป็นคนภายในประเทศ
        
อีกประการหนึ่งคือปัญหาของประชากรไต้หวัน ที่เด็กรุ่นใหม่ ไม่ค่อยนิยมมีครอบครัวใหญ่ บางคนถึงกับไม่อยากแต่งงานเลยก็มี รัฐบาลเองในอดีตในยุคที่ผมเรียนอยู่ที่นี่ เขาจะมีนโยบายมีบุตรสองคนแต่ปัจุบันนี้ เด็กๆ รุ่นใหม่เขาคิดว่าการมีลูก เป็นภาระในการเลี้ยองดูสำหรับเขาไปแล้ว จึงทำให้การขยายตัวของจำนวนประชากร ลดลงอย่างรวดเร็ว สังคมผู้สูงอายุได้เข้าสู่ไต้หวันอย่างหลีกเลี่ยงไมได้ แต่บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stake holders) กับธุรกิจด้านบริการสาธารณสุข ก็ไม่ค่อยจะมีคนรุ่นใหม่อยากทำ เพราะเป็นงานที่ต้องใช้ความอดทน และรายได้ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง 

คนรุ่นใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานของไต้หวัน ที่เป็นแรงงาน Non Skill Labor ของไต้หวันจึงขาดแคลนมากๆ จึงมีความจำเป็นจะต้องนำเข้าแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะแรงงานที่ต้องใช้พละกำลัง ไม่ว่าจะเป็นแรงงานด้านการก่อสร้าง แรงงานด้านการเกษตร แรงงานด้านการแพทย์และพยาบาล ล้วนแล้วแต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ในขณะที่แรงงานที่เป็น Skill Labor ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความรู้และการศึกษาที่ดีมากๆ ถ้าปล่อยให้ไปอาศัยอยู่ในประเทศที่เจริญแล้ว ก็มักจะไปอาศัยอยู่ในระยะยาวเสียเป็นส่วนใหญ่ คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นปัญญาชน ที่รัฐบาลได้สูญเสียงบประมาณไปในการส่งเสริมการศึกษามาเยอะมาก แต่พอเริ่มเห็นช่องทางในการเอาตัวรอด ต่างคนก็ต่างกระโดดเรือหนีกันหมด นี่คงจะเป็นเพราะสัญชาตญาณของมนุษย์หรือเปล่าก็ไม่ทราบครับ
      
ในมุมมองที่ทางรัฐบาลไต้หวันได้เชิญคณะกรรมการสมาคมจงหัวแห่งประเทศไทย มาเยี่ยมเยือนหน่วยงานราชการของเขาในครั้งนี้ เขาเองก็ไม่ได้ระบุชัดเจนว่ามีวัตถุประสงค์ใดในการเชิญมา แต่ในโปรแกรมที่ให้มา เราได้ไปเยือนทั้งหน่วยงานที่ดูแลชาวจีนโพ้นทะเล หรือ Overseas Community Affairs Council  ของทางการไต้หวัน และมหาวิทยาลัยอีกสองแห่ง ซึ่งในอดีตสมัยผมได้โอกาสในการเรียนระดับมัธยมปลายที่นี่ หน่วยงานนี้จะเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนพวกเรา ที่เป็นนักเรียนนักศึกษาลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเล แต่หลังจากนั้นไม่นาน รัฐบาลเขาก็ลดบทบาทของหน่วยงานนี้ไปเยอะ กลุ่มลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเล ก็ไม่ค่อยได้มีโอกาสเหมือนยุคปัจุบันนี้ พอเกิดปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น รัฐบาลเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหานี้ จึงได้มอบหมายให้สามหน่วยงานหลักคือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงต่างประเทศ และ Overseas Community Affairs Council  เข้ามาร่วมกันหาทางดึงเอานักศึกษาชาวต่างชาติ เพื่อมาแก้ไขปัญหาเรื่องวิกฤติการศึกษาดังกล่าวครับ
        
ทั้งสามหน่วยงานที่กล่าวมา จึงได้ระดมสรรพกำลังเข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน ให้ทุนแก่นักศึกษาชาวต่างชาติ เช่น ถ้าเป็นลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเล ก็จะให้ทางฝั่งของ Overseas Community Affairs Council  เข้าไปจัดการให้ทุน และถ้าเป็นชาวต่างชาติแท้ๆ ก็จะให้กระทรวงทั้งสองเข้าไปจัดการให้ทุน ซึ่งทุนการศึกษาดังกล่าว ได้ให้ทางเลือกแก่นักศึกษาทุกระดับ ตั้งแต่มัธยมต้นจนกระทั่งระดับปริญญาเอกเลยทีเดียว เท่าที่ผมได้เข้าไปสัมผัส จะเห็นว่าทุนต่างๆ เหล่านั้น สามารถเลือกเรียนไปทำงานไปด้วยได้เลย เรียกว่าพอเรียนจบ ก็สามารถกลับมาบ้านเกิดเมืองนอน ก็สามารถตั้งตัวได้เลยละครับ แต่วัตถุประสงค์หลักของเขา เขาอยากจะได้ทรัพยากรบุคคลให้ลงหลักปักฐานที่เขามากกว่าครับ
          
แล้วถามว่าทำไมเขาจึงมองมาที่สมาคมจงหัวแห่งประเทศไทยด้วยละ? ต้องตอบว่าสมาคมนี้เป็นสมาคมจีนโพ้นทะเลแห่งเดียว ที่ก่อตั้งโดยดร.ซุน ยัด เซ็น ที่ยังคงเป็นสมาคมจีนที่ใช้การเขียนภาษาจีนแบบเก่า หรือที่เรียกว่า 繁體字 มาใช้อยู่ อีกทั้งคณะกรรมการของสมาคมส่วนใหญ่เป็นศิษย์เก่าของไต้หวันเกือบยกคณะ จึงทำให้เหมือนกับว่ายังใกล้ชิดกับไต้หวันอยู่มาก เขาจึงได้เชิญเราไปเยี่ยมเยือนครับ