การแข่งขันและการผูกขาดทางการค้า

24 ม.ค. 2567 | 12:18 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ม.ค. 2567 | 12:18 น.

การแข่งขันและการผูกขาดทางการค้า : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ดร.ปฐมวัตร จันทรศัพท์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,960 หน้า 5 วันที่ 25 - 27 มกราคม 2567

ในทางทฤษฎี การแข่งขันและการผูกขาดเป็นสองสิ่งที่แยกขาดกันอย่างชัดเจนเช่น สินค้าที่มีการผูกขาดจะมีผู้ขายเพียงรายเดียว ในขณะที่สินค้าที่มีการแข่งขันจะมีผู้ขายจำนวนมาก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และความซับซ้อนของการค้าในปัจจุบัน ทำให้ทั้งสองสิ่งนี้อยู่ใกล้กันมากกว่าที่คิด บทความนี้ต้องการนำเสนอถึงความใกล้ชิดกันระหว่างการแข่งขันและการผูกขาด

 

 

ก่อนอื่น ผู้เขียนจะขออธิบายประเด็น ทำไมเราต้องสนใจเรื่องการผูกขาดและการแข่งขัน นักเศรษฐศาสตร์ชิงชังการขายสินค้าที่มีลักษณะผูกขาด เหตุผลก็เพราะผู้ขายที่มีอำนาจผูกขาดจะผลิตหรือขายสินค้าของตนให้น้อยกว่าที่ควรจะเป็นเพื่อดันราคาให้สูงขึ้น

เพราะฉะนั้นผู้ซื้อต้องจ่ายแพงขึ้นและปริมาณการซื้อขายในระบบเศรษฐกิจหดตัวลง ในทางกลับกัน การแข่งขันนำมาซึ่งราคาที่ถูกลงและปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้เองทำให้แทบทุกประเทศรวมทั้งไทย มีหน่วยงานและกฎหมายที่ป้องกันการผูกขาดและการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม
 

เพราะกฎหมายป้องกันการผูกขาดนี้เอง ปัจจุบันเราจึงแทบไม่เห็นการผูกขาดสินค้าในลักษณะ ที่มีผู้ขายรายเดียวผลิตสินค้าน้อยๆ และตั้งราคาสูงอีกต่อไป

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมักจะมีลักษณะหมิ่นเหม่ต่อการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมมากกว่าเช่น การใช้อำนาจที่เกือบจะผูกขาดในตลาดหนึ่งทำให้ตนเองได้เปรียบในอีกตลาดหนึ่ง การเอาเปรียบคู่แข่งในลักษณะนี้กำลังมีมากขึ้นทั้งในไทยและทั่วโลก

เช่น แพลตฟอร์มการซื้อขายออนไลน์ที่ด้านหนึ่งทำ หน้าที่เป็นตลาดออนไลน์ อีกด้านหนึ่งให้บริการส่งสินค้าด้วย แพลตฟอร์มเหล่านี้ อาจให้สิทธิพิเศษแก่ร้านค้าที่เลือกใช้บริการขนส่งของตนหรือเก็บค่าธรรมเนียมในการเข้าใช้บริการจากบริษัทขนส่งอื่น

การกระทำในลักษณะนี้ ทำให้ตัวแพลตฟอร์มเองได้ประโยชน์สองต่อ ทั้งในด้านของการทำหน้าที่เป็นตลาดสินค้าออนไลน์และกำไรจากบริษัทขนส่ง 

 

 

การแข่งขันและการผูกขาดทางการค้า

หากมองจากมุมของผู้ใช้แพลตฟอร์มอาจรู้สึกสะดวก หรือได้ประโยชน์บางอย่างจากการเลือกใช้บริการขนส่งของตัวแพลตฟอร์มเอง

แต่หากพิจารณาจากมุมของบริษัทขนส่ง อาจมีคำถามได้ว่า การที่แพลตฟอร์มกระโดดลงมาเป็นผู้เล่นในตลาดขนส่งมีความยุติธรรมหรือไม่ การต้องเสียค่าธรรมเนียมที่สูงกว่าที่ควรจะเป็นมีความเป็นธรรมหรือไม่

ประเด็นนี้ยิ่งมีนํ้าหนักเพิ่มขึ้นเมื่อแพลตฟอร์มมีจำนวนไม่มาก ทำให้บริษัทขนส่งไม่ มีทางเลือกหากต้องการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าของแพลตฟอร์ม

อย่างไรก็ตาม การให้บริการขนส่งของตัวแพลตฟอร์มเองก็มีเหตุผลที่น่ารับฟังอยู่เหมือนกัน เช่น การที่แพลตฟอร์มต้องมีบริการขนส่งของตัวเองเป็น เพราะต้องการควบคุมคุณภาพของการขนส่ง หากผู้ใช้แพลตฟอร์มได้รับสินค้าที่เสียหายอาจส่งผลต่อชื่อเสียงของแพลตฟอร์ม

เหตุผลเรื่องคุณภาพของการให้บริการในลักษณะนี้เฉกเช่นเดียวกับ ศูนย์บริการซ่อมรถบางแห่งบังคับให้ลูกค้าใช้แต่อะไหล่ของศูนย์บริการเท่านั้น ลูกค้าไม่มีสิทธิเลือกใช้อะไหล่ยี่ห้ออื่น

นอกจากตัวอย่างแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น ยังมีกรณีอื่นที่อาจเข้าข่ายการเอาเปรียบคู่แข่งในตลาดหนึ่ง จากการที่ตนเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในอีกตลาด

เช่น การที่แพลตฟอร์มคลิปวิดีโอหันมาทำการค้าออนไลน์ด้วย ทำให้แพลตฟอร์มดังกล่าวทำสองหน้าที่ ได้แก่ ให้บริการคลิปวีดีโอ และ การค้าออนไลน์ โดยแบ่งผลประโยชน์ให้อินฟลูเอนเซอร์ ในคลิปวีดีโอเมื่อทำการแนะนำสินค้า หรือ ร้านค้าออนไลน์ในแพลตฟอร์มเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่า การกระทำดังกล่าวส่งผลต่อร้านค้าออนไลน์อื่น ยิ่งถ้าแพลตฟอร์มคลิปวีดีโอมีผู้ใช้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งผล กระทบมากขึ้นเท่านั้น

ดังที่ได้กล่าวมา เราจะเห็นว่า การแข่งขัน และ การผูกขาดทางการค้าใกล้เคียงกันมาก ประเด็นเรื่องการที่ผู้ให้บริการ ในตลาดหนึ่งเอาเปรียบคู่แข่งในอีกตลาดหนึ่ง จึงถือเป็นความท้าทายของหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ว่า กรณีใดที่ควรห้ามและกรณีใดที่ไม่ถือเป็นการเอาเปรียบทางการค้า