ขังเดี่ยว ผู้ถือหุ้นกู้ ITD โดยธนาคารกรุงศรี

10 ม.ค. 2567 | 04:28 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ม.ค. 2567 | 17:07 น.
18.5 k

ขังเดี่ยว ผู้ถือหุ้นกู้ ITD โดยธนาคารกรุงศรี คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย...เจ๊เมาธ์

***ในที่สุด บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ก็ต้องเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้รุ่น ITD242A  ในวันพุธที่ 17 มกราคม 2567 เนื่องจากหุ้นกู้รุ่นนี้กำลังจะครบกำหนดจ่ายเงินต้นในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 โดยจะขออนุญาตผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งมีธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในฐานะผู้แทน เพื่อเลื่อนกำหนดเวลาจ่ายเงินต้นออกไปอีก 2 ปี เป็นวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2569 พร้อมกันนี้ทาง ITD เสนอว่ายินยอมจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเป็น 6.05% ในปี 2568 และ 6.30% ในปี 2569 เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เจ้าหนี้ในการยืดเวลาหนี้ออกไป
แต่หากเพียงแค่ ITD ยอมจ่ายดอกเบี้ยและเลื่อนเวลาจ่ายเงินต้นออกไปแล้วเรื่องจบทุกอย่างก็คงไม่มีปัญหา....

แต่กรณีของ ITD เมื่อไม่มีความสามารถในการชำระและต้องเลื่อนจ่ายเงินต้นของหุ้นกู้ออกไปอีก 2 ปี จะส่งผลให้หุ้นกู้รุ่น ITD242A  และหุ้นกู้ที่เหลืออีก 4 รุ่น ซึ่งมีมูลค่ารวม 1.44 หมื่นล้านบาท โดยไม่รวมดอกเบี้ย ซึ่งจะครบชำระในปี 2567-2569 จะต้องถูกเลื่อนการจ่ายเงินต้น รวมไปถึงจะมีภาระในการจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มอีก 2 ปี เช่นกัน 

ดังนั้นเมื่อ ITD ไม่สามารถจ่ายเงินต้นได้ทำให้ทางเลือกของเจ้าหนี้มีเหลืออยู่เพียง 2 ทางเท่านั้น 

อย่างแรก... หากเจ้าหนี้ยินยอมให้ ITD เลื่อนการจ่ายเงินต้นออกไปอีก 2 ปี สิ่งที่เจ้าหนี้จะได้รับก็คือ ดอกเบี้ยราว 170 ล้านบาท เมื่อคิดจากเงินต้นจำนวน 1.44 หมื่นล้านบาท แต่ปัญหาที่เจ้าหนี้จะต้องคิดต่อมาก็คือ จำนวนเงิน 1.44 หมื่นล้านบาท ที่ควรจะต้องได้รับตามเวลาเหล่านั้น ถ้าหากเงินจำนวนที่ว่านี้เป็น “เงินเย็น” ประเภทที่ปลอดดอกเบี้ย หรือ ที่ไม่ต้องนำไปใช้อย่างอื่นตามเวลาที่กำหนดก็คงไม่มีปัญหา แต่หากเงินจำนวนนี้เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ที่เหล่าเจ้าหนี้กู้มาเพื่อปล่อยต่อ “เพื่อกินดอก” และถึงเวลาที่จะต้องนำเงินต้นกลับไปจ่ายเจ้าหนี้ตามสัญญาด้วยเช่นกัน 

หากเจ้าหนี้ยอมรับ ปัญหานี้จะทำให้ผู้ที่ถือหุ้นกู้ของ ITD ต้องไปเจรจากับเจ้าหนี้ รวมถึงเจ้าหนี้ต้องเจรจากับเจ้าหนี้ของเจ้าหนี้กันอีกหลายต่อหลายทอด เพื่อขอเลื่อนเวลาการชำระเงินต้นไปด้วยเช่นกัน ซึ่งปัญหานี้อาจลุกลามถึงขั้นระบบ “ล่ม” ทั้งระบบได้เลยทีเดียว

อย่างที่สอง...หากเจ้าหนี้เงินกู้ไม่ยอมรับแผนการเลื่อนจ่ายเงินต้นออกไป แต่เลือกใช้วิธีในการตีความว่าเป็น Default ก็จะทำให้เกิดกระบวนการเรียกให้ชำระหนี้โดยพลัน (Call Default) ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ITD อาจถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้อง เพื่อเรียกชำระหนี้ตามเงื่อนไข หรือจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ในระยะเวลาที่กำหนด นับตั้งแต่ได้รู้ถึงเหตุผิดนัด เพื่อขอมติในการเรียกร้องให้ผู้ออกหุ้นกู้ชำระหนี้ หรือ ฟ้องร้องหากเกิดความเสียหายขึ้น ซึ่งนั่นอาจจะทำให้ ITD จำเป็นที่จะต้องขายสินทรัพย์บ้างส่วนเพื่อนำเงินมาจ่ายหนี้ให้ได้ตามกฎหมาย 

โดยหากเกิดกรณีนี้ขึ้นมาจริง จะส่งผลกระทบไปถึงความน่าเชื่อถือและสภาพคล่องของบริษัท ซึ่งปัจจุบันมีโครงการก่อสร้างในมือมูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาทตามไปด้วย กรณีร้ายแรงที่สุดอาจจะถึงขั้นที่ ITD ต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูไปอีกบริษัทเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม กรณีปัญหาหุ้นกู้ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าเป็นกับทาง ITD ซึ่งเป็นรายล่าสุด หรือ กับบริษัทก่อนหน้านี้มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น STARK JKN หรือ ALL รวมไปถึงหุ้นของบริษัทอื่นๆ ที่มีแววว่าอาจเกิดปัญหาได้ในอนาคต ซึ่งรวมแล้วมีอยู่ราว 24 บริษัท เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องออกมาดูแล ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเกณฑ์ใหม่ที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น รวมไปจนถึงการตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อพยุง หรือ ดูแลกรณีของหุ้นกู้เป็นการเฉพาะ เพราะถ้าไม่มีการดูแล และหาก ITD ถูกเจ้าหนี้ Call Default ขึ้นมาจริงๆ อาจกลายเป็น “ช้างล้ม” และกลายเป็นความหายนะของตลาดหุ้นไทยที่รุนแรงจนอาจควบคุมไม่ได้เลยด้วยซ้ำ

จากนี้ไปเราคงจะต้องจับตามองดู ITD เพราะอย่าได้ลืมว่า ITD เป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่มาก และด้วยขนาดใหญ่แบบนี้ทำให้ถ้าเกิดล้ม หรือ เป็นอะไรขึ้นมา ก็คงสะเทือนกันไปทั้งวงการ ...ไม่ใช่แค่บริษัทเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้น แต่เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับหุ้นกู้ ซึ่งครอบคลุมไปทั้งวงการโดยเฉพาะหุ้นกลุ่มอสังหาฯ ซึ่งนิยมระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ ยิ่งน่าจับตาเป็นพิเศษ เพราะถ้า ITD ล้มในครั้งนี้ กรณี  STARK ALL รวมไปถึง JKN ก็จะกลายเป็นเพียงแค่เรื่องเด็กเล่นกันไปเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม เจ๊เมาธ์อยากทิ้งท้ายเอาไว้ว่า ถึงแม้ปัจจุบัน “เปรมชัย กรรณสูต” จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 11.90% ซึ่งถ้าหากว่า ITD มีปัญหาหนักจนล้ม คนที่เจ็บหนักน่าจะไม่ใช่ตระกูล “กรรณสูต” แต่จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยอีกเกือบ 40,000 ราย 

นั่นก็หมายความว่า ตอนนี้ดูเหมือนนักลงทุนรายย่อยได้ “ถูกจับเป็นตัวประกัน” ไปแล้วเรียบร้อย ขณะเดียวกันหากมองไปทางธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY ในฐานะผู้แทนหุ้นกู้ ITD ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้เกี่ยวข้องโดยตรง บอกเลยว่า มาจนถึงตอนนี้ นอกจากการช่วยพยุงสถานะทางการเงินของ ITD ก็ยังมองไม่เห็นว่า BAY มีนโยบาย หรือแนวคิดใดที่จะช่วยผู้ถือหุ้นรายย่อยออกมาสักอย่าง...ไม่รู้ว่าจะกดหัวกันไปถึงไหน

ดังนั้นหาก ITD กลายเป็น “ช้างล้ม” คนในตระกูล “กรรณสูต” ก็จะไม่เจ็บเพราะเป็นการ “ล้มลงบนฟูก” มีทางธนาคารกรุงศรีอยุธยาช่วยพยุง และนักลงทุนรายย่อยอีกเกือบ 40,000 ราย รับหน้าที่เป็นฟูกรองรับอยู่นั่นเอง

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,956 วันที่ 11 - 13 มกราคม พ.ศ. 2567