ITD สารภาพเงินขาดมือ เลื่อนจ่ายหนี้หุ้นกู้ แลกแบงก์ปล่อยกู้เพิ่ม

09 ม.ค. 2567 | 13:03 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ม.ค. 2567 | 11:51 น.
2.2 k

ITD แจงเหตุเลื่อนจ่ายหนี้หุ้นกู้ 2 ปี เหตุเผชิญปัญหาหลายด้าน ส่งผลให้ขาดเงินทุนหมุนเวียน จนต้องเจรจากับเจ้าหนี้ขอผ่อนผันการชําระหนี้ และเลื่อนการชําระหนี้ 

ประเด็นปัญหา “หุ้นกู้ ITD” ของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ซึ่งยื่นหนังสือขอเลื่อนกำหนดการจ่ายหุ้นกู้ทุกรุ่นออกไปอีก 2 ปี จะส่งผลให้เจ้าหนี้หุ้นกู้ ITD จำนวน 5 รุ่น มูลค่ารวม 14,455 ล้านบาท ได้รับการชำระล่าช้าออกไปอีก 2 ปี สะท้อนให้เห็นถึงภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง 

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบข้อมูลรายละเอียด พบต้นตอของปัญหา ซึ่ง ITD ได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงวาระการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2567 ลงวันที่ 8 มกราคม 2567 ได้รายงานข้อเท็จจริงและเหตุผลเอาไว้ว่า ในวาระที่ 1 เรื่องการพิจารณาผ่อนผันการดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio) ตามที่กำหนดในข้อกําหนดสิทธิ โดยให้มีผลตั้งแต่วันสิ้นสุดรอบปีบัญชีของปี 2566 จนถึงวันสิ้นสุดรอบปีบัญชีของปี 2568 และผ่อนผันให้ผู้ออกหุ้นกู้ดำเนินการเจรจา หรือเข้าทำสัญญาใด ๆ กับเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ โดยไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดตามข้อกําหนดสิทธินั้น มีข้อเท็จจริงและเหตุผลระบุว่า

ข้อ 7.3 (ก) ของข้อกําหนดสิทธิ กำหนดว่า “ผู้ออกหุ้นกู้จะดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ของผู้ออกหุ้นกู้ตามงบการเงินรวมของผู้ออกหุ้นกู้ในอัตราส่วนไม่เกินกว่า 3.0 (สามจุดศูนย์) : 1 (หนึ่ง) ณ วันสิ้นงวดบัญชี ของไตรมาสที่สอง และ ณ วันสิ้นสุดรอบปีบัญชีของแต่ละปี

 

สำหรับหุ้นกู้ภายใต้ข้อกําหนดสิทธิข้างต้น บริษัทได้ดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของผู้ออกหุ้นกู้ (D/E Ratio) ตามที่กำหนดในข้อกําหนดสิทธิมาโดยตลอด แต่ทั้งนี้ เนื่องจากในช่วงหลังจากสิ้นงวดบัญชีของไตรมาสที่สองของปี 2566 ที่ผ่านมา สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศยังคงอยู่ในช่วงปรับตัว ซึ่งรวมถึงโครงการต่าง ๆ ของบริษัท ยังคงอยู่ในช่วงดำเนินการ หรืออยู่ระหว่างการส่งมอบให้กับลูกค้าหน่วยงานภาครัฐ

อีกทั้งในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมามีปัจจัยภายนอกหลายประการที่กระทบกับการประกอบธุรกิจของบริษัท อาทิ สถานการณ์สงครามในต่างประเทศ ราคาวัสดุและน้ำมันที่สูงขึ้น การประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่ง ประเทศไทย จึงทำให้ต้นทุนการทำงานของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น 

รวมทั้งการเมืองในประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลล่าช้า ส่งผลกระทบกับโครงการภาครัฐต่าง ๆ ที่ชะลอตัวลงจากแผนงานเดิม ทำให้บริษัทซึ่งมีงานของภาครัฐเป็นจำนวนมาก ประสบปัญหาปริมาณงานลดลงไม่เป็นไปตามประมาณการ ด้วยเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจคาดหมายได้เหล่านี้ ทำให้บริษัทมีความจำเป็นต้องเจรจากับเจ้าหนี้ต่างๆ ของบริษัท ทั้งเจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้สถาบันการเงิน และเจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อขอผ่อนผันการชําระหนี้และเลื่อนการชําระหนี้ของบริษัท ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชําระหนี้ของบริษัทด้วย 

นอกจากนี้บริษัทยังมีความจำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน เพื่อนำมาใช้ในโครงการงานต่าง ๆ ที่ มีอยู่เป็นจำนวนมาก และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจของบริษัท ซึ่งการได้รับสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงินในครั้งนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บริษัทผ่านพ้นปัญหาการขาดเงินทุนหมุนเวียน สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และดำเนินการ ก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ไปได้อย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ การให้การสนับสนุนเงินกู้จากสถาบันการเงินดังกล่าวมีเงื่อนไขสำคัญ ว่า บริษัทจะต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัทร่วมด้วย จึงจําเป็นจะต้องจัดการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ โดยในขณะนี้สถาบันการเงินหลายแห่งในประเทศกําลังพิจารณาให้สินเชื่อใหม่แก่บริษัท ซึ่งจะมีผลกระทบกับหน้าที่ของบริษัทตามข้อกําหนดสิทธิในการดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของผู้ออกหุ้นกู้ตามงบการเงินรวมของบริษัท 

โดยอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของผู้ออกหุ้นกู้ตามงบการเงินรวมของบริษัท ณ ไตรมาส 3 ปี 2566 เท่ากับ 2,893 โดยหากบริษัทได้รับอนุมัติวงเงินสินเชื่อใหม่ดังกล่าว จะทำให้บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวสูงขึ้นเกิน กว่า 3.0 : 1 ตามที่ข้อกําหนดสิทธิได้จํากัดไว้ 

จากเหตุผลทั้งหมด ซึ่งส่งผลกระทบต่อส่วนของหนี้สินของบริษัท บริษัทจึงเห็นควรเสนอ ให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้พิจารณาผ่อนผันการดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio) ตามข้อ 7.3 (ก) ของข้อกําหนดสิทธิ โดยให้มีผลตั้งแต่วันสิ้นสุดรอบปีบัญชีของปี 2566 จนถึงวันสิ้นสุดรอบปีบัญชีของปี 2568 และผ่อนผันให้ ผู้ออกหุ้นกู้ดำเนินการเจรจา หรือเข้าทำสัญญาใด ๆ กับเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ โดยไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดตามข้อกำหนดสิทธิ
ขณะเดี่ยวกันในวาระที่ 2 กำหนดว่าที่ประชุมจะพิจารณาอนุมัติการขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ไปอีก 2 ปี ในเอกสารได้ระบุข้อเท็จจริงและเหตุผลของการดำเนินการครั้งนี้ว่า เนื่องด้วยสถานการณ์ในตลาดตราสารหนี้ในปัจจุบัน โดยเฉพาะการลงทุนใน “หุ้นกู้” ไม่เอื้ออํานวย เป็นปัจจัยกดดันความเชื่อมั่นนักลงทุน ที่อาจทำให้การออกจําหน่ายหุ้นกู้รุ่นใหม่เพื่อทดแทนรุ่นเดิมที่ครบกำหนดไถ่ถอน (Roll Over) มีความเสี่ยงต่อบริษัทและนักลงทุนเพิ่มขึ้น 

รวมทั้งจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันซึ่งรวมถึงการ ดำเนินธุรกิจของบริษัท บริษัทได้พิจารณาในการขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นกู้ในการขยายวันครบกำาหนดไถ่ถอนหุ้นกู้แทนการ ดำเนินการออกหุ้นกู้รุ่นใหม่ ๆ มาเพื่อทดแทนรุ่นเดิมที่จะครบกำหนดในปี 2567 

โดยบริษัทได้พิจารณาแนวโน้มของอัตรา ดอกเบี้ยสำหรับระยะเวลาในการถือครองหุ้นกู้ที่ขยายออกไปเป็นอัตราคงที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยเดิมอีก 0.25% สำหรับปีที่ 1 และ อัตราคงที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มอีก 0.50% สำหรับปีที่ 2 นับจากวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ โดยดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะนําไปชําระครั้งเดียวพร้อมกันกับวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ใหม่ (ที่ขยายออกไป) ทั้งนี้ การขอเลื่อนวันครบกำหนดหุ้นกู้ที่เป็นเงื่อนไขสำคัญของสถาบันการเงินที่จะให้เงินกู้ยืมใหม่กับบริษัท 

ทั้งนี้ตามเหตุผลดังที่บริษัทแจ้งข้างต้น บริษัทจึงเห็นควรเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้พิจารณาอนุมัติการขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ไปอีก 2 ปี 

(ก) การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้อีก 0.25% ต่อปี (นับแต่วันถัดจากวัน ครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้เดิมจนถึงวันครบ 1 ปีจากวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้เดิม) 

(ข) การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ อีก 0.50% ต่อปี (นับแต่วันถัดจากวันครบ 1 ปีจากวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้เดิมจนถึงวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ ใหม่) 

โดยจะชําระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดเพียงครั้งเดียวในวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ใหม่ (ที่ขยายออกไป) โดยหุ้นกู้จะมีวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ และอัตราดอกเบี้ยใหม่ คือ หุ้นกู้ ITD24DA ซึ่งมีวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้เดิมวันที่ 4 ธันวาคม 2567 เป็น 4 ธันวาคม 2569 อัตราดอกเบี้ยเดิม คงที่ 5.80% ต่อปี โดยอัตราดอกเบี้ยใหม่ปีที่ 1 คงที่ 6.05% ต่อปี และ อัตราดอกเบี้ยใหม่ปีที่ 2 คงที่ 6.30% ต่อปี