ขบวันละขันธ์ “เราวิ่งแซงตัวเองให้ชนะก่อน ก่อนที่จะคิดไปวิ่งแซงคนอื่น!” โดย...สุรวงศ์ วัฒนกูล
ลำพังเพียงถ้อยคำคติพจน์ วรรคนี้วรรคเดียว ท่านก็จะคาดว่าผมเป็น กูรูขั้นเทพแน่เลย ถ้าท่านได้อ่าน คติแพะ อีกสักวรรคหนึ่ง ท่านจะถึงบางอ้อว่าผมไม่ใช่กูรูกรมวิชาการ อ่านดูก็จะรู้ ผมนี่แหละ เฒ่าทารก ตัวจริง
ขบวันละขันธ์ “คนที่เกลียดวันจันทร์เป็นคนใจแคบ คนใจกว้างจะต้องเกลียดตั้งแต่วันอาทิตย์จนถึงวันเสาร์ (ฮา) โดย...สุรวงศ์ วัฒนกูล
นักล่างูเขาชี้แนะว่า “ถ้าใครโดนงูเหลือมรัด เรางอแขนมาขวางคอเอาไว้ ไม่งั้นจะโดนมันรัดคออีหรอบเดียวกับเสือที่กัดคอเป็นจุดแรก เราไม่ต้องสะบัดให้เปลืองแรง ที่ควรทำคือ จับหางงูเหลือมแล้วดึงให้หางมันโค้งงอคล้ายงวงช้าง มันรีบปล่อยเราเพราะทนเจ็บไม่ไหว”
ยกนี้ ต่างฝ่ายต่างเผ่นจึงไม่มีใครชนะใคร…
ผมเป็นนักกิจกรรมการเมือง ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด หลบหน้าไม่อยากจะคุยด้วย เพราะว่าคุยชนะเด็กก็ไม่ได้ดีอะไร ครูท่านหนึ่งเข้ามามือเปล่าไม่มีตาลปัด ท่านไม่ได้ เทศ - สะ - หนา แต่ท่านก็ เทส - ซะ - นาน คือ ลองใจเพื่อหยั่งเชิง
ท่านเริ่มไขความว่า “มีนักเรียนในห้องนี้ไปเขียนบทความแปะไว้ที่ข้างหน้าห้องเรียนว่า เกิดมาเป็นคนอย่าเห็นแก่ตัว พวกเธอลองนึกดูสิว่า ถ้ามีใครมันเอาถ่านจากเตาไฟมา วางบนหัวเราก้อนหนึ่ง วางบนหัวเพื่อนก้อนหนึ่ง เราจะปัดถ่านไฟก้อนไหนก่อน.... ”
บรรยากาศเงียบกริบกันทั้งห้อง มีผมคนเดียวที่ยกมือขอใช้สิทธิ์พาดพิง ผมลุกขึ้นอธิบายว่า คำถามที่ครูถามเป็นคำถามชี้นำแบบเดียวกับทนายที่ถามจำเลย ผมยินดีที่จะตอบตามที่ครูอยากจะให้ผมตอบว่า ผมจะปัดถ่านไฟบนหัวผมก่อน มันเป็นปฏิกริยาสนองตอบโดยอัตโนมัติ
จะมีใครคิดแล้วคิดอีกไหมครับว่า เราจะปล่อยมันตามยถากรรม หรือว่า เราจะเอามันออกจากหัว เราจะเอามือปัด หรือว่าจะใช้คีมคีบถ่าน
กว่าจะคิดเสร็จมันจะทะลุหนังหัวเสียกอน หลังจากเราเอาตัวรอดได้แล้ว ก็หันไปดูว่าเพื่อนเขาช่วยตัวเองได้ไหม ถ้าเขาเอาตัวรอดได้เองผมก็จะไม่จุ้นจ้านเข้าไปยุ่งเกี่ยว อย่าว่าแต่คนเลยครับ เราเอาทั้งแม่หมาและลูกหมาโยนใส่ลงไปในกะทะน้ำร้อน แม่หมาก็จะกระโดดออกก่อนแน่นอน หลังจากตั้งสติได้แม่หมาก็จะหาทางตะกายช่วยลูก ถ้าเราไม่คิดจะช่วยใครเลย จะกล้าสบตาหมาไหมครับ” (ซี๊ด…)
ยกนี้ ผมรู้ว่าผมชนะครู แต่ทว่า ผมแพ้ใจตัวเองที่พูดแรงแบบนั้น…
หลักประเมินที่ว่าแน่ ลองหันมาแล ปรากฏการณ์ “หกจริต” ฮิตอมตะข้ามภพชาติล่วงมา 2566 ปี หลังจากได้อ่าน “หกจริต” ผมเริ่มรู้ตัวบ้างแล้ว จุดบอดผมอยู่ตรงไหน ผมควรจะทำอะไรกับตนเองบ้าง อาทิ
นิสัย ราคจริต รักสวยรักงาม ใครคว้ามือถือเขาเอามาดูโดยไม่สวมถุงมือเขาจะยี้ไหมว่าติดเชื้อ (ฮา)
นิสัย โทสจริต รำคาญหัวร้อน อย่า ช้า ล้อ แฉ เขาจะรักถ้าเราพูดว่า จริงครับนาย ใช่ครับท่าน (ฮา)
นิสัย โมหจริต หลงลืมซึมง่วง ใครฝากเงินให้เขาไปโอนแทน มีโอกาสจะกดเลขบัญชีผิดพลาด (หุๆ)
นิสัย วิตกจริต กังวลเกินจริง ใครมีท่าทีรำคาญเขาจะขุ่น ลงทุนประโลมใจให้วิธีแก้เคล็ดจะโอ (อิๆ)
นิสัย สัทธาจริต บูชาความเชื่อ อย่าเถือว่าเขางมงาย ใช่ไม่ใช่ยกมือท่วมหัวไว้ จะได้พระรุ่นหนึ่ง (ฮา)
นิสัย พุทธิจริต ฉลาดเกินคน เหตุผลเป็นกระบุง รีบเลี้ยงโกปี๊ เขาจะเทความรู้ดีๆ เข้าเต็มหมอง (ฮา)
ผมอ่านทบทวนอยู่หลายปี วันดีคืนดีก็ถือวิสาสะ “หัวล้านนอกครู” ชูประเด็นคิดเองเออเองสรุปเอง เป็นคนแรกในยุทธภพ อุตริเอาไปลองของถามลูกศิษย์ช่วยกันขบในห้องอบรม เมื่อปี 2530 ว่า…
“ถ้าเอาจริตทั้งหกมาผสมรวมกันเพื่อนำไปใช้ให้คนไม่ชัง เราจะเรียกชุดความคิดจริตช่อนี้ว่าอะไร?”
รายงานความสัตย์กันตรงไปตรงมา ก่อนจะมีตำราว่าด้วยหกจริตออกมาวางตลาด ผู้ฟังเขาตอบถูกกันน้อยม่าก เพราะว่าไม่คุ้นเคยกับวิชชาที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก คำเฉลยที่ผมใช้เวลาอธิบายลุยกันจนคัดจมูกกว่าลูกศิษย์จะเห็นด้วย เขารุมถล่มถลกถกเถียงกันอุตลุดเป็นที่สนุกสนาน กระทั่งในที่สุดเขาก็ยอมจำนนว่า “ใช่”
ความคิดชุดนี้เรียกว่า Mincing Mindset หมายถึง “ชุดความเชื่อว่าด้วยการดัดจริต!” (ฮา)
ดัดจริต คือ การเอาจริตมาดัด เนื่องจากมีเหตุผลอันเหมาะสมที่สมควรจะปรับเปลี่ยน กิริยา อาภรณ์ รูปทรง หรือ นิสัย ให้สอดคล้องกับ บรรยากาศของหมู่คณะ กระแส หรือ วัฒนธรรม อย่างเช่น บุคลิกนิสัยเราเป็นพวก โทสจริต ขี้รำคาญ และ หัวร้อน
แต่ครั้งนี้มีลูกค้าคนสำคัญมาร่วม เราจึงต้องปรับตัวปรับใจปรับท่าทีเป็นลูกผสมระหว่าง พุทธิจริต สนธิร่วมกับ ราคจริต เป็นคนเจ้าปัญญา พูดจามีเหตุมีผล รักสวยรักงาม สบายๆ
ผมว่าแต่ละครอบครัวควรมีใครสักคนทำป้ายแขวนไว้ในห้องรับแขกว่า “วันนี้ดัดจริตกันบ้างหรือยัง” (ฮา)