ชีวิตยุคใหม่ ไปได้สวยด้วยมืออาชีพ (5)

02 ก.ย. 2566 | 08:40 น.

ชีวิตยุคใหม่ไปได้สวยด้วยมืออาชีพ (5) คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย...ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3919

“อนุ” แปลว่า “รุ่นหลัง” หรือ “ภายหลัง” อย่างเช่น “อนุภรรยา” คือ “เมียที่เพิ่งมาทีหลัง!” (ฮา) “รักษ์” แปลว่า “ดูแล” หรือ “ระวัง” ดีนะที่ไม่แปลว่า “ดูแลคนรุ่นหลัง” หรือ “ระวังคนรุ่นใหม่” (ฮา) 

ราชบัณฑิต แปลคำนี้ว่า “อนุรักษ์” คือ “รักษาให้คงเดิม” จะว่ากันไปถ้าเราไม่คิดมาก “รักษาให้คงเดิม!” หมายถึง “อะไรที่ทำไว้ดีในยุคเดิมเราควรรักษาเอาไว้ให้ดี” ท่านที่เข้าถึงแง่มุมนี้ต้องยกให้ “หลวงพ่อดีนะ”

ก๋วยเตี๋ยวเรือสมัยก่อนแถวคลองรังสิต หลายลำ หลายร้าน ติดป้าย “โกฮับ” กันเป็นว่าเล่น มีอยู่ร้านหนึ่งขึ้นป้ายเบ้อเร่อ บรรทัดบนเขียนว่า “โกส่าย” บรรทัดล่างก็เขียนกระตุกกึ๋นว่า “โกฮับตายนานแล้ว!” (ฮา) ร้านใดแอบลักไก่เอายี่ห้อเขามาใช้ ไม่เข้าข่าย “มืออาชีพ” เพราะว่าไม่ทำมาหากินให้มันถูกทำนองคลองธรรม 

ชาวเรือคนหนึ่งเกาะแผ่นไม้ลอยเข้าฝั่ง เดินโทงๆ เข้าเมือง กทัมพียะ ด้วยเวอร์ชั่น ชีเปลือย ผู้คนคิดว่าคงเป็นผู้ทรงศีล เขาจึงสวมรอยเป็น นักบวชกำมะลอ ปัณทรนาคราช แปลงกายเป็นคนดั้นด้นเข้ามาสนทนาธรรม ช่วงที่เดินกลับสวนทางกับพญาครุฑ ซึ่งแปลงกายเป็นมนุษย์ ปัณทรนาคราช รู้สึกสะท้านใจ ท่านพญาครุฑ ได้ปรับทุกข์กับนักบวชกำมะลอ ว่า “พวกเราจับนาคทีไรก็มักจะตกทะเลจมนํ้าตายกันบ่อย ต้องทำอย่างไรถึงจะจับพญานาคได้อย่างปลอดภัย?”

ในวันต่อมา ปัณทรนาคราช มากราบ นักบวชชีเปลือย เช่นเดิม นักบวชกำมะลอ พูดจาหว่านล้อมล่อลวงว่า “ท่านมีวิธีอย่างไรถึงทำให้เหล่าครุฑจมทะเลได้ เราอยากจะศึกษาไว้เผื่อเอาไว้พิจารณาเรื่องธรรม” ยืนยันว่าจะเก็บไว้เป็นความลับ ปัณทรนาคราช ใจอ่อน จึงเล่าให้ฟังว่า “ก่อนที่พวกเราจะโผล่ขึ้นผิวนํ้า จะกลืนก้อนหินเพื่อถ่วงนํ้าหนักไว้ ครุฑก็ไม่สามารถดึงเราพ้นจากนํ้าทะเลได้”

หลังจาก ท่านพญาครุฑ รู้ไต๋ก็จับหางพญานาค แล้วเขย่าจนหินไหลร่วงออกจากปากจนหมด ปัณทรนาคราช อุทานว่า “โอ้ เรามีภัยเพราะไว้ใจ นักบวชทุศีล ไม่รักษาความลับ” ท่านพญาครุฑ เอะใจร้องว่า “อ้าว นักบวชหลอกเอาความลับจากท่านเหรอ” ว่าแล้วก็ปล่อย ปัณทรนาคราช เป็นอิสระ รำพึงขึ้นว่า “การคิดทรยศต่อมิตรมันอันตรายยิ่งกว่าภัยที่เกิดจากศัตรู!”

ปัณทรนาคราช กับ ท่านพญาครุฑ ตกลงเป็นมิตรไม่คิดร้าย นักบวชกำมะลอ โดน ปัณทรนาคราช เช็คบิล “ผู้ทรยศเอ๋ย! เจ้าไม่รักษาคำมั่นสัญญา ขอให้สมองลามกของเจ้าจงแยกออกเป็น 7 ส่วน” หลังจากสิ้นคำสาป นักบวชชีเปลือย ก็ดิ้นพล่าน โลหิตไหลออกทั้ง 9 ทวาร ดวงจิตดิ่งลงอเวจีมหานรก
 
ในกาลต่อมา นักบวชชีเปลือย เกิดมาเป็น “พระเทวทัต” ปัณฑรนาคราช เกิดมาเป็น “พระสารีบุตร” พญาครุฑ เกิดมาเป็น “พระพุทธเจ้า”
 
นักบวชชีเปลือย ยังห่างไกล “มืออาชีพ” ผู้ที่ได้ชื่อว่า “มืออาชีพ” จะต้องมี 1 ใน 11 คุณลักษณะในระดับพื้นฐาน คือ “ยืนยันในคำมั่นที่ได้ตกลงกันไว้!”
 
“คำมั่น” หมายถึง “การแสดงเจตนาให้ความแน่นอนว่าจะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง” ผู้ใหญ่สอนผมตรงไปตรงมาว่า “ผู้ที่สัญญาช้าที่สุด คือผู้ที่ซื่อสัตย์ในการรักษาสัญญามากที่สุด”

พ่อบอกลูกวัยหกขวบว่า “ลูกไปซื้อผัดไทยที่ร้านปากซอยให้พ่อหน่อยสิ พ่อจะซื้อเสื้อ UT ให้ตัวนึง” ลูกพูดสวนกลับมาทันทีว่า “พ่อบอกว่าจะซื้อให้มาสามครั้งแล้ว ไม่เห็นโผล่มาเลยสักตัว” เดาใจไม่ออกนะว่าบ้านไหนที่เคยมีเคสแบบนี้ ดวงพ่อ กับ ชะตาลูก จะออกหัวหรือก้อย (ฮา)

นักการเมืองที่พูดว่า “การปราศรัยในการหาเสียงไม่ใช่คำมั่นสัญญา” เขาจะเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าฝ่ายการเงินไม่จ่ายเงินเดือนให้ ส.ส. ที่คิดเช่นนั้น โดยแจ้งให้ทราบว่า “การประกาศว่า จะได้โดยสารเครื่องบินฟรี ไม่ใช่คำมั่นสัญญา มันเป็นแค่การบอกข่าวให้กำลังใจ ส.ส. จะได้ขยันช่วยชาวบ้านด้วยความชื่นใจ” (ฮา)

ลองอ่าน คำมั่นสัญญา 8 ข้อ ของโจรสมัยก่อนพุทธกาลดู ผมว่ามันหรูใช้ได้เลยนะ ถ้าไอ้ตัวไหนมันแหกคอกละเมิดข้อตกลง จะโดนรุมเฉดหัวออกไปจากกลุ่ม

1. ไม่ฆ่าคนที่ยอมแพ้
2. ไม่เอาทรัพย์เขาจนหมดสิ้น
3. ไม่ลักพาหญิง
4. ไม่ทำร้ายเด็ก
5. ไม่ปล้นนักบวช
6. ไม่ปล้นของแผ่นดิน
7. ไม่ปล้นใกล้บ้านตน
8. ฉลาดในการเก็บทรัพย์ที่ปล้นได้
 
คนที่ไม่รักษาคำมั่นเป็นอาชีพ ถึงแม้เกิดมาไม่เคยอายใคร ก็อายโจรรุ่นบรมทวดไว้บ้างก็ยังดี (ฮิ้ววววว)