ฉากทัศน์เชิงปริมาณต่อเป้าหมายเศรษฐกิจสำคัญจากนโยบายรัฐบาลใหม่

09 มิ.ย. 2566 | 09:30 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มิ.ย. 2566 | 10:16 น.
829

คอลัมน์เศรษฐศาสตร์นอกขนบ : ฉากทัศน์เชิงปริมาณต่อเป้าหมายเศรษฐกิจสำคัญจากนโยบายรัฐบาลใหม่ โดย สุวิทย์ สรรพวิทยศิริ มูลนิธิ สวค.

เมื่อเกือบ 3 ปีก่อนรัฐบาลได้ออก พ.ร.ก. เงินกู้โควิด 2 ฉบับ วงเงิน 1 ล้านล้านบาทในปี 2563 และ 5 แสนล้านบาท ในปี 2564 เพื่อใช้ในแผนงานสาธารณสุข เยียวยา และกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ผมได้รับโอกาสจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ให้ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม โดยใช้แบบจำลองเศรษฐกิจมหภาค เพื่อประเมินผลของการใช้เงินกู้ดังกล่าวต่อตัวแปรเป้าหมายต่างๆ

ในฐานะที่เป็นคนทำแบบจำลองเศรษฐกิจมายาวนาน เมื่อประเทศไทยกำลังจะมีรัฐบาลใหม่จึงอยากลองใช้แบบจำลองเศรษฐกิจที่สร้างขึ้นมานั้น จำลองภาพอนาคตของการนำนโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่ตามที่ได้หาเสียงไว้ของพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ที่มีต่อเป้าหมายเศรษฐกิจในมิติต่างๆ

บทความนี้เขียนขึ้นมาโดยปราศจากอคติต่อบุคคลและความเชื่อใดๆ เพียงต้องการให้สังคมได้เห็นแนวโน้มที่เป็นไปได้ในเชิงปริมาณ เพื่อวิพากษ์และวิจารณ์กันด้วยเหตุและผลในอนาคต ซึ่งจากผลการศึกษาที่อาศัยความสัมพันธ์ของตัวแปรทางเศรษฐกิจในอดีตที่ไม่นานนักกับข้อมูลเชิงประจักษ์ (Empirical Evidence) ที่เกิดขึ้นแล้ว ใช้ความรู้และสติปัญญาเท่าที่มีในการวิเคราะห์ โดยไม่นำความรู้สึกใดๆ เพื่อนำเสนอฉากทัศน์ในภาพรวมที่เป็นไปได้ เพื่อให้สังคมและรัฐบาลที่จะมาขับเคลื่อนประเทศในอนาคตพึงได้เห็นมุมมองที่คาดว่าจะเป็นไปในการบริหารเศรษฐกิจที่มีกรอบของเป้าหมายที่ชัดเจนและบริหารความเสี่ยงได้อย่างรัดกุมมากยิ่งขึ้น

ก่อนที่จะเข้าใจผลลัพธ์จากแบบจำลองเศรษฐกิจ ผมใคร่แนะนำ “เป้าหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจ” ที่บรรดาผู้รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ เพื่อเป็นพื้นฐานและสร้างความเข้าใจ แนวคิดของพรรคการเมืองในการผลิตนโยบาย เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายเศรษฐกิจทั้ง 4 ด้าน ดังนี้

1) การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

2) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

3) ความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้

และ 4) การจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

40 ปีที่ผ่านมาของพัฒนาการทางเศรษฐกิจประเทศสมัยใหม่ พรรคการเมืองทั้งฝั่งเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยมของไทย มักให้ความสำคัญและวนเวียนอยู่กับข้อ 1) และ 2) เท่านั้น โดยมีสมมติฐานว่า หากข้อ 1) และ 2) ดี จะทำให้เกิดการ trickle-down effect ลงไปที่ 3) และ 4) แต่จนถึงปัจจุบันนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “กลไกเศรษฐกิจตลาดแบบเดิม” แม้จะทำให้บรรลุเป้าหมายขอ 1) และ 2) ได้บ้าง ทำให้คนบางกลุ่มมั่งคั่งมีอำนาจ และเกิดชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นในสังคม แต่เป้าหมายข้อ 3) และข้อ 4) ได้ล้มเหลวไปแล้วอย่างสิ้นเชิงสำหรับประเทศไทย ทั้งความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น และทุนผูกขาดที่ปรากฏเด่นชัด

การเลือกตั้ง เมื่อ 14 พฤษภาคม 2566 พรรคการเมืองฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยสามารถเอาชนะเลือกตั้งและรวบรวมคะแนนเสียงเป็นข้างมาก มีโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล นโยบายของพรรคการเมืองอย่างก้าวไกลจึงย่อมสะเทือน ความเชื่อ การยอมรับ และค่านิยมของคนชั้นนำและคนชั้นกลางในตลาดทุนทั้งในแง่ตัวบุคคลและนโยบาย เพราะเป้าหมายของพรรคให้น้ำหนักไปที่ข้อ 3) และ 4) นั่นเอง

อย่างไรก็ตามหากประเทศไทยไม่มีภาวะความผิดปกติทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 จนกระทั่งจนถึงปัจจุบัน ฐานะทางเศรษฐกิจ ฐานะการคลัง ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ น่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเกาหลีใต้ ไต้หวัน หรือ มาเลเซีย ในปัจจุบันนี้

หมายความว่า เรามีค่าเสียโอกาสไปมหาศาล ที่ทำให้ในปัจจุบัน เราถูกจัดกลุ่มอยู่ในกลุ่ม TIP (Thailand Philippines Indonesia) และบางครั้งก็อยู่ในกลุ่ม CLMVT ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะหลุดออกจากกลุ่มรายได้ปานกลาง การพัฒนาทางเศรษฐกิจติดหล่มตามคำกล่าวที่ว่า

“ตอนมัธยมบ้านกูอยู่ชานเมือง พอเริ่มกูทำงานกลายเป็นเทศบาล ปัจจุบันคือสลัม” (อั่งจินสุ์, 2566) คนจำนวนมากยังอยู่ใน informal Sector ไม่สามารถย้ายตัวเองเข้าสู่ formal Sector ได้

นี่คือ ผลลัพธ์การพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ผ่านความจริงของผู้ชายวัยใกล้ 50 ปี (Gen X)

การก่อหนี้ที่ไร้ประสิทธิภาพในช่วง 2557 จนถึง 2566 ทำให้หนี้สาธาณะเพิ่มขึ้นขึ้นมา 10.8 ล้านล้านบาท หรือ 61% ของ GDP สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้เฉลี่ยไม่ถึง 2% ต่อปี ทำให้ผลิตภาพแรงงานอยู่ในระดับต่ำ ที่สำคัญฐานะการคลังที่ขาดดุลเงินสดปีละ 6-7 แสนล้านบาทต่อปี ทำให้รัฐบาลใหม่ที่จะมาทำงานต่ออยู่ในสภาพที่ไร้กระสุนในยามที่จำเป็นต้องใช้กระสุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างระบบขับเคลื่อนประเทศใหม่

มรดกหนี้สาธารณะและแรงงานที่สูงวัย พร้อมทั้งข้อจำกัดด้านงบประมาณ กลไกรัฐราชการที่เต็มไปด้วยความฉ้อฉลไร้ประสิทธิภาพ โลกรวนและภูมิรัฐศาสตร์ไม่สร้างแต้มต่อให้รัฐบาลใหม่เลย และการบริหารประเทศจะเต็มไปด้วยอุปสรรค

ก่อนที่รัฐบาลผสมฝั่งเสรีประชาธิปไตยจะมีโอกาสได้ทำงานตาม MOU ร่วมกัน ผมพยายามตีความนโยบายเศรษฐกิจและที่เกี่ยวข้องให้รัดกุมที่สุด เพื่อคำนวณงบประมาณที่จะใช้สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายของทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย แล้วใช้แบบจำลองเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Model) ประเมินผลกระทบของนโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่ในกรอบระยะเวลา 2567-2570 เปรียบเทียบกับแนวทางของรัฐบาลปัจจุบันของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีสมมติฐานที่สำคัญคือ

1) ตัวแปรภายนอกเหมือนกันทุกกรณี ทั้งอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจคู่ค้า ราคาน้ำมันดิบ อัตราแลกเปลี่ยน นักท่องเที่ยวต่างชาติ ราคาสินค้าเกษตร ราคาสินค้าส่งออก เป็นต้น

2) ตัวแปรภายในปรับตัวปรับตัวตามระบบสมการในแบบจำลอง เช่น อัตราดอกเบี้ย รายได้รัฐบาล สินเชื่อ ตลาดแรงงาน เป็นต้น

3) ข้อสมมติฐานอื่น ๆ

3.1 พรรคเพื่อไทยเริ่มใช้เงินดิจิทัลในปี 2567

3.2 พรรคก้าวไกล แก้ไขรัฐธรรมนูญ กระจายอำนาจเสร็จมีการเลือกตั้งผู้ว่าในปี 2570

 

ผลจากการใช้แบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคสร้างฉากทัศน์ทางเศรษฐกิจต่อตัวแปรเป้าหมายที่คัดเลือกมานำเสนอประกอบด้วย

 

รูปที่ 1: นโยบายพรรคการเมืองต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

รูปที่ 2: นโยบายพรรคการเมืองต่อหนี้สาธารณะต่อ GDP

 

หนทางข้างหน้าของเศรษฐกิจไทยและรัฐบาลใหม่ไม่มีปาฏิหาริย์ ไม่มีลมใต้ปีก ฉากทัศน์ทั้งสามแบบ

1) การใช้นโยบายก้าวไกลนำในกรณีที่ดีที่สุด (best case) คือ ใช้จ่ายเงินตามนโยบายหาเสียงหลัก ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ แก้ไขรัฐธรรมนูญและกระจายอำนาจจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นในระยาว ที่มีความเสี่ยงทางด้านการเงิน ต้นทุนทางการเงิน ภาระการคลัง หนี้สาธารณะ เพิ่มขึ้น หากดำเนินการไม่สำเร็จจะสร้างหายนะทางเศรษฐกิจ แต่หากสำเร็จจะสร้างประเทศใหม่ที่ไม่เหมือนเดิมอีกเลย หากรื้อโครงสร้างของทุนและกระจายอำนาจสำเร็จ ภูมิต้านทานทางเศรษฐกิจจะสูงขึ้น ความยั่งยืนและความสามารถในการแข่งขันจะดีขึ้นต่อเนื่อง

2) การใช้นโยบายเพื่อไทยนำในกรณีที่ดีที่สุด คือ การใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ในระยะสั้น ไม่ได้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและจัดสรรทรัพยากรใหม่ มุ่งเน้นการการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทางด้านอุปสงค์ ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนการจัดการอุปทานอย่างช้าๆ ผลที่เกิดขึ้นคือ ตัวเลขเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่สิ่งที่ท้าทายคือ ความยั่งยืนในระยะยาว ความเหลื่อมล้ำและการกระจายรายได้ และภูมิต้านทางเศรษฐกิจต่ำและอ่อนเสถียรภาพ

3) การใช้นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลเดิมเป็นความเสี่ยงในทุกกรณี ความเปราะบางจากการที่เศรษฐกิจเติบโตต่ำ พร้อมที่พังทลายได้ในทุกกรณี เมื่อมีผลกระทบจากภายในหรือภายนอก ผลิตภาพการผลิตโดยรวมจะต่ำ เนื่องจากไม่มีการเพิ่มผลิตภาพ การดำเนินธุรกิจมีต้นทุนสูง สูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน สมองไหล พึ่งพาต่างประเทศสูง

หากออกแบบนโยบายเศรษฐกิจที่เหมาะสมสำหรับรัฐบาลใหม่ให้สอดคล้องกับ MOU รัฐบาลผสมก้าวไกลและเพื่อไทย ต้องจัดลำดับนโยบายระยะสั้น (กระตุ้นเงินดิจิทัล) จำเป็นเร่งด่วน และวางกรอบระยะเวลาในระยะต่อไปสำหรับนโยบายรัฐสวัสดิการและรื้อโครงสร้างทุน แก้รัฐธรรมนูญ กระจายอำนาจ ที่จะมาเพิ่มผลิตภาพผลิตในระยะต่อไป ให้มีเงินใช้สำหรับนโยบายรัฐสวัสดิการ

โดยความเสี่ยงด้านภาระการคลัง ค่าเงินบาท ต้นทุนดอกเบี้ย จะไม่เอื้อต่อการดำเนินนโยบายรัฐสวัสดิการ หากไม่สามารถจุดติดเศรษฐกิจให้เติบโตแรงในระยะสั้นได้

พึงระลึกไว้เสมอว่า นโยบายที่ดีต้องอาศัยช่วงเวลาดีและจังหวะที่ได้ โดยทุก 1% ของ GDP ที่เพิ่มขึ้นจะสร้างรายได้รัฐบาลเพิ่มขึ้นเกือบ 2 แสนล้านบาท (Government Revenue Elasticity) ในทางกันข้ามหากเศรษฐกิจโตต่ำ การขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นทุก 1 แสนล้านบาท จะทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้น 0.5%

ประเทศไทยไม่มีทางเลือกมากนักเพราะว่าโอกาสหายไปแล้ว 9 ปี มีเวลาเหลือไม่มากนักก่อนที่ฐานะทางเศรษฐกิจจะไหลลึกจนเกินกว่าจะฟื้นฟูได้ รัฐบาลใหม่แบกความหวังของประชาชนไว้สูงมาก การจัดลำดับนโยบายจึงจำเป็น เงินและรายจ่ายเงินกู้ทุกโครงการต้องตรงจุดและสร้าง impact ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้

อนึ่งผลลัพธ์จากแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคต่อตัวแปรเศรษฐกิจมหภาคอื่นๆ ประกอบด้วย การบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน ดุลบัญชีเดินสะพัด อัตราเงินเฟ้อ ดุลการคลัง ทุนสำรองระหว่างประเทศ อัตราผลต่อแทนพันธบัตร การจ้างงาน ชั่วโมงการทำงาน การออมภาคครัวเรือน เป็นต้น ไม่ได้นำมาเสนอเนื่องจากต้องการสร้างความเข้าใจให้ง่ายแก่ความเข้าใจไม่ยาวนัก ซึ่งจะหาโอกาสนำเสนอในครั้งต่อๆ ไป