เมื่อผู้สูงอายุที่เกิดอาการอัลไซเมอร์

12 ก.พ. 2565 | 06:30 น.
2.4 k

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อวันก่อนมีแฟนคลับท่านหนึ่งโทรเข้ามาเล่าให้ฟังว่า เขามีคุณแม่ที่สูงอายุที่เริ่มเป็นอาการแปลกๆ ซึ่งเรื่องมีอยู่ว่า เขาได้ว่าจ้างเด็กรับใช้คนหนึ่ง คอยดูแลคุณแม่เป็นพิเศษ ซึ่งได้รับใช้มานานหลายปีแล้ว แต่ระยะหลังๆ มานี้ ที่สังเกตุเห็นคือเมื่ออยู่ในที่ลับตาคน ท่านมักจะหยิกเด็กคนนี้เสมอ เขาจึงอยากจะทราบว่า ชีวิตคนชราที่เป็นเช่นนี้ คืออาการของโรคอะไร?
 

อันที่จริงแล้ว ผมก็ไม่ใช่แพทย์หรือพยาบาล แต่เขาอาจจะเข้าใจผิดคิดว่าผมรู้เรื่องดี ผมขอรับสารภาพเลยว่า ถึงแม้ผมจะมีสถานบ้านพักคนวัยเกษียณ ก็ไม่ได้รู้ดีไปเสียหมดทุกเรื่อง ผมจึงนำเรื่องดังกล่าวนี้ไปสอบถามแพทย์ที่สนิทกัน คุณหมอก็ซักถามผมถึงอาการอีกหลายเรื่อง ผมก็ไม่สามารถตอบได้ เพราะไม่ใช่คุณแม่ผม อย่างไรก็ตาม ผมก็สันนิษฐานเอาเองว่า น่าจะเป็นอาการของโรคอัลไซเมอร์ เพราะเพื่อนก็เล่าให้ฟังว่า ท่านมักจะพูดซ้ำๆถามซ้ำๆเป็นบางเวลาครับ ซึ่งก็เป็นที่น่ากังวลของลูกหลาน นั่นก็คืออาการเกิดอัลไซเมอร์นั่นเองครับ
 

โรคอัลไซเมอร์ซึ่งตามความเข้าใจของเรา มักจะเกิดกับคนสูงวัยเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะมีอาการลืมนั่นลืมนี่อยู่ตลอดเวลา คนอายุมากจะเกิดขึ้นได้เสมอ บางครั้งทานข้าวแล้วก็บอกยังไม่ได้ทาน เพิ่งอาบน้ำเสร็จก็จะบ่นว่าลูกหลานไม่ให้อาบน้ำมาหลายวันแล้ว หรือบางครั้งหลงออกไปนอกบ้านก็หาทางกลับบ้านไม่เจอ ที่น่ากังวลใจมากที่สุดคือมักจะเกิดอารมฉุนเฉียว โกรธง่าย จนถึงขั้นอาละวาดก็มีครับ เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่เป็นลูกหลานก็จะต้องมีความอดทนอดกลั้นให้มากเป็นพิเศษละครับ อย่างมากก็พาไปพบแพทย์หรือที่หนักหนาสาหัสจริงๆ บางคนก็พาไปส่งให้บ้านพักคนชราเป็นผู้ดูแลไปเลยครับ

 

ซึ่งต้องบอกว่าวิธีสุดท้ายนี้น่าสมเพจมากที่สุดครับ เพราะอย่าลืมว่า ที่บ้านพักคนชราที่ท่านส่งไปแล้วเจอบ้านที่รับผิดชอบดี หรือบ้านที่มีใจเมตตาก็โชคดีไป แต่ถ้าโชคร้ายไปเจอบ้านพักที่ผู้บริบาลที่มีความอดทนต่ำ ก็ไม่อยากจะคิดเลยครับ
 

ที่ประเทศญี่ปุ่น ผมเคยไปเยี่ยมชมสถานบ้านพักคนวัยเกษียณแห่งหนึ่ง เขาจะแยกเอาผู้พักที่มีอาการอัลไซเมอร์ไปรวมอยู่ในห้องรวมเดียวกัน ภายในห้องนั้นมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน แต่ประตูห้องเขาจะใช้วิธีใช้กุญแจล็อคด้วยระหัสเลขสี่หลัก เพื่อป้องกันไม่ให้คนชราที่เป็นอัลไซเมอร์ เปิดประตูออกมานอกห้องได้ เพราะคนที่มีอาการอัลไซเมอร์ มักจะไม่สามารถจดจำหมายเลขได้นั่นเอง ซึ่งก็เป็นลักษณะที่ดูเหมือนว่าไม่ได้คุมขัง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ก็คล้ายๆกับห้องขังชัดๆเลยครับ
 

ในขณะที่อารมณ์ฉุนเฉียว โกรธง่ายและอาละวาด ได้มีนักจิตวิทยาชาวฝรั่งเศสได้ทำการวิจัย พบว่าควรจะใช้วิธี “Humanities Care Methodology” ซึ่งรายละเอียดมีว่า การดูแลผู้สูงวัยที่มีอาการอัลไซเมอร์ ผู้บริบาลหรือผู้คนที่สัมผัสกับผู้ป่วยพึงปฎิบัติคือ ประการแรก จะต้องไม่ยืนหรือนั่งที่มีศรีษะสูงกว่าผู้ป่วย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยที่ไม่มีสติสัมปชัญญะ รู้สึกว่าต่ำต้อยกว่านั่นเอง
 

อันดับต่อมาเมื่อพูดคุยกับผู้ป่วยจะต้องใช้คำพูดที่สุภาพ ไม่พูดแรงหรือเสียงดังเกินไป เพราะจะทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกว่า คู่สนทนาไม่มีความเคารพต่อตน สุดท้ายคือเวลาที่สนทนากัน จะต้องใช้มือเอื้อมไปสัมผัสที่มือหรือกุมมือผู้ป่วยไว้ แล้วค่อยๆเจรจากับผู้ป่วย อีกทั้งต้องหมั่นใช้มือไปแตะที่บ่าหรือไหล่ของผู้ป่วยเสมอ จะทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกถึงความใส่ใจและรักใคร่จากคู่สนทนา การระมัดระวังในการดูแลนี้ ดูเหมือนว่าจะง่ายๆ แต่บางครั้งคนทั่วไปอาจจะมองข้าม

อันที่จริงแล้ว ในความคิดของผม ผมคิดว่าที่ประเทศไทยหรือคนไทยเราเอง ก็มีมารยาทอันดีงามนี้อยู่ในตัวอยู่แล้ว เช่นตามประเพณีนิยม คนไทยเราจะไม่ยืนค้ำหัวผู้ใหญ่เสมอ อีกทั้งเวลาเดินผ่านผู้ใหญ่ เราก็จะต้องก้มหัวย่อตัวเดินผ่าน นี่คือมารยาทที่เราได้รับการสั่งสอนมาตั้งแต่เด็กๆแล้วละครับ หรือว่าการพูดจากับผู้หลักผู้ใหญ่ เราก็จะถูกสั่งสอนให้มีสัมมาคาราวะ ไม่ให้พูดจากรรโชกโฮกฮากแบบไร้มารยาท อีกทั้งจะต้องอ่อนโยนในการสนทนาเสมอครับ
 

ส่วนข้อสุดท้ายคือการให้ความรักความอบอุ่น ผมเองก็เชื่อว่าคนไทยเรามีอยู่ในตัวอยู่แล้วนะครับ จึงไม่ใช่เป็นอะไรที่แปลกใหม่ แต่สำหรับสังคมชาวตะวันตก เขาคงจะด้อยกว่าเราในด้านนี้มาก จึงไม่แปลกใจที่หญิงไทยจะผูกใจชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาติตะวันตกได้อย่างดียิ่งครับ
 

ในทางทฤษฎี “Humanities Care Methodology” ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถมีผลสัมฤทธิ์หรือไม่ บางครั้งการวิจัยก็ใช่ว่าจะเป็นจริงไปเสียทุกอย่าง ดังนั้นก็ต้องฟังหูไว้หูนะครับ หรือท่านใดที่มีบุพการีที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ ก็สามารถนำมาทดลองใช้วิธีนี้ดูได้นะครับ เพราะไม่ได้เสียหายอะไร อีกทั้งยังไม่ต้องใช้ยูกยาอะไร ที่สำคัญไม่ต้องเสียตังค์ไงละครับ ทดลองดูก็ได้นะครับ