ชีวิตบั้นปลายของคนโสด

29 ม.ค. 2565 | 06:57 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ม.ค. 2565 | 14:01 น.
5.3 k

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

หลายวันก่อน ผมนั่งสนทนากับเพื่อนรักท่านหนึ่ง เราพูดถึงปัญหาปัจจุบันนี้ที่ประเทศจีน ได้เปิดให้มีการมีบุตรเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่อนุญาตให้คนชาวฮั่น มีบุตรแค่คนเดียว ส่วนชนชาติพันธุ์อื่นๆ มีได้สองคน แต่ปัจจุบันนี้ได้อนุญาตให้มีมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาของสังคม 


ซึ่งผมเองก็มีความคิดเห็นว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุดแล้ว เพราะยุคที่มีบุตรคนเดียว เป็นยุคที่น่าเห็นใจคนรุ่นนั้นมาก ที่จะต้องแบกรับภาระรุ่นพ่อ-แม่ของทั้งสองฝั่งสี่คน สามี-ภรรยาอีกสองคน ลูกอีกหนึ่งคน ถ้าสามีทำงานคนเดียว คงรับภาระนี้ยากมากๆ ปัญหาสังคมก็จะตามมาอีกบานตะไทเลยละครับ

ในขณะที่สังคมบ้านเราเอง ก็มีปัญหาเรื่องคนไม่ค่อยอยากจะมีครอบครัวกันสักเท่าไหร่ เพราะจะต้องแบกรับภาระต่างๆ อีกมากมาย ทั้งความแตกต่างของสังคมในครอบครัวเก่า ที่มีทั้งพ่อ-แม่ พี่-น้องของทั้งสองฝั่ง แน่นอนครับว่า บางคนอาจจะไม่แคร์สังคมญาติพี่-น้อง แต่บางคนเช่นผม ผมเองค่อนข้างจะแคร์และให้ความสำคัญต่อญาติพี่น้อง และสังคมครอบครัวมาก 


คงเป็นเพราะผมได้รับการศึกษาแบบจีนมา ขงจื้อ-ม่งจื้อจึงมีอยู่เต็มหัว ทำให้มีความคิดที่บางคนอาจจะมองว่าโบราณ แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังมีการให้ความสำคัญกับครอบครัวมากครับ ดังนั้นผมจึงมองว่าการมีครอบครัวเป็นการสืบทอดของการขยายมนุษยชาติโดยเป็นธรรมชาติที่สุด ตามหลักของธรรมชาติวิทยา ดังนั้นบางท่านอาจจะไม่เห็นด้วยกับความคิดของผม ก็ต้องขออนุญาตแสดงความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ มิบังอาจไปพูดว่ากล่าวใครใดๆ ทั้งสิ้นครับ

คนที่ไม่ยอมมีครอบครัวด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม ทุกคนย่อมมีสิทธิที่สามารถทำได้ โดยไม่ผิดหรอกครับ อีกทั้งในช่วงที่ยังวัยรุ่นอยู่ อาจจะมีอิสระเสรีกว่าคนที่มีครอบครัวแล้วเสียอีก สามารถทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องกังวลเรื่องของการเก็บหอมรอมริบ เพื่อส่งต่อมรดกให้แก่ลูกๆ แต่เมื่อใดก็ตามที่วัยชราเข้ามาถึงตัว คนที่ไม่มีคู่เป็นเพื่อนข้างกาย ก็จะมีความรู้สึกเหงาขึ้นมาจับใจเลยละครับ 


ดังนั้นพนักงานของผมทุกคน ถ้ายังครองตัวเป็นโสดอยู่ จนกระทั่งเลยวัยสามสิบห้าปีไปแล้ว ผมก็มักจะยุยงส่งเสริมให้รีบหาคู่เสีย และผมมักจะบอกว่า อย่าได้คิดว่าการมีคู่ไม่สำคัญ วันใดที่เราเจ็บไข้ได้ป่วย เราจะรู้สึกทันทีว่า คู่ครองนั้นสำคัญมากๆ และถ้าหากมีคู่ครองแล้ว ผมก็จะยุยงส่งเสริมให้รีบๆ มีลูกเถอะ เพราะหากแก่ตัวไปแล้วไม่มีลูก-หลานมาคอยดูแล แล้วจะให้ใครมาดูแลแทนละครับ
    

ผมมีเพื่อนอยู่คนหนึ่ง ในช่วงที่ยังอายุไม่มาก เขาก็แต่งงานตั้งแต่อายุยี่สิบปลายๆ เขาบอกผมว่า เขาจะไม่มีลูกโดยเด็ดขาด ผมก็ถามว่า แล้วคุณไม่คิดที่จะมีทายาทสืบสกุลบ้างเลยเหรอ เขาตอบว่าเขามีพี่-น้องหลายคน แต่ละคนก็มีลูกกันเยอะแยะ ดังนั้นเขามีหลานก็เพียงพอแล้ว 


ซึ่งในยุคนั้นผมก็ไม่ได้ถกเถียงอะไรกับเขา แต่ต่อมา พออายุย่างเข้าวัยสี่สิบกว่าๆ ภรรยาคนเดิมก็หย่าขาดจากกัน เขาได้แต่งงานกับภรรยาคนใหม่ คราวนี้เขารีบมีลูกเลย จึงถามเขาว่า ทำไมเราอายุมากแล้วถึงคิดอยากจะมีลูกละ เขาตอบว่าอย่างน้อยเวลาที่เราตายขึ้นสวรรค์ งานศพเรายังมีคนถือกระถางธูป ถือรูปถ่ายเราหน้าศพให้ 


อีกอย่างเวลาทำกงเต็ก ก็ยังมีคนถือไม้แขวนเสื้อเรา แทนวิญญาณเรา พาเราเดินข้ามสะพาน ก็ดีเหมือนกันนะ ซึ่งผมเข้าใจว่า เขาน่าจะเข้าใจในชีวิตมากขึ้นกว่าสมัยยังเป็นวัยรุ่นอยู่ แต่แกล้งเอาเรื่องตลกมาพูด เพื่อหาข้อแก้ตัว จะได้ไม่เขินครับ
     

หากจะพูดถึงข้อดีและข้อเสียของการมีครอบครัว ผมคิดว่าเถียงกันสามวันสามคืนก็ไม่จบ  เอาเป็นว่าในความคิดเห็นสวนตัวของผมเท่านั้นนะครับ ผมคิดว่าอย่างไรก็ตาม เราไม่ควรจะฝืนธรรมชาติ ควรให้ธรรมชาติเป็นตัวตัดสิน ว่าเราควรจะมีผู้สืบสันดานหรือไม่ 


ส่วนหากเรามีบุตรแล้ว เราก็ไม่ควรจะต้องไปคาดหวังว่า เขาจะต้องกลับมากตัญญูดูแลเราหรือไม่อย่างไร ถ้าเขาเห็นเราที่เป็นพ่อแม่ ที่มีความกตัญญูรู้ต่อคุณพ่อแม่ของเรา ผมก็เชื่อว่า ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้นอย่างแน่นอนครับ ดังนั้นเราเป็นผู้ที่สร้างรอยเท้าให้ลูกเดิน เราควรจะต้องทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ
 

ในขณะที่หากเราไม่มีโอกาสได้มีผู้สืบสกุลจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเพราะความต้องการของเราเอง หรือเป็นเพราะธรรมชาติไม่ให้เราได้มีก็ตาม เราก็ควรจะต้องรีบสะสมทรัพย์ศฤงคารไว้เยอะๆ สักวันหนึ่งเมื่อเราแก่ตัวลง เราก็ต้องอาศัยทรัพย์เหล่านั้น มาแสวงหาสถานที่ๆ เราสามารถพึ่งพาได้ หรืออาจจะจำเป็นต้องใช้ทรัพย์นั้น มาเป็นสิ่งจูงใจหลานๆ หรือลูกหลานคนอื่นมาดูแลเราก็ได้นะครับ อย่าได้ประมาทสนุกไปวันๆ ละครับ