สิ่งที่จะเปลี่ยนไปหลังจีนปราบการผูกขาดของบริษัทเทคยักษ์

14 ก.ค. 2564 | 11:54 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ก.ค. 2564 | 05:54 น.
2.1 k

สิ่งที่จะเปลี่ยนไปหลังจีนปราบการผูกขาดของบริษัทเทคยักษ์ : คอลัมน์ลวดลายมังกร หน้า 4 ฉบับ 3696 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 15-17 ก.ค.2564 โดย... มาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ 

ทำไมต้องปราบ - ปีนี้ถือเป็นปีแห่งการปราบการผูกขาดของบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ของจีน ด้วยบทลงโทษที่เข้มข้นหลากหลาย ในระยะอันรวดเร็ว และครอบคลุมวงกว้าง บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำตั้งแต่กลุ่ม Alibaba ถึง Tencent และอื่นๆ รวมกันหลายสิบบริษัท ต่างโดนบทลงโทษกันทั่วหน้า 

 

เป็นเหตุให้ราคาหุ้นของบริษัทเทคโนโลยีตกระเนระนาดจากต้นปี ผู้เขียนจะไม่ขอลงรายละเอียดว่ามีบริษัทไหนโดนบทลงโทษอย่างไร เพราะมีข่าวเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว แต่จะขอเล่าถึงเหตุผลและวิเคราะห์ผลกระทบที่จะตามมา ผู้เขียนเชื่อว่าเหตุผลที่รัฐบาลจีนลุกขึ้นมาปราบการผูกขาดอย่างดุเดือดในปีนี้นั้น มีอยู่สองเหตุผลด้วยกัน ได้แก่ 

 

1) การเติบใหญ่ของระบบนิเวศน์ดิจิตอลกระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่ค่าย บริษัทสตาร์ทอัพเทคโนโลยีจำเป็นต้องเลือกค่าย เพื่อจะได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านฐานผู้ใช้และแน่นอนในด้านเงินทุนจากค่ายหลักๆ สตาร์ทอัพที่ไม่มีสังกัดค่ายก็อาจจะไม่สามารถเข้าถึงฐานผู้ใช้แบบเท่าเทียมกัน 

 

นอกจากนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้มีโมเดลธุรกิจเป็นแบบแพลตฟอร์มเกือบทั้งนั้น ซึ่งหากเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเทคโนโลยีในเชิงลึก เพื่อสร้างความเป็นอิสระในเชิงเทคโนโลยีจากโลกตะวันตก อันเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินนโยบายของจีนท่ามกลางความกดดันภายนอก 

 

                                  สิ่งที่จะเปลี่ยนไปหลังจีนปราบการผูกขาดของบริษัทเทคยักษ์

2) ปีนี้เป็นปีฉลองครบ 100 ปีของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่ในขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้มีจำนวนผู้ใช้ มากกว่าสมาชิกพรรคหลายเท่า และสามารถมีอิทธิพลต่อกระแสความคิดของประชาชนได้ในวงกว้าง เป็นธรรมดาที่สิ่งใดในประเทศที่มีโอกาสท้าทายความเด็ดขาดของสถาบันสูงสุด อันอาจเป็นผลต่อการดำเนินนโยบายในอนาคตย่อมต้องถูกลดทอนลงแต่เนิ่นๆ 

 

บริษัทสตารท์อัพไม่ต้องเลือกค่ายแล้ว เม็ดเงินลงทุนจะกระจายตัวมากขึ้น และเน้นพัฒนาเทคโนลยีเชิงลึก – บริษัทสตาร์ทอัพจีนมักจะโฆษณาว่าธุรกิจหรือแม้กระทั่งผู้ลงทุนอยู่ในค่ายยักษ์ใหญ่ใด เพื่อเป็นการจูงใจว่าโมเดลธุรกิจของตนเองจะมีการสนับสนุนที่ดี แต่จากนี้ไปผู้เขียนเชื่อว่าบริษัทสตาร์ทอัพจีนต่างๆ จะไม่ต้องพยายามเลือกค่ายและการผูกกับค่ายใดค่ายหนึ่ง อาจถูกมองเป็นข้อเสียเปรียบในแง่ของการกำกับดูแล 


 

ดังนั้น การพัฒนาเทคโนโลยีหรือการกำหนดโมเดลธุรกิจจะมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น การเข้าถึงแหล่งเงินทุนก็ไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะเป็นเงินของค่ายไหน หากแต่พิจารณาจากเงื่อนไขต่อการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นสำคัญ 

 

การเติบโตของบริษัทเทคยักษ์ใหญ่อาจจะชะลอตัวลงบ้างในระยะสั้น แต่น่าจะทำให้มีบริษัทเทคโนโลยีขนาดเล็กที่เป็นอิสระเติบโตเพิ่มขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศ และที่สำคัญประเทศจีนต้องการให้มีบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีในเชิงลึกมากกว่าโมเดลธุรกิจแบบแพลตฟอร์ม เพื่อให้มีความเป็นอิสระจากโลกตะวันตกอย่างสมบูรณ์แบบ 

 

หมายเหตุ: ความเห็นในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่ผู้เขียนสังกัดอยู่แต่อย่างใด ผู้อ่านสามารถแสดงความเห็นได้ที่ facebook: manop sangiambut

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : นายมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ มีประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุนและการเงินในประเทศจีนกว่า 15 ปี ในอดีตเคยเป็นหัวหน้านักวิเคราะห์หุ้นจีน เอ แชร์ และข้าราชการกระทรวงการคลัง จบการศึกษาปริญญาตรีด้านสาระสนเทศการบัญชี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญโท MBA จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลล่อน สหรัฐอเมริกา