การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค กำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว ภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อคนไทยและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
กำหนดการที่สำคัญ ในช่วง สัปดาห์การประชุมผู้นำฯ นี้ (14-19 พ.ย.) จะเริ่มจาก
14 พฤศจิกายน 2565
10.00 น. รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน การประชุมกองอำนวยการร่วมศูนย์รักษาความปลอดภัยการประชุมเอเปค ณ ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถนนพระรามที่ 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
11.30 น. ตัวแทนเยาวชนจากเขตเศรษฐกิจเอเปคใน โครงการ APEC Voices of the Future เข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อมอบแถลงการณ์เยาวชน ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
14.00 น. นายกรัฐมนตรีเป็นประธานใน พิธีเปิดนิทรรศการนำเสนอความสำเร็จ การขับเคลื่อนวาระเศรษฐกิจ BCG ในช่วงสัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ณ ฮอลล์ 2 ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขตคลองเตย กรุงเทพฯ
15 – 16 พฤศจิกายน 2565
การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสครั้งสุดท้าย เพื่อสรุปผลการทำงานที่สำคัญของเอเปคตลอดทั้งปี เจรจาจัดทำเอกสารผลลัพธ์การประชุม และเตรียมการสำหรับ 2 การประชุมสำคัญที่จะมีตามมา คือ
การประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 33 ซึ่งจะเป็นการประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีการค้า/เศรษฐกิจของเอเปค ในวันที่ 17 พฤศจิกายน และ
การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 18 – 19 พฤศจิกายน
16 – 18 พฤศจิกายน 2565
การประชุม APEC CEO Summit เอเปคกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจของเอเปคจะแลกเปลี่ยนมุมมองกับภาคเอกชน
17 พฤศจิกายน 2565
การประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 33 ซึ่งจะเป็นการประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีการค้า/เศรษฐกิจของเอเปค
18 – 19 พฤศจิกายน 2565
การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะหารือแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในยุคหลังโควิด-19 ให้ครอบคลุมและยั่งยืนท่ามกลางบริบทโลกที่ท้าทาย และผลักดันให้ผู้นำร่วมกันรับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” เพื่อให้เอเปคมีทิศทางการทำงานที่ชัดเจนเพื่อสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาว โอกาสนี้ กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะเข้าร่วมการประชุมเพื่อนำเสนอภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2565 ด้วย
นอกจากนี้ เพื่อให้การหารือของผู้นำสะท้อนมุมมองของหุ้นส่วนสำคัญของเอเปคได้อย่างครอบคลุม ไทยในฐานะเจ้าภาพฯ ได้เชิญนายกรัฐมนตรีกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียน มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรี ซาอุดีอาระเบีย และประธานาธิบดีฝรั่งเศส เข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเปคในฐานะ “แขกพิเศษ” ด้วย เพื่อหารือร่วมกันถึงแนวทางการขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืนระหว่างเอเปคกับคู่ค้านอกภูมิภาค และแนวทางการรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ
สำหรับรายละเอียดมี ดังนี้
18 พ.ย. 2565
09.15-11.00 น. เป็นการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 อย่างเป็นทางการ ช่วงที่ 1 เรื่องการเติบโตอย่างสมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน
11.15-12.30 น. เป็นการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้นำกับแขกพิเศษ
13.00-14.30 น. งานเลี้ยงอาหารกลางวันระหว่างผู้นำกับแขกพิเศษ
14.45-15.45 น. การหารือระหว่างผู้นำกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค
17.30 น. ผู้นำเอเปคและคู่สมรส รวมทั้งแขกพิเศษ เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบมราชินี ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
19 พ.ย. 2565
การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 29 อย่างไม่เป็นทางการ ช่วงที่2 เรื่องการค้าและการลงทุนที่เปิดกว้างและยั่งยืน จากนั้น 11.30-11.45 น. จะมีการแถลงข่าวโดยนายกรัฐมนตรี
ภายหลังการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 29 เสร็จสิ้นลง นายกฯมีกำหนดหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำจีน และนางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
วันที่ 14 – 19 พฤศจิกายน จะมี กิจกรรมเยาวชนเอเปค APEC Voices of the Future 2022 (มีกิจกรรมเริ่มมาตั้งแต่ 12 พฤศจิกายน) นำเสนอแนวคิดจากตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่ของเอเปคกว่า 101 คนจาก 14 เขตเศรษฐกิจ มาร่วมสะท้อนวิสัยทัศน์อนาคตของภูมิภาค นอกจากการจัดทำแถลงการณ์เยาวชนเอเปคยื่นต่อนายกรัฐมนตรีของไทยแล้ว ตัวแทนเยาวชนยังจะได้พบกับนักธุรกิจชั้นนำของไทยและภูมิภาคในกิจกรรมคู่ขนานอื่น ๆ ของเอเปค 2022 ด้วย
การจัดประชุมครั้งนี้จะเป็นโอกาสให้ไทยได้แสดงศักยภาพและความพร้อมในการต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมตลอดทั้งสัปดาห์ โดยให้ความสำคัญกับการจัดการประชุมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ “green meeting” พร้อมกับการนำเสนอความโดดเด่นทางวัฒนธรรมผ่านอาหารไทย ของที่ระลึก และการแสดงทางวัฒนธรรมซึ่งนอกจากจะแสดงออกถึงภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์และความงดงามของศิลปวัฒนธรรมไทยแล้ว ยังสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ที่เน้นส่งเสริมความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญของการเป็นเจ้าภาพเอเปค 2022 ของไทยในปีนี้
เกี่ยวกับผู้นำและตัวแทนที่จะเข้าร่วมประชุม
การประชุมครั้งนี้จะมีผู้นำเดินทางมาร่วมประชุมด้วยตนเอง จำนวน 14 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม จีน ฮ่องกง บรูไน ฟิลิปปินส์ ปาปัวนิวกินี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น แคนาดา และชิลี
ส่วนเขตเศรษฐกิจที่ส่งผู้แทนมาร่วมประชุม มีจำนวน 6 เขต ได้แก่ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก และเปรู
มีรายนามผู้นำและตัวแทนผู้นำ ดังนี้ (เรียงตามลำดับอักษรชื่อเขตเศรษฐกิจในภาษาอังกฤษ)
ออสเตรเลีย นายกรัฐมนตรี นายแอนโทนี แอลบาเนซี
(The Honourable Anthony Albanese MP)
บรูไนดารุสซาลาม สมเด็จพระราชาธิบดี พระองค์ที่ 29 และนายกรัฐมนตรีสมเด็จพระราชาธิบดีฮาจี ฮัซซานัล บลเกียะฮ์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละฮ์ อิบนี อัล-มาร์ฮุม ซุลตัน ฮาจี โอมาร์ อาลี ไซฟุดดีน ซาอาดุล ไครี วัดดิน (His Majesty Sultan Haji Hassanal Bolkiah Mu’izzaddin Waddaulah Ibni Al-Marhum Sultan Haji Omar ‘Ali Saifuddien Sa’adul Khairi Waddien)
แคนาดา นายกรัฐมนตรี นายจัสติน ทรูโด (The Right Honourable Justin Trudeau)
ชิลี ประธานาธิบดี นายกาบริเอล โบริก ฟอนต์ (H.E. Mr. Gabriel Boric Font)
จีน ประธานาธิบดี นายสี จิ้นผิง (H.E. Mr. Xi Jinping)
จีนฮ่องกง ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง นายจอห์น ลี คา-ชิว (The Honourable John Lee Ka-Chiu)
อินโดนีเซีย ประธานาธิบดี นายโจโก วีโดโด (H.E. Mr. Joko Widodo)
ญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรี นายคิชิดะ ฟูมิโอะ (H.E. Mr. Kishida Fumio)
เกาหลีใต้ นายกรัฐมนตรี นายฮัน ด็อก-ซู (H.E. Mr. Han Duck-soo)
มาเลเซีย เลขาธิการรัฐบาลมาเลเซีย ตัน ซรี ดาโตะ เซอรี โมฮามัด ซูกี บิน อาลี (Tan Sri Dato’ Seri Mohd Zuki Ali)
เม็กซิโก เอกอัครราชทูตเม็กซิโกประจำประเทศไทย นายเบร์นาโด กอร์โดบา เตโย (H.E. Mr. Bernardo Córdova Tello)
นิวซีแลนด์ นายกรัฐมนตรี นางสาวจาซินดา อาร์เดิร์น (The Right Honourable Jacinda Ardern MP)
ปาปัวนิวกินี นายกรัฐมนตรี นายเจมส์ มาราเป (The Honourable James Marape MP)
เปรู รองประธานาธิบดี คนที่ 1 นางดินา เอร์ซิเลีย โบลัวร์เต เซการ์รา (H.E. Ms. Dina Ercilia Boluarte Zegarra)
ฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดี นายแฟร์ดีนันด์ โรมูอัลเดซ มาร์โคส จูเนียร์ (H.E. Mr. Ferdinand Romualdez Marcos Jr.)
รัสเซีย รองนายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐรัสเซีย คนที่ 1 นายอันเดรย์ เบโลอูซอฟ (H.E. Mr. Andrey Belousov)
สิงคโปร์ นายกรัฐมนตรี นายลี เซียน ลุง (H.E. Mr. Lee Hsien Loong)
จีนไทเป ผู้แทน นายมอร์ริส จาง (นายจาง จงโหมว) ผู้ก่อตั้งบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) (Mr. Morris Chang)
ไทย นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
สหรัฐอเมริกา รองประธานาธิบดี นางคามาลา แฮร์ริส (The Honorable Kamala Harris)
เวียดนาม ประธานาธิบดี นายเหวียน ซวน ฟุก (H.E. Mr. Nguyen Xuan Phuc)
ส่วน 3 แขกพิเศษ ได้แก่
กัมพูชา นายกรัฐมนตรี สมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน (Samdech Akka Moha Sena Padei Techo HUN SEN)
ฝรั่งเศส ประธานาธิบดี นายเอมานูว์แอล มาครง (H.E. Mr. Emmanuel Macron)
ซาอุดีอาระเบีย มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรี เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด (His Royal Highness Prince Mohammed bin Salman bin Abdulaziz Al Saud)
นอกจากนี้ ยังมีผู้บริหารจากองค์กรระหว่างประเทศหลายหน่วยงาน เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้