‘พาณิชย์’ ชู BCG Economy Model พร้อมเสนอผู้นำเอเปค19พ.ย.นี้

12 พ.ย. 2565 | 17:55 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ย. 2565 | 01:05 น.

 ‘พาณิชย์’ ดันการค้าและการลงทุนไทยบนเวทีหารือAMM ชูประเด็นเปิดกว้างและยั่งยืนดันBCG Economy Model ประเด็นหลัก ก่อนสรุปเสนอที่ประชุมผู้นำเอเปคในวันที่ 18-19 พ.ย.นี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงการประชุมร่วมรัฐมนตรีการค้าและรัฐมนตรีการต่างประเทศเอเปค ระหว่างวันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2565 กระทรวงพาณิชย์จะร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปค (APEC Ministerial Meeting: AMM) เริ่มจากในช่วงค่ำของวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 จะมีงานเลี้ยงต้อนรับรัฐมนตรีการค้าและต่างประเทศเอเปคที่เดินทางเข้าร่วมการประชุม 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

และในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 จะเป็นการประชุม AMM เต็มวัน ซึ่งในช่วงเช้าจะเป็นการประชุมในหัวข้อ “การเติบโตอย่างสมดุล ครอบคลุมและยั่งยืน” (Balanced, Inclusive and Sustainable Growth)

ซึ่งเน้นการหารือเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) และการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน และในการประชุมช่วงกลางวัน (Working Lunch) จะเป็นหัวข้อ“การกลับมาเชื่อมโยงในภูมิภาค”(Reconnecting the region) เพื่อหารือแนวทางการฟื้นฟูความเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานร่วม

‘พาณิชย์’ ชู BCG Economy Model พร้อมเสนอผู้นำเอเปค19พ.ย.นี้

 

สำหรับวาระของกระทรวงพาณิชย์ในช่วงบ่าย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะทำหน้าที่ประธานการประชุม ในหัวข้อ “การค้าและการลงทุนที่เปิดกว้างและยั่งยืน” (Open and Sustainable Trade and Investment) เพื่อสนับสนุนให้สมาชิกเอเปคได้หารือ

‘พาณิชย์’ ชู BCG Economy Model พร้อมเสนอผู้นำเอเปค19พ.ย.นี้

และแลกเปลี่ยนแนวคิดหรือนโยบายด้านการค้าและการลงทุน ที่สามารถส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจการค้าที่เปิดกว้าง และมีการพัฒนา/เติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม ก่อนสรุปเสนอที่ประชุมผู้นำเอเปคในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565

นอกจากนี้ ไทยยังได้เชิญผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) บันทึกภาพและเสียงบรรยายสรุปเกี่ยวกับการดำเนินการตามผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 12 (MC12) และความเห็นเรื่องการค้าโลกและระบบการค้าพหุภาคี จากนั้นจะเปิดให้สมาชิกเอเปคทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจหารือกันในประเด็นการค้าและการพัฒนาอย่างเปิดกว้างและยั่งยืนของเอเปค เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่า ภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ยังคงเป็นเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่มีพลวัตและเชื่อมโยงระหว่างกันมากที่สุดของโลก

นอกจากนี้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะร่วมจัดนิทรรศการ BCG Journey เพื่อร้อยเรียงเรื่องราวความสำเร็จในการขับเคลื่อนโมเดล BCG Economy ของไทย ในสาขาเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต โดยให้เห็นภาพว่าจะมีการปรับเปลี่ยนจากรูปแบบเศรษฐกิจเดิม ๆ ไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่มีมูลค่าเพิ่ม มีนวัตกรรม และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งนิทรรศการนี้จะอิงแนวคิดหลักของเอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bangkok Goals on BCG Economy) ซึ่งประกอบด้วย 4 ประเด็นสำคัญ คือ (1) การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เหลือศูนย์ (2) การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน (3) การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน และ (4) การจัดการขยะ

เอเปคหรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ประกอบด้วยสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม โดยในปี 2564 การค้าระหว่างไทยกับเอเปคมีมูลค่ารวม 12.2 ล้านล้านบาท (385 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 71.52 ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย

โดยเป็นการส่งออกจากไทยไปเอเปค 6.1 ล้านล้านบาท (195 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และนำเข้าจากเอเปค 6 ล้านล้านบาท (190 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วงเดือน ม.ค. – ก.ค. 2565 การค้าระหว่างไทยกับเอเปค มีมูลค่า 8.2 ล้านล้านบาท (244 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.34 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปเอเปค 4 ล้านล้านบาท (121 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และนำเข้าจากเอเปค 4.1 ล้านล้านบาท (123 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)