เว็บไซต์ข่าว Semafor รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวระบุว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ กำลังพิจารณาที่จะให้การยอมรับคาบสมุทรไครเมียเป็นดินแดนของรัสเซีย เพื่อแลกกับการที่รัสเซียยอมรับข้อตกลงสันติภาพเพื่อยุติสงครามในยูเครน
นอกจากนี้ยังรายงานว่า สหรัฐมีแผนที่จะเรียกร้องให้สหประชาชาติ (UN) ให้การยอมรับคาบสมุทรไครเมียเป็นดินแดนของรัสเซียเช่นกัน
การเข้ายึดคาบสมุทรไครเมียของรัสเซียจากยูเครนเมื่อ 18 มีนาคม 2014 เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่มีการนองเลือด แต่กลับทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมอสโกกับชาติตะวันตกตกต่ำลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นนับตั้งแต่สงครามเย็น
นอกจากนี้ เหตุการณ์ครั้งนั้นยังเป็นจุดเริ่มต้นของการบุกยูเครนครั้งใหญ่ในปี 2022 ซึ่งรัสเซียได้ผนวกดินแดนของยูเครนเพิ่มเติมจากสงครามครั้งนี้
ตำแหน่งที่ตั้งของไครเมียทำให้เป็นสินทรัพย์ทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่ง และรัสเซียต่อสู้เพื่อแย่งชิงดินแดนนี้มานานหลายศตวรรษ
แต่เดิมไครเมียเป็นถิ่นฐานของชาวตาตาร์ที่พูดภาษาเตอร์กิก ก่อนที่จักรวรรดิรัสเซียจะเข้าผนวกในศตวรรษที่ 18 ต่อมาไครเมียได้รับเอกราชในฐานะสาธารณรัฐของชาวตาตาร์ช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนจะถูกสหภาพโซเวียตกลืนเป็นส่วนหนึ่ง
ในปี 1944 โจเซฟ สตาลิน ผู้นำเผด็จการแห่งสหภาพโซเวียต สั่งเนรเทศชาวตาตาร์เกือบ 200,000 คน หรือราวหนึ่งในสามของประชากรไครเมีย ไปยังเอเชียกลางซึ่งอยู่ห่างออกไป 3,200 กิโลเมตร (2,000 ไมล์) ทางตะวันออก โดยกล่าวหาว่าสมคบกับนาซีเยอรมนี ข้อกล่าวหานี้ถูกปฏิเสธโดยนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ เชื่อกันว่าครึ่งหนึ่งของชาวตาตาร์ที่ถูกเนรเทศเสียชีวิตภายใน 18 เดือนจากความอดอยากและสภาพความเป็นอยู่ที่โหดร้าย
ต่อมาในปี 1954 นิกิตา ครุสชอฟ ผู้นำโซเวียต ได้โอนอำนาจการปกครองไครเมียจากรัสเซียไปยังยูเครน เพื่อเป็นการรำลึกถึง 300 ปีแห่งการรวมตัวระหว่างมอสโกและเคียฟ เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 ไครเมียจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของยูเครนที่เป็นอิสระ
อย่างไรก็ตาม รัสเซียยังคงมีอิทธิพลเหนือไครเมีย โดยกองเรือทะเลดำของรัสเซียยังคงประจำอยู่ที่เมืองเซวาสโทพอล และไครเมียยังคงเป็นที่ตั้งฐานทัพของรัสเซีย
เมืองเซวาสโทพอลเคยเป็นจุดหมายปลายทางในช่วงวันหยุดของซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งจักรวรรดิรัสเซีย ส่วนเมืองยัลตา ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของคาบสมุทร เป็นสถานที่พักผ่อนยอดนิยมในยุคโซเวียต โดยมีสถานพักฟื้น (Sanatorium) จำนวนมาก
นอกจากนี้ เมืองยัลตายังเป็นที่รู้จักทั่วโลกในฐานะสถานที่จัดการประชุมระหว่างโจเซฟ สตาลิน, ประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ ของสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิลล์ ของอังกฤษในปี 1945 เพื่อหารือเกี่ยวกับอนาคตของเยอรมนีและยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
สำหรับยูเครน ไครเมียก็เป็นสินทรัพย์ทางยุทธศาสตร์เช่นกัน ภายในช่วงเวลา 60 ปีที่ไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน รัฐบาลเคียฟได้ลงทุนในคาบสมุทรแห่งนี้ไปกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ ระหว่างปี 1991-2014
จากมุมมองด้านความมั่นคง ไครเมียมีความสำคัญต่อยูเครนอย่างมาก เนื่องจากทำให้ยูเครนสามารถควบคุมกิจกรรมทางทะเลในทะเลดำได้
รัสเซียยึดไครเมียได้อย่างไร
ในปี 2014 การประท้วงครั้งใหญ่ในยูเครนนำไปสู่การโค่นล้มวิคเตอร์ ยานูโควิช ประธานาธิบดียูเครนที่สนับสนุนรัสเซีย
ปูตินตอบโต้ด้วยการส่งทหารเข้ายึดครองไครเมีย โดยกองกำลังเหล่านี้ปรากฏตัวในเครื่องแบบที่ไม่มีสัญลักษณ์ใด ๆ ต่อมาเขาจัดให้มีการลงประชามติเรื่องการเข้าร่วมกับรัสเซีย ซึ่งถูกยูเครนและชาติตะวันตกมองว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
การผนวกไครเมียของรัสเซียได้รับการยอมรับจากประเทศเพียงไม่กี่แห่ง เช่น เกาหลีเหนือและซูดาน อย่างไรก็ตาม ในรัสเซีย เหตุการณ์นี้จุดกระแสความรักชาติอย่างรุนแรง และคำว่า "Krym nash!" หรือ "ไครเมียเป็นของเรา!" กลายเป็นสโลแกนปลุกใจของชาวรัสเซีย
อัตราความนิยมของปูตินเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 65% ในเดือนมกราคม 2014 เป็น 86% ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน ตามข้อมูลของศูนย์สำรวจอิสระ Levada Center
เกิดอะไรขึ้นหลังการผนวกไครเมีย
ปูตินเคยกล่าวว่าไครเมียเป็น "สถานที่ศักดิ์สิทธิ์" และมีการดำเนินคดีต่อผู้ที่กล่าวว่าไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน
การกดขี่ชาวตาตาร์ในไครเมียยังคงดำเนินต่อไป แม้ว่ามอสโกจะปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ กลุ่มตาตาร์ต่อต้านการผนวกดินแดนอย่างหนัก และประชากรตาตาร์ราว 30,000 คนอพยพออกจากไครเมียระหว่างปี 2014-2021
ในขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตกตกต่ำลงถึงขีดสุด สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมถึงประเทศอื่น ๆ ได้ออกมาตรการคว่ำบาตรต่อมอสโก
ไม่กี่สัปดาห์หลังจากการผนวกไครเมีย การสู้รบระหว่างกลุ่มติดอาวุธที่สนับสนุนรัสเซียกับกองกำลังยูเครนปะทุขึ้นทางตะวันออกของประเทศ รัสเซียสนับสนุนกลุ่มกบฏเหล่านี้ แม้ว่าจะปฏิเสธว่าไม่ได้ส่งทหารหรืออาวุธให้พวกเขา
ไครเมียมีบทบาทอย่างไรในสงครามรัสเซีย-ยูเครน
เมื่อรัสเซียเริ่มบุกยูเครนในปี 2022 ไครเมียถูกใช้เป็นฐานที่มั่นทางทหาร ทำให้กองทัพรัสเซียสามารถยึดพื้นที่ทางตอนใต้ของยูเครนได้อย่างรวดเร็ว
รัฐบาลยูเครนภายใต้การนำของประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี เคยพยายามใช้แนวทางทางการทูตเพื่อทวงคืนไครเมีย แต่เมื่อรัสเซียรุกราน ยูเครนก็เริ่มพิจารณาการใช้กำลังทางทหารเพื่อยึดคาบสมุทรคืน
ยูเครนได้เปิดฉากโจมตีทางอากาศ รวมถึงโจมตีกองเรือทะเลดำของรัสเซีย คลังอาวุธ และสะพานเคิร์ช ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญที่เชื่อมไครเมียกับรัสเซีย ถูกโจมตีในเดือนตุลาคม 2022 และอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม 2023