โดนัลด์ ทรัมป์ กลับสู่ทำเนียบขาวอีกครั้ง ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และยุโรปกลับมาอยู่ภายใต้เงาแห่งความไม่แน่นอน ทรัมป์เคยเป็นประธานาธิบดีที่ยุโรปจับตามองด้วยความระแวดระวัง และครั้งนี้ก็เช่นกัน ความตึงเครียดที่เคยเกิดขึ้นในยุคแรกของเขาอาจกลับมาหนักหน่วงกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านการค้า การป้องกันประเทศ หรืออำนาจของสหภาพยุโรปในเวทีโลก
สำหรับหลายประเทศในยุโรปในปัจจุบันกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองภายในอย่างหนัก เยอรมนีและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นมหาอำนาจหลักของสหภาพยุโรป ต่างก็ต้องรับมือกับปัญหาการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ซบเซา ขณะที่สหราชอาณาจักรเองก็เผชิญกับภาวะถดถอยของภาคบริการสาธารณะและความไม่แน่นอนหลัง Brexit แต่สิ่งที่ยุโรปกังวลมากที่สุดอาจไม่ใช่ปัญหาภายในของตนเอง หากแต่เป็นวิธีที่ทรัมป์จะจัดการกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และยุโรป
สื่อต่างประเทศมองว่าทรัมป์ไม่ใช่นักการทูตที่ให้ความสำคัญกับพันธมิตรระยะยาว แต่เป็นนักธุรกิจที่มองหาผลประโยชน์ในทุกข้อตกลง การดำรงตำแหน่งในสมัยแรกเคยสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับยุโรปมาแล้ว เมื่อทรัมป์ตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าของ NATO และเรียกร้องให้ยุโรปเพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันประเทศ ทรัมป์เคยขู่ว่าจะถอนสหรัฐฯ ออกจาก NATO และล่าสุดก็ยังแสดงท่าทีแข็งกร้าว โดยกล่าวว่าหากประเทศสมาชิก NATO ไม่เพิ่มงบฯ กลาโหมให้ถึงเป้าหมาย เขาก็จะปล่อยให้รัสเซีย "ทำอะไรก็ได้ตามต้องการ" กับพันธมิตรยุโรป
ท่าทีดังกล่าวสร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างหนัก เพราะยุโรปยังต้องพึ่งพาสหรัฐฯ ในด้านการป้องกันประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่สงครามยูเครนยังคงดำเนินอยู่ การที่สหรัฐฯ แสดงท่าทีลังเลต่อ NATO อาจส่งผลให้ยุโรปต้องเร่งสร้างศักยภาพด้านการป้องกันตนเองให้แข็งแกร่งขึ้น
ขณะเดียวกัน นโยบายกีดกันทางการค้าของทรัมป์ก็อาจสร้างปัญหาใหญ่ให้กับเศรษฐกิจยุโรป ทรัมป์มีแนวโน้มที่จะเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าต่างประเทศ 10-20% และอาจกำหนดอัตราภาษีที่สูงเป็นพิเศษกับอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจหลักของเยอรมนี การส่งออกของเยอรมนีไปยังสหรัฐฯ เป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ และหากทรัมป์เดินหน้านโยบายนี้จริง อาจทำให้เศรษฐกิจเยอรมนีที่กำลังซบเซาอยู่แล้วต้องเผชิญภาวะถดถอยหนักขึ้น
ไม่ใช่เพียงแค่เยอรมนีที่ต้องกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า หากทรัมป์ตัดสินใจเปิดศึกทางเศรษฐกิจกับจีน ผลกระทบอาจลามถึงยุโรปโดยตรง เพราะยุโรปมีห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกับจีนอย่างแน่นแฟ้น การที่จีนถูกสหรัฐฯ กดดัน อาจทำให้สินค้าราคาถูกทะลักเข้าสู่ตลาดยุโรป ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตท้องถิ่น ยิ่งไปกว่านั้น หากทรัมป์เดินหน้านโยบายกีดกันทางการค้าโดยไม่มีการเจรจา ยุโรปอาจต้องตอบโต้ด้วยมาตรการภาษีของตนเอง และสิ่งนี้อาจนำไปสู่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปอย่างเต็มรูปแบบ
อีกปัจจัยหนึ่งที่ซับซ้อนขึ้นคือบทบาทของอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของแพลตฟอร์ม X (Twitter เดิม) ซึ่งมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทรัมป์ รองประธานาธิบดีคนใหม่ของทรัมป์ JD Vance เคยขู่ว่า สหรัฐฯ อาจถอนการสนับสนุน NATO หากสหภาพยุโรปไม่ยุติการสอบสวน X ในข้อหาเกี่ยวกับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลและเสรีภาพทางออนไลน์ นอกจากนี้ มัสก์ยังเคยแสดงท่าทีสนับสนุนพรรคขวาจัดอย่าง AfD ในเยอรมนี และแสดงความเห็นเชิงลบต่อผู้นำยุโรปสายกลางหลายคน เช่น เซอร์เคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และโอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี
ยุโรปจึงต้องวางแผนรับมือกับทรัมป์ในหลายมิติ ผู้นำยุโรปใช้แนวทางที่แตกต่างกันไปในการจัดการกับเขา บางคนเลือกที่จะอ่อนข้อและประจบทรัมป์ เช่น ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำโลกคนแรกที่แสดงความยินดีกับทรัมป์หลังชัยชนะ และรีบเชิญเขาไปร่วมพิธีเปิดมหาวิหารน็อทร์ดามในปารีส ขณะที่เยอรมนีเลือกใช้กลยุทธ์ "เช็คบุ๊ก" โดยพยายามซื้อก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐฯ มากขึ้น และอาจเพิ่มการซื้อสินค้าเกษตรหรืออาวุธจากสหรัฐฯ เพื่อลดแรงกดดันจากนโยบายภาษีนำเข้า
มาครงเคยเตือนว่า ยุโรปต้องเรียนรู้ที่จะพึ่งพาตัวเอง ไม่เช่นนั้นจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางการเมืองระหว่างประเทศในระยะยาว วิกฤตการณ์โควิด-19 และสงครามยูเครนได้เผยให้เห็นถึงจุดอ่อนของยุโรปที่ต้องพึ่งพาภายนอกมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้ายาจากจีน หรือพลังงานจากรัสเซีย และขณะนี้ ยุโรปเริ่มตระหนักว่าความพึ่งพาสหรัฐฯ ก็อาจเป็นปัญหาได้เช่นกัน
ในแง่ของความแข็งแกร่งทางยุทธศาสตร์ บางคนมองว่ายุโรปอยู่ในสถานะที่อ่อนแอลงกว่าปี 2016 เพราะเศรษฐกิจชะลอตัวและความแตกแยกทางการเมือง แต่ในอีกมุมหนึ่ง สหภาพยุโรปก็ผ่านพ้นวิกฤตใหญ่มาหลายครั้ง และยังคงเป็นกลุ่มมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ การที่สวีเดนและฟินแลนด์เข้าร่วม NATO ก็เป็นสัญญาณว่าความร่วมมือทางทหารในยุโรปกำลังเพิ่มขึ้น
แม้ว่าทรัมป์จะมองว่ายุโรปยังเป็น "ปัญหา" แต่ในบางมิติ ยุโรปก็ปรับตัวเข้ากับแนวทางของทรัมป์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหม หรือการแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อจีน
อ้างอิง: BBC