สื่อนอกมองบารมี “ทักษิณ” กับบทบาทตัวกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในเมียนมา

08 พ.ค. 2567 | 11:31 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ค. 2567 | 21:50 น.
956

สื่อใหญ่ของสหรัฐ รายงานข่าว “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ที่กำลังพยายามเป็น "คนกลาง” ในการเจรจาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศเมียนมาระหว่างรัฐบาลกลางและกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของเมียนมาเวลานี้

สำนักข่าววีโอเอ (Voice of America) ระบุว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ยังทรงอิทธิพลของประเทศไทย ได้พบกับบุคคลสำคัญหลายคนที่อยู่ในฝั่ง กลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารของเมียนมา โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นคนกลางในการเจรจาแก้ปัญหาความขัดแย้งในเมียนมาที่ดำเนินมาเป็นเวลามากกว่าสามปีแล้ว

วีโอเอภาคภาษาเมียนมาอ้างอิงแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย กล่าวว่า อดีตนายกฯของไทยได้จัดประชุมอย่างไม่เป็นทางการกับผู้นำของรัฐบาลเงาเมียนมา หรือที่เรียกว่ารัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ( National Unity Government: NUG) ในระหว่างที่เขาเดินทางเยือนจังหวัดเชียงใหม่ทางภาคเหนือของประเทศไทยในเดือนมีนาคมและเมษายนที่ผ่านมา

ผู้มากบารมี ใกล้ชิดทั้งฝั่งกลุ่มชาติพันธุ์และนายพลเมียนมา

แหล่งข่าวกล่าวว่า ทักษิณ ผู้ก่อตั้งพรรคเพื่อไทยที่ปัจจุบันเป็นพรรคการเมืองแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ได้พบปะแบบแยกกันทีละกลุ่ม กับตัวแทนของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต่างๆ ของเมียนมา ซึ่งรวมถึงตัวแทนจาก

  • สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU
  • พรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเหรี่ยงกะเรนนี (Karenni National Progressive Party)
  • และองค์การแห่งชาติคะฉิ่น (Kachin National Organization)

ในระหว่างการประชุมช่วงหนึ่ง ทักษิณยังได้พบกับพลเอกเจ้ายอดศึก (Yawd Serk) ประธานสภาฟื้นฟูรัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA ด้วย แหล่งข่าวกล่าวว่า นายทหารผู้นี้มีส่วนเกี่ยวข้องในการปฏิบัติภารกิจของสำนักงานปราบปรามยาเสพติดของสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ นายทักษิณแสดงความปรารถนาที่จะเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยระหว่างรัฐบาลทหารของเมียนมากับองค์กรชาติพันธุ์ต่อต้านรัฐบาลทหาร (EROs) ซึ่งเปิดฉากต่อสู้กับรัฐบาลทหารเมียนมามาตั้งแต่ที่เกิดเหตุการณ์กองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564

สื่อรายงานว่า อดีตนายกฯทักษิณจัดประชุมอย่างไม่เป็นทางการกับตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์เมียนมา ช่วงเดินทางเยือนเชียงใหม่ในเดือนมี.ค.และเม.ย.

สื่อต่างชาติระบุว่า ทักษิณขออนุญาตเดินทางเยือนเมียนมา แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีคำตอบอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลทหารเมียนมาแต่อย่างใด  วีโอเอไม่สามารถติดต่อกับรัฐบาลทหารหรือทักษิณเพื่อขอความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ในขณะที่เผยแพร่บทความนี้

การสู้รบในหลายพื้นที่ของเมียนมา ทำให้ฝ่ายรัฐบาลทหารเพลี่ยงพล้ำให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ต่อต้านรัฐบาลในพื้นที่ (ภาพข่าว AFP)

 

ท่าทีของทักษิณ ท่าทีของรัฐบาลไทย?

สื่อของไทยเองรายงานอ้างอิงการให้สัมภาษณ์ของนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของไทย ก่อนเข้าร่วมประชุมครม.เมื่อวันอังคาร (7 พ.ค.) ที่ยืนยันว่า การประชุมของทักษิณกับตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา เป็นการดำเนินการส่วนตัว และไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของรัฐบาลไทยที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้าน

นายมาริษกล่าวว่า รัฐบาลทหารเมียนมามองว่า ทักษิณเป็นคนที่สามารถช่วยยุติความขัดแย้งได้ เนื่องจากเขามีเครือข่ายคนรู้จัก (คอนเนคชัน) และมีอิทธิพลที่จะทำได้

ด้านนายจ่อ ซอ ไว โฆษกสำนักงานประธานาธิบดีรัฐบาลเงาเมียนมา หรือ NUG ได้กล่าวแสดงความขอบคุณต่อความพยายามของไทยในอาเซียน ที่พยายามแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาในเมียนมาในรูปแบบที่สะท้อนถึงเจตจำนงของชาวเมียนมา

นอกจากนี้ เขายังรับทราบถึงความพยายามด้านมนุษยธรรมของไทย รวมถึงการจัดเตรียมอาหารและที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยหลายพันคนในระหว่างการสู้รบในเมืองเมียวดี ซึ่งเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา และถูกฝ่ายกองกำลังต่อต้านรัฐบาลเมียนมายึดครองเอาไว้ได้ในระยะเวลาหนึ่ง

รัฐบาลเงาเมียนมา (NUG) ได้ขอให้ไทยเพิ่มการมีส่วนร่วมทั้งกับ NUG และกลุ่ม ERO โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเกี่ยวกับการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้อพยพลี้ภัยสงครามจากเมียนมา

“การเยือนของทักษิณอาจมีจุดมุ่งหมายเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา และอาจช่วยเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยเพื่อแก้ไขปัญหา” ไซ ตุน ออง ลวิน ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการชาติพันธุ์เมียนมาและรัฐฉาน ให้ความเห็นกับวีโอเอเมื่อวันศุกร์ (3 พ.ค.) เขาเน้นย้ำว่า การมีส่วนร่วมของทักษิณในการต่อสู้ของเมียนมา จะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆของเมียนมา ซึ่งมีส่วนได้เสียในผลลัพธ์ของความขัดแย้ง

การพิจารณาบทบาทของทักษิณเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพรรคเพื่อไทยของเขามีอำนาจในรัฐบาลปัจจุบัน” ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้มองว่า ถ้อยแถลงใดๆของทักษิณเกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจสะท้อนเป้าหมายของนโยบายต่างประเทศของไทยด้วย ทั้งยังอาจส่งผลต่อความมั่นคงแนวชายแดนและแนวทางการแก้ไขความขัดแย้งด้วย

ลวินชี้ให้เห็นว่า ทักษิณถูกมองว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของไทย ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวอาจทำให้การปฏิบัติของทักษิณในเรื่องความขัดแย้งของเมียนมา มีความสอดคล้องอย่างใกล้ชิดกับแนวทางของรัฐบาลไทยในเรื่องนี้ก็เป็นได้

“อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยมีความสัมพันธ์อันยาวนานกับบรรดาอดีตนายพลของเมียนมา และบุคคลสำคัญทางการเมืองที่ใกล้ชิดกับกองทัพ นอกจากนี้ เขายังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่ม RCSS และ KNU” ลวินให้ความเห็น 

ทั้งนี้ ในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของไทย เคยเสนอแนะว่า รัฐบาลทหารเมียนมาอาจโอนอ่อนผ่อนตามการเจรจาสันติภาพได้มากขึ้น หลังจากต้องพ่ายแพ้ในการสู้รบกับกลุ่มชาติพันธุ์ในหลายพื้นที่ในระยะหลังๆนี้ “บางทีอาจถึงเวลาแล้ว ที่ต้องเจรจาและทำข้อตกลงสันติภาพกัน”

นายจ่อ ซอ โฆษกรัฐบาลเงาเมียนมากล่าวกับวีโอเอว่า “เราให้ความสำคัญกับการสนับสนุนนี้อย่างสูง และมองว่าการมีส่วนร่วมที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลไทย กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆในเมียนมา ถือเป็นการพัฒนาเชิงบวก”

นอกจากนี้ ยังกล่าวด้วยว่า “ในขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่(ของไทย)เข้ารับตำแหน่ง เราเชื่อมั่นและคาดหวังว่า ไทยยังจะให้ความสำคัญกับประเด็นการจัดการกับปัญหาของเมียนมาเป็นอันดับต้นๆ”

 

ข้อมูลอ้างอิง