รัสเซียขยับเข้าใกล้สงครามนิวเคลียร์ "ปูติน" สั่งกองทัพซ้อมรบโต้ตะวันตก

07 พ.ค. 2567 | 00:09 น.

ผู้นำรัสเซีย สั่งหน่วยทหารใกล้ชายแดนยูเครน เตรียมจัดซ้อมรบ ฝึกการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี (tactical nuclear weapons) อ้างตอบโต้บรรดาผู้นำชาติตะวันตกที่พูดจาข่มขู่มาตลอดและเข้ายุ่งเกี่ยวสงครามรัสเซีย-ยูเครนมากขึ้นเรื่อยๆ  

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียได้สั่งให้จัด การฝึกซ้อมทางการทหาร เพื่อทดสอบความพร้อม การใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี หรือ tactical nuclear weapons ซึ่งเป็นอาวุธนิวเคลียร์สำหรับภารกิจสงคราม อาทิ ระเบิดที่ใช้ในการโจมตีทางอากาศ หัวอาวุธจรวดมิสไซล์ระยะสั้น และลูกกระสุนปืนใหญ่ที่ใช้ในสนามรบ ซึ่งอาวุธเหล่านี้มีอานุภาพทำลายล้างน้อยกว่าอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์ หรือ strategic nuclear weapons อาทิ หัวรบนิวเคลียร์ทำลายล้างสูงที่ติดตั้งกับขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีปที่สามารถทำลายเมืองทั้งเมือง

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นเมื่อวันจันทร์ (6 พ.ค.) ซึ่งการจัดฝึกซ้อมดังกล่าวหมายรวมถึงการฝึกเพื่อเตรียมตัวและติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี ให้กับทหารที่มีส่วนร่วมโดยตรงคือ หน่วยขีปนาวุธในเขตทหารภาคใต้ ที่มีพรมแดนติดกับยูเครน และดินแดนยูเครนที่ถูกรัสเซียยึดครอง นอกเหนือจากการใช้เครื่องบินและกองทัพเรือ

ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุว่า การซ้อมรบที่จะจัดขึ้นในอนาคตอันใกล้ มีความมุ่งหมายเพื่อสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับอธิปไตยและบูรณภาพทางดินแดนของรัสเซีย และเป็นการตอบสนองต่อถ้อยแถลงเชิงยั่วยุ รวมทั้งคำขู่ของเจ้าหน้าที่ชาติตะวันตกที่มีต่อสหพันธรัฐรัสเซีย

การฝึกใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีของรัสเซียในปี 2022 (ภาพจากกระทรวงกลาโหมรัสเซีย)

นอกจากนี้ การประกาศซ้อมรบของรัสเซียยังเป็นการส่งคำเตือนไปยังประเทศตะวันตกที่เป็นพันธมิตรของยูเครนซึ่งเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นและเพิ่มการมีบทบาทในสงครามที่ดำเนินยืดเยื้อมาเป็นเวลาสองปีแล้ว โดยฝ่ายรัสเซียมองว่าฝ่ายตนเองเหนือกว่า และมีความได้เปรียบเนื่องจากกองทัพยูเครนนั้น เริ่มขาดแคลนทั้งกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์  

แถลงการณ์ของกระทรวงกลาโหมรัสเซียไม่ได้เอ่ยชื่อใครหรือประเทศใด แต่ก่อนหน้านี้รัสเซียก็ออกมากล่าวตำหนิหลายครั้งว่า ความเห็นของนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ที่เอ่ยถึงความเป็นไปได้ที่กองทัพชาติตะวันตกจะเข้าแทรกแซงทางทหารในยูเครนนั้น “เป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง” และยิ่งเพิ่มความตึงเครียดของการเผชิญหน้าระหว่างนาโตและรัสเซีย

ไม่เพียงเท่านั้น นายเดวิด คาเมรอน อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ ยังเคยกล่าวว่า กองทัพยูเครนจะสามารถใช้อาวุธพิสัยไกลของอังกฤษเล็งเป้าโจมตีไปที่เป้าหมายใดๆก็ได้ในรัสเซีย ขณะที่ชาติสมาชิกนาโต (องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ) บางประเทศ ก็ให้ความสนับสนุนทางด้านอาวุธแก่ยูเครนและข่มขู่รัสเซียเช่นกัน

รัสเซียมีอาวุธที่ติดหัวรบนิวเคลียร์ได้หลากหลายพิสัย ตั้งแต่ขีปนาวุธนำวิถีพิสัยไกลข้ามทวีป ไปจนถึงอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีที่ใช้โจมตีระยะใกล้

รัสเซียยังกล่าวหาด้วยว่า สหรัฐอเมริกากับพันธมิตรตะวันตก กำลังดึงโลกเข้าสู่การเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจด้านนิวเคลียร์ ผ่านการให้ความสนับสนุนด้านอาวุธต่างๆ มูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์แก่ยูเครน

ข่าวระบุว่า อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี เป็นอาวุธนิวเคลียร์ที่ออกแบบมาสำหรับใช้ในสนามรบ ใช้ได้กับอาวุธหลายชนิด รวมถึงระเบิดและขีปนาวุธ ขณะที่อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์ เป็นอาวุธที่มุ่งทำลายล้างชีวิต และทำลายหรือยับยั้งความสามารถในการทำสงครามของศัตรู

ทั้งนี้ รัสเซียมีอาวุธที่ติดหัวรบนิวเคลียร์ได้หลากหลายพิสัย ตั้งแต่จรวดมิสไซล์ หรือ ขีปนาวุธนำวิถีพิสัยไกลข้ามทวีป ไปจนถึงอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีที่ใช้โจมตีระยะใกล้ เจ้าหน้าที่อาวุโสรัสเซียรวมถึงปูตินเอง เคยประกาศว่า หลักการเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียนั้น อนุญาตให้ใช้อาวุธเหล่านี้ได้ “หากการดำรงอยู่ของประเทศชาติ ตกอยู่ในภาวะความเสี่ยง”

นายดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซียกล่าวเมื่อวันจันทร์ (6 พ.ค.) ว่า สิ่งที่กระตุ้นรัสเซียให้ประกาศการซ้อมรบอาวุธนิวเคลียร์ครั้งนี้ ก็คือถ้อยแถลงหรือการแสดงความคิดเห็นของผู้นำฝรั่งเศสและเจ้าหน้าที่ของอังกฤษ รวมทั้งสหรัฐ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น “นี่คือการปลุกเร้า(การเผชิญหน้า)รอบใหม่ เรื่องแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงต้องได้รับความสนใจเป็นพิเศษและต้องใช้มาตรการพิเศษในการตอบโต้”

เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียได้เรียกตัวเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสและอังกฤษในรัสเซียเข้าพบ เพื่อแจ้งให้ทูตทั้งสองประเทศรับทราบความไม่พอใจของรัสเซีย และขอให้อังกฤษไตร่ตรองและตระหนักให้ดี ถึงผลลัพธ์ที่จะตามมาซึ่งจะเป็นหายนะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จากการกระทำของอังกฤษเองที่มีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อรัสเซีย

 

ข้อมูลอ้างอิง