เปิดวาระ "เศรษฐา" นำคณะเยือน ฝรั่งเศส - เยอรมนี 7-13 มี.ค.2567

07 มี.ค. 2567 | 00:05 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มี.ค. 2567 | 10:39 น.

นายกรัฐมนตรีมีกำหนดเยือนฝรั่งเศสและเยอรมนีอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 7-13 มีนาคม 2567 นอกจากจะเป็นการเชื่อมประสานความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานนับร้อยๆปี ยังเป็นการเปิดศักราชใหม่นำเสนอศักยภาพของไทยในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ตั้งแต่ยานยนต์อีวี ไปจนถึงพลังงานสะอาด

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเดินทางเยือน ฝรั่งเศส อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 7-12 มีนาคม 2567 และ เยอรมนี วันที่ 12-13 มีนาคม โดยมีนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมคณะเยือนครั้งนี้ด้วย

กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ระบุว่า ฝรั่งเศสจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคยุโรปที่นายกรัฐมนตรีฯ จะเยือนอย่างเป็นทางการ โดยมีกำหนดการที่สำคัญในการเยือนครั้งนี้ ได้แก่ การพบหารือกับนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ในวันที่ 11 มี.ค. นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีฯ จะนำเสนอ 8 วิสัยทัศน์จุดประกายประเทศไทย ในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคด้านการบิน การขนส่ง การท่องเที่ยว และการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต พร้อมผลักดันความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด นวัตกรรมอวกาศ แฟชั่น และ Soft Power ด้วย

นอกจากนั้น มีกำหนดพบหารือกับผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของฝรั่งเศส และการเข้าร่วมมหกรรม MIPIM 2024 ณ เมืองคานส์ ซึ่งเป็นงานมหกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีผู้เข้าร่วมจากทุกมุมโลก

ทั้งนี้ ไทยกับฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์ที่ยาวนาน โดยในปีหน้า พ.ศ. 2568 มีกำหนดการเฉลิมฉลองครบรอบ 340 ปี การเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ทั้งสองประเทศมีแผนจะยกระดับความสัมพันธ์ไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ภายในปี 2567 ตามที่ระบุในแผนการสำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส (ค.ศ.2022-2024) ด้วย

นายกรัฐมนตรีฯ ออกเดินทางจากท่าอากาศยานเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย วันที่ 6 มี.ค. 2567 มุ่งหน้าสู่ยุโรป

ส่วน การเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นายกรัฐมนตรีฯ จะเข้าร่วมงาน ITB Berlin ในวันที่ 7 มีนาคม โดยงานดังกล่าวเป็นงานแสดงสินค้าด้านการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดขึ้นทุกปีในเดือนมีนาคม จากนั้น จึงจะเดินทางเยือนเยอรมนีอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 12-13 มีนาคม 2567 โดยมีรัฐมนตรีช่วยฯ ร่วมคณะเยือนครั้งนี้ด้วย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ไทย-เยอรมนีที่มีมายาวนานกว่า 160 ปี รวมทั้งเป็นการต่อยอดจากการเดินทางเยือนไทยของประธานาธิบดีเยอรมนี เมื่อวันที่ 24-26 มกราคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีไทยเยือนเยอรมนีครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 (เป็นสมัยของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี) และนายกรัฐมนตรีเยอรมนีเยือนไทยครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2529 (เป็นยุคสมัยของนายเฮลมุท โคห์ล)

กำหนดการที่สำคัญในการเยือนเยอรมนีครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรีและคณะ ได้แก่

  • การพบหารือกับนายโอลาฟ ชอลซ์  นายกรัฐมนตรีเยอรมนีในวันที่ 13 มี.ค. 2567 ช่วงค่ำ
  • การกล่าวปาฐกถาหลักในงานเลี้ยงรับรองประจำปีของสมาคมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเยอรมนี (BVMW) เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ด้านนโยบายเศรษฐกิจของไทย และการพบหารือกับภาคเอกชนเยอรมนีที่สำคัญในรูปแบบ one-on-one เพื่อเชิญชวนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

การเยือนเยอรมนีในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงพลวัตความสัมพันธ์ และโอกาสสำหรับไทยและเยอรมนีที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือกัน โดยเยอรมนีเป็น 1 ใน 10 ประเทศยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของไทย เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในสหภาพยุโรป โดยในปี 2566 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันกว่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ สมาคมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเยอรมนี (BVMW) เป็นองค์กรอิสระทางการเมืองที่ปกป้องและผลักดันผลประโยชน์ให้แก่สมาชิก SMEs ปัจจุบัน มีสมาชิกจำนวนกว่า 55,000 บริษัท และมีสมาคมเครือข่ายกว่า 30 องค์กร และองค์กรเครือข่ายรวมกันจำนวนกว่า 9 แสนบริษัท และมีสำนักงานผู้แทนในต่างประเทศทั่วโลก 40 แห่ง