ส่องภารกิจนายกฯเยือนออสเตรเลีย-ฝรั่งเศส-เยอรมนี ดึงเอกชนลงทุนไทย

01 มี.ค. 2567 | 10:25 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มี.ค. 2567 | 11:18 น.
671

สัปดาห์หน้า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีกำหนดการเดินทางไปปฏิบัติราชการใน 3 ประเทศ 2 ทวีป เริ่มจากออสเตรเลียช่วงต้นสัปดาห์ จากนั้นต่อด้วย 2 ประเทศยุโรป คือ ฝรั่งเศสและเยอรมนี รวมทั้งสิ้น 10 วัน

 

สัปดาห์แห่ง การปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะ กำลังจะเริ่มขึ้นในวันที่ 4 มีนาคม 2567 ประเดิมด้วยการเยือน ประเทศออสเตรเลีย ดินแดนดาวน์อันเดอร์เพื่อร่วมการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษ เพื่อฉลองครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย ก่อนจะต่อด้วยการเยือนประเทศ ฝรั่งเศส และ เยอรมนี

ภารกิจการเยือนออสเตรเลียนั้น จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 มีนาคม 2567 ณ นครเมลเบิร์น เป็นโอกาสในการหารือกับภาคเอกชนออสเตรเลียเพื่อขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยฝ่ายไทยพร้อมจะพาภาคเอกชนร่วมคณะไปด้วย ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีได้เคยพบหารือทวิภาคีกับนายแอนโทนี แอลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ในห้วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 30 ที่นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566

หลังจากนั้น พลเอก เดวิด เฮอร์ลีย์ ผู้สำเร็จราชการแห่งเครือรัฐออสเตรเลีย และนางลินดา เฮอร์ลีย์ ภริยา ก็ได้เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล ระหว่างวันที่ 13 - 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตามคำเชิญของนายกฯเศรษฐา การเยือนไทยครั้งแรกของผู้นำระดับสูงของออสเตรเลียในรอบ 7 ปีครั้งนี้ สะท้อนความสัมพันธ์ที่สนิทแน่นแฟ้นระหว่างทั้งสองประเทศ

ส่วนการเยือนออสเตรเลียของนายกฯเศรษฐาในวันที่ 4 มีนาคมที่จะถึงนี้ ก็จะเป็นการเยือนครั้งแรกของเขาเช่นกันนับจากที่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา 

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง มีกำหนดการเดินทางปฏิบัติราชการในต่างประเทศเป็นเวลา 10 วัน เริ่มตั้งแต่ต้นสัปดาห์หน้า

จากนั้น มีกำหนดบินต่อไปทวีปยุโรป เพื่อเยือน ประเทศฝรั่งเศส และ เยอรมนี โดยมีกำหนดการคร่าว ๆ ดังนี้

  • 7 มี.ค. เข้าร่วมงาน ITB Berlin ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าด้านการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดขึ้นทุกปีในเดือนมีนาคม
  • 8-12 มี.ค. เยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ โดยจะมีการหารือกับภาคเอกชนของฝรั่งเศสประมาณ 15 บริษัท ด้านแฟชั่น อากาศยาน ยานยนต์ สื่อสาร และจะเข้าพบนายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสในวันที่ 11 มี.ค.2567
  • 12-13 มี.ค. นายกรัฐมนตรีจะเริ่มการเยือนเยอรมนีอย่างเป็นทางการ โดยจะพบนายโอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีในวันที่ 13 มี.ค. 2567 ช่วงค่ำ และโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและคณะจะพบภาคเอกชนของเยอรมันอีก 4-5 ราย ด้านยานยนต์ เทคโนโลยี เซมิคอนดักเตอร์

ทั้งนี้ การเยือน 2 ประเทศใหญ่ทางเศรษฐกิจของยุโรปนั้น มุ่งกระชับความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างกันในหลายด้าน ซึ่งรวมถึงการผลักดันการค้าและการลงทุนที่ไทยให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของนโยบายการทูตเชิงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และการเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ยุโรป (EFTA)

การเยือนเยอรมนีของนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 21-25 ก.พ.ที่ผ่านมา

ในส่วนของเยอรมนีนั้น ถือเป็น 1 ใน 10 ประเทศเป้าหมายสำคัญของไทยที่มุ่งยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน หรือ  Strategic Partnership สะท้อนความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและครอบคลุมความร่วมมือในทุกมิติรวมทั้งด้านการค้าและการลงทุน

โดยเร็วๆนี้ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นายฟรังก์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีเยอรมนี ก็เพิ่งนำคณะนักธุรกิจชุดใหญ่เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นการเยือนไทยครั้งแรกในรอบ 22 ปีของบุคคลระดับประมุขของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 21-25 ก.พ.ที่ผ่านมา นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็เพิ่งเดินทางเยือนเยอรมนีเพื่อเตรียมการสำหรับการเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีที่กำลังจะเกิดขึ้น เป้าหมายเพื่อดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับที่ลึกขึ้น รวมถึงผลักดันเรื่องการค้าและการลงทุนที่จะมีการเปิดตลาดระหว่างกันเพิ่มมากขึ้นด้วย

โดยโครงการที่ไทยต้องการดึงดูดการลงทุนจากเยอรมนีมากที่สุด เป็นโครงการขนาดใหญ่ตามนโยบายที่รัฐบาลประกาศเอาไว้ เช่น โครงการแลนด์บริดจ์ รวมทั้งการลงทุนด้านเทคโนโลยีในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์และดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่เยอรมนีมีศักยภาพสูง นอกจากนี้ ไทยยังหมุ่งหวังให้เอกชนเยอรมนีเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ไทยกำลังมุ่งมั่นผลักดันการเป็น “ฮับ” หรือศูนย์กลางการผลิตภายในภูมิภาคอาเซียนด้วย