“ไบเดน” พบ “สี” นอกรอบเอเปควันนี้ โลกจับตาการเจรจา 4 ชั่วโมงฟื้นฟูสัมพันธ์

15 พ.ย. 2566 | 07:20 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ย. 2566 | 08:03 น.

การพบกันระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง นอกรอบการประชุมเอเปคในวันนี้ (15 พ.ย.) จะเป็นการพบกันครั้งที่2 ของผู้นำ 2 ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่ต่างฝ่ายต่างพยายามรักษาเสถียรภาพความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 4 ทศวรรษ

 

สื่อต่างประเทศรายงาน การพบกันแบบทวิภาคี ระหว่าง ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกา และ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ที่กำลังจะมีขึ้นที่ฟีโลลี เอสเตท ซึ่งเป็นคฤหาสถ์ตากอากาศเก่าแก่ทางใต้ของนครซานฟรานซิสโกในวันนี้ (ตามเวลาท้องถิ่นซานฟรานซิสโกซึ่งช้ากว่าไทย 15 ชั่วโมง) โดยทั้งคู่จะใช้เวลาหารือกัน 4 ชั่วโมง ครอบคลุมหลากหลายประเด็นในเชิงลึก ตั้งแต่ ความสัมพันธ์ทวิภาคี ไปจนถึงประเด็นโลก

ข่าวระบุว่า ปธน.ไบเดน และปธน.สี เดินทางถึงนครซานฟรานซิสโกในวันอังคาร (14 พ.ย.) จากนั้นจะเดินทางไปยังคฤหาสถ์ฟีโลลี เอสเตท ซึ่งเป็นสถานที่หารือในวันพุธ (15 พ.ย.) โดยจะร่วมรับประทานอาหารกลางวัน เดินชมรอบสถานที่ตากอากาศ และประชุมกันเป็นเวลาราว 4 ชม. โดยจะมีการหารือของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองประเทศในแต่ละประเด็นด้วย

นี่จะเป็นการพบกันครั้งที่สองของผู้นำสองประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นการพบกันนอกรอบการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค (APEC) ในระดับผู้นำที่กำลังจะมีขึ้นในสัปดาห์นี้

ผู้นำทั้งสองจะมีเวลา 4 ชั่วโมงในการหารือกันเชิงลึกเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ที่ตกต่ำย่ำแย่ที่สุดในรอบ 4 ทศวรรษ (ภาพจากแฟ้มข่าว)

ข่าวระบุว่า ฟีโลลี เอสเตท เป็นคฤหาสน์โบราณสถาปัตยกรรมทรงจอร์เจีย ตั้งอยู่บนพื้นที่ 2.65 ตร.กม. ล้อมรอบด้วยธรรมชาติและสวนที่ตกแต่งแบบอังกฤษในยุคเรเนซองซ์ แหล่งข่าวใกล้ชิดการพบกันครั้งนี้เปิดเผยว่า ได้มีการจัดสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับผู้นำทั้งสองให้ได้นั่งพูดคุยเชิงลึกในประเด็นต่าง ๆ ที่ทั้งสองประเทศเผชิญอยู่ ทั้งในส่วนของความสัมพันธ์ทวิภาคีและประเด็นโลก โดยฝ่ายเจ้าหน้าที่ของจีนได้ขอให้มีสถานที่แยกต่างหากจากการประชุมสุดยอดเอเปคที่จัดขึ้นกลางนครซานฟรานซิสโก ข้อเสนอนี้แสดงให้เห็นถึงความประสงค์ที่จะใช้เวลาหารือนานกว่าที่เคยจัดขึ้นระหว่างการประชุม G20 ที่เกาะบาหลีประเทศอินโดนีเซียเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งในครั้งนั้น ผู้นำทั้งสองพูดคุยกันเป็นเวลาร่วม 3 ชั่วโมง

เจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้หนึ่งกล่าวว่า ผลลัพธ์ที่สหรัฐต้องการจากการประชุมครั้งนี้ คือ "สาระสำคัญ" และ "ความแตกต่าง" จากครั้งก่อน

ผู้นำทั้งสองชาติมีแนวโน้มจะหารือเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ รวมถึงความตึงเครียดเกี่ยวกับไต้หวัน พฤติกรรมบีบบังคับของจีนในทะเลจีนใต้ และความกังวลของจีนที่มีต่อการควบคุมการส่งออกของสหรัฐ โดยมาตรการควบคุมการส่งออกดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อกีดกันการยกระดับกองทัพจีนให้ทันสมัย

นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองมีแนวโน้มจะเห็นพ้องต้องกันในเรื่องการกลับมาเปิดช่องทางการสื่อสารทางทหารอีกครั้ง หลังจากจีนปิดช่องทางสื่อสารเพื่อตอบโต้การเดินทางเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเมื่อเดือนส.ค. 2565 โดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐได้พยายามผลักดันให้มีการเปิดช่องทางการสื่อสารทหารอีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงของเครื่องบินรบของจีนที่บินเข้าใกล้เครื่องบินลาดตระเวนของสหรัฐและชาติพันธมิตรเหนือทะเลจีนใต้

ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดครั้งนี้ถือเป็นการเยือนสหรัฐครั้งแรกของปธน.สีนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2560 โดยเวลานั้นเขาได้พบกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐในขณะนั้นในเมืองฟลอริดา

ไต้หวันขอพบไบเดนแบบแยกหารือเช่นกัน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ไต้หวันที่เข้าร่วมการประชุมเอเปคในนาม Chinese Taipei โดยมีนายมอริส ชาง ผู้ก่อตั้งบริษัท TSMC ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ วัย 92 ปี เป็นตัวแทนประธานาธิบดีเข้าร่วมการประชุม (เช่นเดียวกับเมื่อครั้งการประชุมเอเปคที่กรุงเทพฯในปีที่ผ่านมา) กำลังพยายามหาโอกาสจัดการพบปะแบบทวิภาคีระหว่างนายชางกับปธน.ไบเดน นอกรอบการประชุมเอเปคครั้งนี้เช่นกัน แต่เรื่องการนัดหมายนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันจากทำเนียบขาว

ไต้หวันกำลังพยายามนัดหมายให้นายมอริส ชาง ผู้แทนของประธานาธิบดีไต้หวันได้พบหารือทวิภาคีกับปธน.ไบเดน นอกรอบการประชุมเอเปคครั้งนี้เช่นกัน

ขณะเดียวกัน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐออกมากล่าวเพียงว่า ยังไม่มีอะไรจะกล่าวเกี่ยวการพบปะหารือทวิภาคีใดๆนอกรอบการประชุมเอเปค กล่าวได้เพียงว่า ผู้นำสหรัฐยินดีต้อนรับการเข้าร่วมประชุมเอเปคของไต้หวัน

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของไต้หวันสองรายที่ไม่ประสงค์เอ่ยนามกล่าวกับรอยเตอร์ว่า ไต้หวันได้ทาบทามขอให้มีการจัดการหารือแบบทวิภาคีกับผู้นำของสหรัฐมาตั้งแต่ที่มีการประชุมเอเปคในปีที่แล้ว แต่ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับตารางนัดหมายของปธน.ไบเดนที่ค่อนข้างแน่นว่าจะมีโอกาสสำหรับไต้หวันหรือไม่  

ผู้นำอินโดนีเซียได้พบทวิภาคีกับไบเดนเป็นรายแรก

เมื่อวันที่ 13 พ.ย. (ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐ ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ซึ่งช้ากว่าไทย 12 ชั่วโมง) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้หารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย ที่ทำเนียบขาวเป็นรายแรก ก่อนที่จะเดินทางไปยังซานฟรานซิสโก โดยเนื้อหาสาระสำคัญการหารือระหว่างผู้นำสหรัฐและอินโดนีเซีย เป็นเรื่องของความร่วมมือในด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ กิจการอวกาศ การซ้อมรบร่วมกัน การร่วมมือป้องกันภัยคุกคามทางนิวเคลียร์ นอกจากนี้สหรัฐยังสนับสนุนพลังงานสะอาดและการแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศของอินโดนีเซีย ที่สำคัญคือทั้งสองฝ่ายกำลังทำความร่วมมือเกี่ยวกับการจัดหาแร่ธาตุสำคัญอย่างนิคเกิลสำหรับการผลิตแบตเตอรีรถยนต์ไฟฟ้า (EVs)

ปธน.โจโค วิโดโด พบหารือทวิภาคีกับปธน.โจ ไบเดน ที่ทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา

นางเรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย เปิดเผยภายหลังการประชุมของผู้นำทั้งสองว่า ปธน.ไบเดน และปธน.โจโควี เห็นพ้องกันที่จะให้มีการจัดทำแผนการทำงานเพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อตกลงการค้าแร่ธาตุสำคัญเพื่อให้มั่นใจว่าอินโดนีเซียจะสามารถจัดหาแร่ธาตุสำคัญป้อนให้กับสหรัฐสำหรับการผลิตรถอีวี นอกจากนั้น ในส่วนของการช่วยเหลืออินโดนีเซียแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศ สหรัฐยังตกลงที่จะให้ข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนในการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงาน หรือ Just Energy Transition Partnership (JETP) มีผลบังคับใช้ในทันที เพื่อให้อินโดนีเซียสามารถเข้าถึงความสนับสนุนทางการเงินมูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์ที่สหรัฐและชาติสมาชิกกลุ่ม G7 รับปากเอาไว้กับอินโดนีเซีย

ท่ามกลางตารางภารกิจที่แน่นขนัดของปธน.ไบเดน ในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเอเปคในปีนี้ นอกเหนือจากการหารือทวิภาคีกับผู้นำอินโดนีเซียและจีนแล้ว ยังไม่มีการเปิดเผยกำหนดการหารือทวิภาคีกับผู้นำรายอื่นๆ จนถึงขณะนี้ มีเพียงกำหนดการพบกันระหว่างปธน.ไบเดน กับนายอันเดรส มานูเอล โลเปซ ประธานาธิบดีเม็กซิโกเท่านั้น ที่ทำเนียบขาวยืนยันว่าทั้งสองฝ่ายจะได้พบปะหารือกันนอกรอบการประชุมเอเปคที่ซานฟรานฟิสโกในวันศุกร์นี้ (17 พ.ย.)