เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับการประชุมเอเปค 2023 ที่สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพ

14 พ.ย. 2566 | 06:37 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ย. 2566 | 07:48 น.
577

การประชุมสุดยอดเอเปคปีนี้ เจ้าภาพสหรัฐกำหนดหัวข้อหลักของการประชุมเป็นเรื่องการสร้างอนาคตที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนสำหรับทุกคน ภายใต้ชื่อธีม "Creating a Resilient and Sustainable Future for All" ไฮไลท์และความน่าสนใจของการประชุมมีอะไรบ้าง เรามาดูกัน

 

ผู้นำของ 21 เขตเศรษฐกิจ สมาชิก กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) มารวมตัวกันที่นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 13-17 พ.ย.นี้ เพื่อประชุมสุดยอด ซึ่งปีนี้ถือเป็นครั้งที่ 30 ของ การประชุมสุดยอดเอเปค โดยมีไฮไลท์คือการพบกันที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้งนักระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาและจีน

ความสำคัญของเอเปค

  • กลุ่มความร่วมมือนี้มีขนาดเศรษฐกิจรวมคิดเป็น 62% ของจีดีพีโลก และเกือบ 50% ของมูลค่าการค้าโลก
  • นอกจากนี้ ยังมีเขตปกครองที่ไม่ใช่ประเทศ ได้แก่ ฮ่องกง และไต้หวันเป็นสมาชิกรวมอยู่ด้วย แต่ไม่มีอินเดียอยู่ในกลุ่ม แม้ว่าอินเดียจะเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกก็ตาม
  • ความตกลงที่เกิดขึ้นจากการประชุมไม่มีผลบังคับผูกพัน
  • การประชุมสุดยอดจะเกิดขึ้นในวันพุธถึงศุกร์ (15-17 พ.ย.) ส่วนเวทีคู่ขนานของผู้นำภาคธุรกิจเรียกว่า APEC CEO Summit จะเกิดขึ้นระหว่างวันอังคารและพฤหัสบดี (14-15 พ.ย.)

ใครเป็นสมาชิกเอเปคบ้าง

สมาชิกเอเปคประกอบด้วย ออสเตรเลีย บรูไน เเคนาดา ชิลี จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีเเเลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม

เอเปคซัมมิตปีนี้ จัดขึ้นที่นครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา

โฟกัสของการประชุมเอเปค 2023

เจ้าภาพสหรัฐกำหนดหัวข้อหลักของการประชุมเอเปคปีนี้เป็นเรื่องการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดีสำหรับทุกภาคส่วน ภายใต้ชื่อธีม "Creating a Resilient and Sustainable Future for All"

เป้าหมายมุ่งสร้างความร่วมมือที่เชื่อมต่อประสานกัน มีความนำสมัยด้านนวัตกรรม และคำนึงถึงภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนเสรีภาพ ความยุติธรรม และการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจที่สนับสนุนชาวอเมริกันและธุรกิจของประเทศ

นอกจากนี้ การประชุมเอเปคที่ซานฟรานซิสโกครั้งนี้ สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นเจ้าภาพยังต้องการเห็นความคืบหน้าในเรื่องกรอบการค้าที่สหรัฐริเริ่มไว้ ที่เรียกว่า IPEF (Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity) ซึ่งมีทั้งหมดสี่เสาหลัก คือ การค้า ห่วงโซ่อุปทาน เศรษฐกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และความโปร่งใสและยุติธรรมทางเศรษฐกิจ

ภายใต้รัฐบาลชุดก่อนของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ รัฐบาลอเมริกันถอนตัวออกจากกรอบการค้าเสรี TPP (Trans-Pacific Partnership) ต่อมารัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดนจึงได้ริเริ่ม IPEF ขึ้น หากเทียบกับ TPP ซึ่งมุ่งเป้าไปที่การลดสิ่งที่เป็นอุปสรรคกีดขวางทางการค้า IPEF เป็นกรอบการเจรจาที่มีความจำเพาะเจาะจงมากกว่า

ในการประชุมสุดยอดเอเปคปีนี้ สหรัฐตั้งเป้าหมายให้มีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ 2 ฉบับ ได้แก่

  1. ถ้อยแถลงรัฐมนตรีเอเปค ประจำปี 2023
  2. ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค หรือ “Golden Gate Declaration” ซึ่งเป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ระดับผู้นำ และเป็นการสานต่อการทำงานและผลลัพธ์ของการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคของไทยเมื่อปี 2022 เช่น การขับเคลื่อนนโยบายทางการค้าที่ครอบคลุมและยั่งยืน การสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีกับการทำงานขององค์การการค้าโลก (WTO) และการค้ากับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น

การพบกันระหว่างผู้นำสหรัฐและจีน

สหรัฐฯ และจีนเห็นว่าเวทีการประชุมนี้ความความสำคัญต่อการเเข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ และทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่การพบกันแบบทวิภาคีของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดนและประธานาธิบดีจีนสี จิ้นผิง ในวันพุธ (15 พ.ย.) ​ซึ่งจะเป็นการพบกันแบบซึ่งหน้าครั้งที่สองเท่านั้นตั้งเเต่โจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

นายเจค ซัลลิเเวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐเปิดเผยว่า ผู้นำสหรัฐมีความพยายามให้เกิดความคืบหน้าเรื่องการจัดตั้งช่องทางสื่อสารระหว่างกองทัพของสองประเทศอีกครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดในการสื่อสาร และการประเมินสถานการณ์ หรือการตัดสินใจพลาด

เป็นที่คาดหมายว่าผู้นำจีนและสหรัฐจะหารือกันเรื่องสงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาส รวมถึงประเด็นอื่น ๆ ด้วยเช่น ไต้หวัน การรุกรานยูเครนของรัสเซีย สิทธิมนุษยชน การค้าและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

 ปธน.ปูตินไม่มาเข้าร่วมประชุม

การเข้าร่วมประชุมของรัสเซียเป็นหัวข้อที่สร้างความเเตกแยกในเอเปค อันเนื่องมาจากที่รัสเซียบุกยูเครนเมื่อปี 2565 ประธานาธิบดีรัสเซียวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียไม่ได้เข้าร่วมประชุมเอเปคที่กรุงเทพฯ เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ และข่าวระบุว่า เขาจะไม่มาปรากฏตัวที่ซานฟรานซิสโกในปีนี้ที่สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพเช่นเดียวกัน

การเข้าร่วมประชุมเอเปคของไต้หวันมีความพิเศษ

ตามปกติประธานาธิบดีไต้หวันจะไม่เข้าประชุมเอเปค ดังนั้น เมื่อปีที่เเล้ว (2022)ในการประชุมสุดยอดเอเปคที่กรุงเทพฯ ไต้หวันส่งนายมอร์ริส ชาง ผู้ก่อตั้งบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ยักษ์ใหญ่ TSMC เป็นตัวเเทนผู้นำ และปีนี้ (2023) เขาก็จะเดินทางทำหน้าที่นี้เช่นกันที่ซานฟรานซิสโก

ประเด็นร้อนและการประท้วงที่เอเปค

มีการประท้วงเกิดขึ้นที่ซานฟรานซิสโกจากทั้งกลุ่มที่สนับสนุนจีนและที่ต่อต้านรัฐบาลปักกิ่ง ตลอดจนผู้มีต้องการเเสดงความเห็นเรื่องสงครามในตะวันออกกลาง และในยูเครน ซึ่งประเด็นเหล่านี้มีผลสร้างรอยร้าวภายในเอเปคเองด้วย เนื่องจากความเห็นต่างในหัวข้อร้อนเเรง จึงเป็นไปได้สูงว่าแถลงการณ์ร่วมจะมีเนื้อหากลาง ๆ เท่านั้น ส่วนมุมมองที่แหลมคมอาจถูกสะท้อนผ่านเพียงกลุ่มเล็ก ๆ ของประเทศที่มีความเห็นไปในทางเดียวกัน

ผู้นำเอเปคในธีมชุดเเจ็คเก็ตแบบนักบินทิ้งระเบิด (bomber jacket) เมื่อครั้งสหรัฐเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งแรกที่เมืองซีแอตเติล

อีกไฮไลท์ของการประชุมผู้นำเอเปค: ชุดธีมเดียวกัน

หนึ่งในสีสันของการประชุมสุดยอดเอเปคที่มีมานาน คือการแต่งชุดของบรรดาผู้นำในธีมเดียวกันที่สะท้อนวัฒนธรรมของประเทศเจ้าภาพ ซึ่งมักจะปรากฏที่การถ่ายภาพหมู่ผู้นำในวันสุดท้ายของการประชุม

ประเพณีนี้เกิดขึ้นที่การประชุมเมื่อ 30 ปีก่อน ณ เมืองซีเเอตเติลของสหรัฐอเมริกา​ โดยในครั้งนั้น ประธานาธิบดีบิล คลินตันกำหนดชุดธีมสำหรับบรรดาผู้นำเป็นเสื้อเเจ็คเก็ตแบบนักบินทิ้งระเบิด หรือ (bomber jacket)

อย่างไรก็ตาม ธีมชุดของผู้นำเอเปคมักถูกเก็บเป็นความลับเสมอเพื่อสร้างเซอร์ไพรส์ ดังนั้นในปีนี้ ยังคงต้องรอดูถึงวันสุดท้ายว่าบรรดาผู้นำจะปรากฏตัวในชุดธีมใด