“เศรษฐา” หอบเอกสารสำคัญ 5 กระทรวง หารือเชื่อมสัมพันธ์ ไทย-จีน

17 ต.ค. 2566 | 04:38 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ต.ค. 2566 | 06:14 น.
580

นายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” เดินทางเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการ และประชุม BRF พร้อมหารือเชื่อมสัมพันธ์ ไทย-จีน ด้านต่าง ๆ หลังจาก ครม. ไฟเขียวเอกสารสำคัญ 5 กระทรวง ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติสำคัญเกี่ยวกับการอนุมัติร่างเอกสารต่าง ๆ เพื่อให้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ใช้สำหรับการเดินทางเข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation : BRF) ครั้งที่ 3 และเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 17-18 ตุลาคม 2566 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

โดยที่ประชุมครม. เห็นชอบร่างเอกสารสำคัญ ทั้ง ร่างบันทึกความเข้าใจ ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับสูง ร่างเอกสารข้อริเริ่มว่าด้วยกรอบความร่วมมือ และร่างแผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือ ของกระทรวงต่าง ๆ รวม 5 กระทรวง สรุปรายละเอียดได้ดังนี้

 

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

กระทรวงการต่างประเทศ

ฉบับที่ 1 ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ แห่งราชอาณาจักรไทย กับคณะกรรมาธิการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อการจัดตั้งกลไกประสานงานสำหรับการร่วมกันส่งเสริมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ซึ่งครม.เห็นชอบตามที่ กระทรวงการต่างประเทศ เสนอ

มีสาระสำคัญ คือ เป็นการจัดตั้งกลไกประสานงานภายใต้แผนความร่วมมือฯ และกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับกลไกประสานงานระหว่างหน่วยงาน เช่น ขอบเขตการดำเนินงานของทั้งสองฝ่ายภายใต้กลไกประสานงานในสี่ประเด็น ได้แก่ 

  1. การตีความ การทบทวน และการปฏิบัติตามแผนความร่วมมือฯ 
  2. การทบทวน ปรับปรุงรายชื่อโครงการความร่วมมือภายใต้แผนความร่วมมือฯ 
  3. การร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติตามแผนความร่วมมือฯ 
  4. การแลกเปลี่ยนความร่วมมือในสาขาที่สอดคล้องกับแผนความร่วมมือฯ หรือในสาขาอื่นที่ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าเป็นประโยชน์การจัดการประชุมของกลไกประสานงาน การแบ่งค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดการประชุมกลไกประสานงานระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับคณะกรรมาธิการการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

ฉบับที่ 2 ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ แห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงการต่างประเทศ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

มีสาระสำคัญ ได้แก่ การรื้อฟื้นการจัดกลไกการหารือระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประจำทุกปี เพื่อกำหนดทิศทางด้านนโยบายในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทย - จีน 

รวมทั้งกระชับความร่วมมือในประเด็นระหว่างประเทศและภูมิภาคที่มีความสนใจร่วมกัน รวมทั้งจะยังคงจัดการประชุมหารือเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Dialogue) ในระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฝ่ายจีน และปลัดกระทรวงการต่างประเทศของฝ่ายไทย เพื่อติดตามผลการหารือระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน 

นอกจากนี้ ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ยังครอบคลุมความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายในด้านอื่น ได้แก่ การแลกเปลี่ยนระดับอธิบดีและนักการทูตรุ่นใหม่ การประสานงานระหว่างสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ ตลอดจนคณะผู้แทนประจำองค์การระหว่างประเทศและองค์การระดับภูมิภาคของทั้งสองฝ่าย ความร่วมมือในเวทีพหุภาคี และความร่วมมือด้านกงสุล

ร่างบันทึกความเข้าใจฯ จะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศของไทยและจีนในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกการหารือระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นการเพิ่มช่องทางการติดต่อระดับสูง การแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสานท่าทีในระดับนโยบาย และการเพิ่มพูนความไว้เนื้อเชื่อใจทางการเมืองระหว่างทั้งสองประเทศ

 

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

กระทรวงคมนาคม

ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมระดับสูงว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกัน ในห้วงการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่ 3 ซึ่งครม.เห็นชอบตามที่ กระทรวงคมนาคม เสนอ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1. การเพิ่มประสิทธิภาพและการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง โดยการส่งเสริมการพัฒนาโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งให้มีความทันสมัยในทุก ๆ สาขา ยกระดับการบริการคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศและการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน ส่งเสริมการสร้างความร่วมมือเพื่อการอำนวยความสะดวกในการขนส่งระหว่างประเทศ 

รวมทั้งสร้างความคล่องตัวให้กับระบบห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ พัฒนาระเบียงการขนส่งระหว่างประเทศที่มีความยืดหยุ่น และผลักดันให้มีการพัฒนาเส้นทางสายไหมทางอากาศ (Air Silk Road)

2. การส่งเสริมการพัฒนาพลังงานอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยการพัฒนาแหล่งพลังงาน การเข้าถึงแหล่งพลังงาน การเพิ่มความร่วมมือทางการค้าด้านทรัพยากรพลังงาน กระชับและขยายความร่วมมือด้านท่อส่งน้ำมันและก๊าซข้ามพรมแดน การยกระดับการพัฒนาพลังงานสะอาด การสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) และระบบการกักเก็บพลังงาน และการส่งเสริมภาคการผลิตและการบริโภคพลังงานสีเขียวที่มีคาร์บอนต่ำ

3. การปรับปรุงขีดความสามารถในการบริหารจัดการน้ำ โดยการยกระดับความร่วมมือในโครงการต่าง ๆ เช่น การป้องกันภัยแล้งและอุทกภัย การประปาและการบำบัดน้ำเสียในเขตเมือง การควบคุมการพังทลายของดิน การประหยัดน้ำในภาคชลประทาน การปกป้องระบบนิเวศ การจัดการแม่น้ำและทะเลสาบ 

การรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน การจัดตั้งแพลตฟอร์มสำหรับการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีการจัดการน้ำ และการแบ่งปันเทคโนโลยีและแนวคิดในการบริหารจัดการน้ำ และการดำเนินการตามแผนวิจัยทางวิทยาศาสตร์และโครงการเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ

4. การส่งเสริมการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานของข้อมูลข่าวสาร โดยการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายการสื่อสารที่ครอบคลุมระบบสายเคเบิลภาคพื้นดินและใต้ทะเลทั่วโลก การเพิ่มประสิทธิภาพด้านสถาปัตยกรรมทางเครือข่ายการสื่อสารและปรับปรุงการเชื่อมโยงการสื่อสารระหว่างประเทศ การเพิ่มอัตราการเข้าถึงของเทคโนโลยี 4G และ 5G และการเข้าถึงเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่การสนับสนุนระบบเทคโนโลยีสารสนเทศยุคใหม่ และการเร่งรัดการสร้างศูนย์ข้อมูลสีเขียว

5. การเสริมสร้างความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบและมาตรฐาน โดยการดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศด้านกฎ ระเบียบ และมาตรฐานด้านโครงสร้างพื้นฐาน การจัดตั้งและปรับปรุงกรอบการหารือ จัดให้มีการประชุมระดับนโยบายทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคีเพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติที่เป็นสากล ยกระดับความร่วมมือระหว่างรัฐบาล และอำนวยความสะดวกการแลกเปลี่ยนทางเทคนิคและการพัฒนาขีดความสามารถระหว่างประเทศ

6. การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมด้านธุรกิจระหว่างประเทศให้เหมาะสม โดยการร่วมกันสร้างหลักประกันในระบบการค้าพหุภาคีภายใต้กฎเกณฑ์ที่โปร่งใส เปิดกว้างและครอบคลุม มีความเป็นธรรม ความเสมอภาค ภายใต้กฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ 
การสร้างกลไกการลงทุนและการจัดหาแหล่งเงินทุน โดยใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางการเงินสมัยใหม่ อาทิ เงินกู้สีเขียว (Green Loans) และพันธบัตรสีเขียว (Green Bonds) และการขยายความร่วมมือด้านการต่อต้านการทุจริต การส่งเสริมธรรมาภิบาลทั้งสำหรับภาครัฐและเอกชน

 

“เศรษฐา” หอบเอกสารสำคัญ 5 กระทรวง หารือเชื่อมสัมพันธ์ ไทย-จีน

 

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ร่างข้อริเริ่มปักกิ่งเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสายแถบและเส้นทาง ซึ่งครม.เห็นชอบตามที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอ

โดยสาระสำคัญของข้อริเริ่มปักกิ่งเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสายแถบและเส้นทาง เพื่อระลึกถึงคำมั่นระดับโลกทั้งในเรื่องวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 การดำเนินงานตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และความตกลงปารีสตลอดจนอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (GBF)

รวมถึงให้ความสำคัญกับประเทศกำลังพัฒนาที่ควรได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอทั้งกองทุน และการเพิ่มขีดความสามารถเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายระดับโลก

ข้อริเริ่มปักกิ่งเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสายแถบและเส้นทางเรียกร้องให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ ได้แก่ การหารืออย่างครอบคลุมและดำเนินงานเพื่อส่งเสริมนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาสีเขียวและปล่อยคาร์บอนต่ำ การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งด้านการลดก๊าชเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมการดำเนินงานของกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลก 

โดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการเรียนรู้เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถ ผ่านการพัฒนากิจกรรมความร่วมมือในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือด้านการปกป้องทางนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม การควบคุมมลพิษ การแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ นโยบายและเทคโนโลยีการปกป้องสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการเชื่อมโยงโครงสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การก่อสร้างที่มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

การปรับปรุงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล การส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ การตั้งเป้าหมายการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน การส่งเสริมความร่วมมือด้านการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ แผนงานและมาตรฐานภาคการขนส่ง การส่งเสริมความร่วมมือด้านการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

การใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การแลกเปลี่ยนการลงทุนด้านภูมิอากาศ สนับสนุนการจัดตั้งหุ้นส่วนการลงทุนและการเงินเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือในเวทีประชุมที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้การร่วมสนับสนุน ข้อริเริ่มปักปิ่งเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สายแถบและเส้นทาง จะทำให้ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนต่ำ ผ่านกิจกรรมบนพื้นฐานความสมัครใจ ได้แก่ 

การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการเรียนรู้เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถ ตลอดจนการได้รับองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการปกป้องสิ่งแวดล้อม การลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงประสบการณ์ในการดำเนินงานตามกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลก การพัฒนาพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

รวมทั้งการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสนับสนุนการดำเนินงานของประเทศไทยเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065

 

“เศรษฐา” หอบเอกสารสำคัญ 5 กระทรวง หารือเชื่อมสัมพันธ์ ไทย-จีน

 

กระทรวงวัฒนธรรม

ร่างแผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และและกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สำหรับปี พ.ศ. 2566 – 2570 ซึ่งครม.เห็นชอบตามที่ กระทรวงวัฒนธรรม เสนอ

ทั้งนี้มีสาระสำคัญของร่างแผนปฏิบัติการฯ มุ่งเน้นความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น คณะผู้แทนรัฐบาลด้านวัฒนธรรม บุคลากรและเจ้าหน้าที่ทางด้านวัฒนธรรม ศิลปินและบุคคลที่มีบทบาทในด้านศิลปวัฒนธรรมทั้งจากภาครัฐและเอกชน ผ่านความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนบุคลากร การเพิ่มพูนการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างกันในสาขาทางด้านวัฒนธรรมที่หลากหลาย อาทิ 

การสนับสนุนความร่วมมือเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ การบริการสาธารณะทางด้านวัฒนธรรม อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และตลาดวัฒนธรรม ตลอดจนความร่วมมือทางด้านศิลปะการแสดง พิพิธภัณฑ์และหน่วยงานด้านมรดกวัฒนธรรม 

พร้อมสานต่อโครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมไทย-จีน รวมถึงการแสดงดนตรีและวัฒนธรรม “สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน” การสนับสนุนการเจรจาแลกเปลี่ยนทางวิชาการและวัฒนธรรมระหว่างกัน และการสนับสนุนการจัดการเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ในปี พ.ศ. 2568 

นอกจากนี้ ร่างแผนปฏิบัติการฯ มีการปรับกรอบระยะเวลาให้มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อให้สามารถดำเนินความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (พ.ศ. 2565 – 2569)

รวมทั้งแผนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการร่วมกันส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21

กระทรวงพาณิชย์ 

ร่างเอกสารข้อริเริ่มว่าด้วยกรอบความร่วมมือด้านการค้าระหว่างประเทศและความร่วมมือทางเศรษฐกิจสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลและการพัฒนาสีเขียว ซึ่งครม.เห็นชอบตามที่ กระทรวงพาณิชย์ เสนอ