สื่อนอกประโคมข่าวเหตุกราดยิงที่พารากอน สะท้อนหลากปัญหาอาวุธปืนในไทย

04 ต.ค. 2566 | 07:37 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2566 | 08:12 น.

สื่อต่างประเทศรายงานข่าวเยาวชนไทยก่อเหตุกราดยิงในห้างหรูสยามพารากอน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน ซึ่งเป็นชาวต่างชาติทั้งคู่ เผยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สถิติการครอบครองอาวุธปืน สูงที่สุดในเอเชีย และมีการก่อเหตุฆ่ากันตายด้วยปืนเป็นที่สองในอาเซียน

 

จากกรณีคนร้ายวัย 14 ปี ก่อเหตุกราดยิง ด้วย อาวุธปืน กลาง ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ในเขตปทุมวัน กทม. เมื่อช่วงเวลาราว 16.20 น.ของวันอังคาร (3 ต.ค.) จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนหนึ่งราย และชาวเมียนมาหนึ่งราย รวมถึงมีผู้บาดเจ็บอีก 5 รายซึ่งมีทั้งคนไทยและต่างชาติ ดังที่มีการนำเสนอข่าวไปแล้วนั้น สื่อต่างประเทศ ได้รายงานข่าวสะท้อนหลากหลายมุมมองเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยรอยเตอร์รายงานอ้างอิงการให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุ ผู้ก่อเหตุยังเป็นเยาวชน ที่มีประวัติการรักษาทางจิตเวชที่โรงพยาบาลราชวิถี แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดว่า เยาวชนรายนี้ ครอบครองอาวุธปืน ที่ใช้เป็นวัตถุสังหารได้อย่างไร

ประเด็นน่าสนใจที่รอยเตอร์นำเสนอ คือ ประเทศไทยมีสถิติการครอบครองอาวุธปืนสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค จากรายงานการสำรวจเกี่ยวกับอาวุธขนาดเล็ก “Small Arms Survey” หรือ SAS ในสวิตเซอร์แลนด์เมื่อปี 2017 พบว่า ประชาชนทั่วไปจำนวนกว่า 10.3 ล้านคนในประเทศไทยเป็นผู้มีอาวุธปืนในครอบครอง หรือมีการครอบครองอาวุธปืนเฉลี่ยประมาณ 15 กระบอกต่อประชากรทุกๆ 100 คน นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังระบุว่า อาวุธปืนประมาณ 6.2 ล้านกระบอกในครอบครองของคนไทย (ที่เป็นพลเรือน) เป็นปืนที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย    

ขณะที่สำนักข่าวเอพีรายงานในแง่มุมเดียวกันว่า ไทยเป็นหนึ่งในชาติที่มีอัตราครอบครองอาวุธปืนสูงสุดในเอเชีย และแม้จะมีกฎหมายควบคุมอาวุธปืนที่เข้มงวด แต่มันก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่เพียงพอ

จุดเกิดเหตุครั้งนี้คือภายในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน หนึ่งในห้างฯใหญ่ที่สุดของไทยและเป็นจุดหมายปลายทางแหล่งช็อปปิ้งหรูที่สุดของประเทศ

นอกจากนี้ รอยเตอร์ยังรายงานอ้างอิงข้อมูลจากสถาบัน Institute for Health Metrics and Evaluation (IHME) ของมหาวิทยาลัยวอชิงตันในสหรัฐอเมริกาซึ่งจัดทำข้อมูลในปี 2019 พบว่า ไทยเป็นประเทศที่มีสถิติการก่อฆาตกรรมด้วยอาวุธปืนมากเป็นอันดับสองของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากฟิลิปปินส์ ที่มาเป็นอันดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การก่อเหตุฆาตกรรมหมู่โดยการกราดยิงด้วยอาวุธปืน (mass shooting) ในไทยไม่ได้มีบ่อยครั้ง นานๆจะเกิดขึ้น โดยครั้งล่าสุดก่อนเหตุการณ์ที่พารากอนวานนี้ (3 ต.ค.) คือเหตุคนร้ายคนเดียวก่อเหตุใช้ปืนและมีดสังหารหมู่เด็กเล็กและผู้ใหญ่ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 38 คน (รวมผู้ก่อเหตุ) และเหตุกราดยิงที่ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช ในอำเภอเมืองฯ จ.นครราชสีมา ในปี 2563 มีผู้เสียชีวิต 30 คน (รวมผู้ก่อเหตุ) บาดเจ็บ 58 คน

เอพีรายงานว่า จุดเกิดเหตุครั้งล่าสุดนี้ คือภายในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน หนึ่งในห้างฯใหญ่ที่สุดของไทยและเป็นจุดหมายปลายทางแหล่งช็อปปิ้งหรูที่สุดของประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม เหตุสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้น ตำรวจสามารถควบคุมตัวผู้ก่อเหตุได้ภายในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมงหลังมีการแจ้งเหตุ พร้อมกันนี้ ยังได้รายงานเทียบเคียงเหตุการณ์เมื่อครั้งอดีตว่า เมื่อปี 2563 กรณีทหารผู้คลั่งก่อเหตุไล่ยิงผู้คนทั้งในและรอบๆห้างสรรพสินค้าที่โคราช ครั้งนั้นต้องใช้เวลานานถึง 16 ชั่วโมงก่อนที่คนร้ายจะถูกวิสามัญโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ

“ความรุนแรงจากอาวุธปืนเริ่มเป็นเรื่องปกติในไทย แม้เหตุกราดยิงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก”

“ความรุนแรงจากอาวุธปืนเริ่มเป็นเรื่องปกติในไทย แม้เหตุกราดยิงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก” รายงานของเอพียังระบุด้วยว่า เหตุการณ์นี้ (ที่สยามพารากอน) เกิดขึ้นไม่กี่วันก่อนวาระครบรอบ 1 ปีเหตุสังหารหมู่ครั้งเลวร้ายที่สุดของประเทศไทย นั่นคือเหตุคนร้ายบุกเดี่ยวใช้อาววุธปืนและมีดสังหารเด็กและผู้ใหญ่ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจังหวัดหนองบัวลำภู เหตุเกิดกลางวันแสกๆ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565

เอพีระบุว่า กฎหมายอาวุธปืนในไทยค่อนข้างเข้มข้น แต่แม้กระนั้นไทยก็ยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระดับการครอบครองอาวุธปืนสูงที่สุดในเอเชีย โดยเอพีอ้างอิงข้อมูลของ GunPolicy.org โครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ของออสเตรเลีย ที่ชี้ว่า อัตราครอบครองอาวุธปืนในไทยอยู่ที่ 10 กระบอกต่อ 100 คน เมื่อนับรวมถึงการถือครองโดยผิดกฎหมายด้วย ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย มีอัตราครอบครองอาวุธปืน ไม่ถึง 1 กระบอกต่อประชาชน 100 คน

และแม้บทลงโทษสำหรับการครอบครองอาวุธปืนผิดกฎหมายในไทย จะรวมถึงโทษจำคุก 1 ถึง 10 ปี และโทษปรับสูงสุด 20,000 บาท แต่นักวิจารณ์ในไทยมองว่า กระบวนการจดทะเบียนอาวุธปืนยังไม่ใกล้เคียงกับคำว่า “เข้มข้นเพียงพอ”

รายงานของเอพียังระบุถึงข้อคิดเห็นของ ดร. บุญวรา สุมะโน จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่เคยเขียนเอาไว้หลังจากเกิดเหตุสังหารหมู่ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหนองบัวลำภูเมื่อปีที่แล้วว่า "อัตราครอบครองอาวุธปืนระดับสูงอันน่าช็อคในไทย สืบเนื่องมาจากความสะดวกของกระบวนการออกใบอนุญาตอาวุธปืน มันง่ายที่จะร้องขอและได้รับใบอนุญาตอาวุธปืนในไทย”

ข้อมูลอ้างอิง