กราดยิงพารากอน : คนไทยเข้าถึงอาวุธปืนง่าย?

04 ต.ค. 2566 | 05:04 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2566 | 08:41 น.

กราดยิงพารากอน ชำแหละกฎหมายการครอบครองปืนในประเทศไทย ใครบ้างพกได้ ไม่ได้ บทลงโทษหากฝ่าฝืนกฎหมาย พร้อมการขอใบอนุญาตให้มีอาวุธปืน คนไทยเข้าถึงอาวุธปืนง่าย?

กราดยิงพารากอน นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุกราดยิงในประเทศไทย ถึงแม้จะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่เหตุการณ์กราดยิงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น จนสังคมเกิดคำถามมากมายทั้งสาเหตุ ผู้ก่อเหตุสามารถพกพา "อาวุธปืน" และนำมาก่อเหตุได้ง่ายดายขนาดนี้ เเละต้นต้นตอของปัญหามีแนวโน้มว่าจะไม่ได้รับการแก้ไขหรือไม่

เวลาพูดถึงเหตุกราดยิง “ปืน” อาวุธที่ใช้ก่อเหตุกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนให้ความสนใจ คำถามก็คือ คนไทยเข้าถึงอาวุธกันได้ง่ายๆ ขนาดไหน ใครถือปืนได้ ไม่ได้บ้าง และตามกฎหมายครอบครองปืนในไทย คนๆนั้นต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง?

ฐานเศรษฐกิจ ชวนเปิดกฎหมายในประเทศไทยที่เกี่ยวกับปืน ว่าด้วย พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490  ในกฎหมายนี้มีหลายมาตราแต่ที่สำคัญก็คือ มาตรา 8 ห้ามมิให้ผู้ใดมีเครื่องกระสุนปืนซึ่งมิใช่สําหรับใช้กับอาวุธปืนที่ตนได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้

ส่วนมาตรา 8 ทวิ ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว เว้นแต่เป็นกรณีที่ต้องติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ และห้ามมิให้พาอาวุธปืนไปโดยเปิดเผย หรือพาไปในชุมนุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อนมัสการ การรื่นเรง การมหรสพ หรือการอื่นใด ยกเว้นให้ ทหารและตำรวจ ข้าราชการของรัฐที่ยกเว้น ประชาชนที่อยู่ระหว่างช่วยราชการ ผู้ที่มีใบอนุญาต

กฎหมายไม่ห้ามสำหรับเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทหารและตำรวจซึ่งอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ หรือประชาชนผู้ได้รับมอบหมาย ให้มีหรือใช้อาวุธปืน ซึ่งอยู่ในระหว่างการช่วยเหลือราชการ และมีเหตุจำเป็นต้องมีและใช้อาวุธปืน เช่น ใช้ป้องกันตัวหรือทรัพย์สิน หรือในการกีฬาหรือยิงสัตว์ โดยใบอนุญาตให้ออกสำหรับอาวุธปืนแต่ละกระบอก ในการนั้นสำหรับผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตให้พกพาในกรุงเทพฯ หรือ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในต่างจังหวัด หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด

กณฑ์ในการขอใบอนุญาตให้มีอาวุธปืน

  • ประชาชน สัญชาติไทย อายุ 35 ปีขึ้นไป หลักทรัพย์อย่างน้อย 1,000,000 บาท เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 จนถึงวันยื่นคำร้อง หรือ เจ้าของกิจการต้องมีทุนจดทะเบียนบริษัทอย่างน้อย 1 ล้านบาทขึ้นไป
  • พระบรมวงศานุวงศ์
  • องคมนตรี
  • สมาชิกผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา
  • กรรมการขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
  • ข้าราชการ

ค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาต

ใบอนุญาตให้ทำอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืน

  • ครั้งแรก ฉบับละ 50,000 บาท
  • ต่ออายุปีต่อไป ฉบับละ 5,000 บาท

ใบอนุญาตให้ค้าอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืน

  • ครั้งแรก ฉบับละ 15,000 บาท
  • ต่ออายุปีต่อไป ฉบับละ 1,500 บาท

บทลงโทษ

พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 

1. มีอาวุธปืนไม่มีทะเบียน (ปืนเถื่อน)

  • จำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท

2. มีอาวุธปืนของผู้อื่นที่ได้รับใบอนุญาตฯ ไว้ในครอบครอง (ปืนผิดมือ)

  • จำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 1,000-10,000 บาท 

3. มีอาวุธปืนมีทะเบียน (พกพาโดยไม่มีใบอนุญาตพกพา)

  • จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

 4. มีเครื่องกระสุนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต (ไม่ถูกขนาดกับปืนที่มีใบอนุญาต)

  • จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

5. ยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุ ในเมือง หมู่บ้านฯ 

  • จำคุกไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • อาจโดนข้อหาอื่นๆ  เช่น พกพาปืนไปในทางสาธารณะ ฯ  และ พรบ.อาวุธปืน ฐานความผิดต่างๆ หากความผิดเข้าองค์ประกอบ หากมีเสียชีวิต อาจผิดประมาททำให้บุคคคลอื่นถึงแก่ความตาย 

ข้อมูล 

สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

สรุปสาระสําคัญของพระราชบัญญัติอาวุธปืน พ.ศ. 2490 และแก้ไขเพิ่มเติม

พกปืนอย่างไรให้ถูกกฎหมาย