อินโดฯ ดีเดย์ให้บริการรถไฟความเร็วสูงขบวนแรกในอาเซียนจันทร์นี้ (2 ต.ค.)

01 ต.ค. 2566 | 20:43 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ต.ค. 2566 | 16:09 น.

อินโดนีเซียเตรียมตัดริบบิ้นเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงสายแรกของอาเซียนวันจันทร์นี้ (2 ต.ค.) โดยรถไฟหัวกระสุนดังกล่าวผลิตโดยบริษัทจีน และจะช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางจากกรุงจาการ์ตาไปยังเมืองบันดุงบนเกาะชวาจากเดิม 3 ชม.เหลือเพียง 45 นาที

 

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า รถไฟความเร็วสูง สายแรกของ อินโดนีเซีย และสายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งเป็นที่รู้จักภายใต้ชื่อ รถไฟหัวกระสุนวูช (Whoosh) กำลังจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรกในวันจันทร์นี้ (2 ต.ค.) โดยจะวิ่งระหว่างเมืองหลวงจาการ์ตาและเมืองบันดุง ระยะทาง 142.3 กิโลเมตร ด้วยความเร็วที่วิ่งได้ถึง 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางบนเส้นทางดังกล่าวเหลือเพียงราวๆ 40-45 นาที จากเดิมที่ต้องใช้เวลามากถึง 3 ชั่วโมง

โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างอินโดนีเซียและจีน ภายใต้โครงการความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ Belt and Road Initiative มีมูลค่าโครงการสูงถึง 7,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นทุนสนับสนุนจากรัฐบาลจีน เส้นทางรถไฟก่อสร้างโดยบริษัทร่วมทุนอินโดฯและจีน ภายใต้ชื่อ บริษัท PT KCIC (ย่อมาจากชื่อเต็ม PT Kereta Cepat Indonesia-China) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐวิสาหกิจอินโดนีเซีย 4 ราย และ บริษัทไชนา เรลเวย์ อินเตอร์เนชันแนล จำกัด (China Railway International Co. Ltd.) ของจีน รถไฟความเร็วสูงนี้ เมื่อเปิดใช้บริการจะวิ่งได้ถึง 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นับเป็นรถไฟที่วิ่งได้เร็วที่สุดในอาเซียน ณ ขณะนี้ รองรับผู้โดยสารได้กว่า 600 คน

เมื่อเปิดใช้บริการจะวิ่งได้ถึง 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นับเป็นรถไฟที่วิ่งได้เร็วที่สุดในอาเซียน ณ ขณะนี้ รองรับผู้โดยสารได้กว่า 600 คน

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย มีกำหนดเปิดตัวรถไฟความเร็วสูงสายนี้ ในวันจันทร์ (2 ต.ค.) เขากล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยให้ผู้คนในสองเมืองใหญ่บนเกาะชวา เดินทางไปมาหาสู่กันสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้ สถานีแรกของรถไฟความเร็วสูงเส้นนี้ คือสถานี Halim KCBJ ในเมืองหลวงจาการ์ตา ส่วนสถานีสุดท้ายปลายทางคือ Tegalluar station ในเมืองบันดุงซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นทางชวาตะวันตก

เส้นทางรถไฟความเร็วสูง "วูช"  วิ่งระหว่างเมืองจาการ์ตา-บันดุง มี 4 สถานี (ภาพจาก PT KCIC)

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เดิมทีโครงการนี้ กำหนดต้นทุนไว้ที่ไม่ถึง 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเดิมมีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2562 แต่กลับต้องล่าช้าออกไปเนื่องจากปัญหาการก่อสร้างและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้นทุนบานปลาย

ด้านสำนักข่าวนิคเคอิของญี่ปุ่น รายงานอ้างอิงคำกล่าวของนายลูฮุต ปันด์ไจตัน รัฐมนตรีอาวุโสอินโดนีเซียซึ่งดูแลด้านพาณิชย์นาวีและการลงทุนของอินโดนีเซียว่า บริษัทไชน่า เรลเวย์ฯ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงให้กับผู้ร่วมทุนฝ่ายอินโดนีเซีย ดังนั้น เชื่อว่าในอนาคต อินโดนีเซียจะสามารถผลิตรถไฟความเร็วสูงได้ภายในประเทศ

โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างอินโดนีเซียและจีน

ในช่วงที่นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ของจีน เดินทางเยือนกรุงจาการ์ตา เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาเพื่อร่วมประชุมร่วมกับผู้นำอาเซียน เขาได้ทดลองนั่งรถไฟหัวกระสุนสายนี้แล้ว โดยทดลองนั่งเพียงสองสถานีระยะทาง 40 กิโลเมตรใช้เวลาเดินทางราว 11 นาทีโดยประมาณ หลังจากนั้นสัปดาห์ถัดมา ปธน.โจโค วิโดโด จึงได้ทดลองนั่งครั้งแรก ซึ่งเขาบอกว่า สามารถนั่งและเดินบนรถอย่างสะดวกสบายแม้ขณะรถไฟวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด จึงอยากเชิญชวนให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว เพื่อช่วยลดการจราจรที่แออัดซึ่งสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจได้มากกว่าปีละ 6,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และลดการปล่อยไอเสียซึ่งเป็นมลภาวะทางอากาศด้วย