เปิดร่างเอกสารสำคัญ 4 ฉบับ “เศรษฐา” ถกยูเอ็น 18 - 22 ก.ย.นี้

14 ก.ย. 2566 | 09:15 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ย. 2566 | 09:24 น.
781

เปิดร่างเอกสารสำคัญ 4 ฉบับ นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ใช้ร่วมประชุมยูเอ็น 18 - 22 ก.ย.นี้ กรุงนิวยอร์ก หลัง ครม. อนุมัติรายละเอียดเรียบร้อย เช็ครายละเอียดทั้งหมดรวมไว้ที่นี่

การเดินทางของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะ ทางเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ที่กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในช่วงระหว่างวันที่ 18 - 22 กันยายน 2566 ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการอนุมัติร่างเอกสารท่าทีไทยแล้วรวม 4 ฉบับ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอ 

พร้อมกันนี้ยังเห็นชอบให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างปฏิญญาทางการเมืองของการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และประกาศความมุ่งมั่นของไทยบนพื้นฐานของร่างประเด็นในประกาศความมุ่งมั่นระดับประเทศ สำหรับการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

รวมทั้งเห็นชอบให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมเพื่อส่งเสริมการมีผลใช้บังคับของสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างปฏิญญาและมาตรการเพื่อส่งเสริมการมีผลใช้บังคับของสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ด้วย

 

เปิดร่างเอกสารสำคัญ 4 ฉบับ “เศรษฐา” ถกยูเอ็น 18 - 22 ก.ย.นี้

สำหรับร่างเอกสารท่าทีไทยสำหรับการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ทั้ง 4 ฉบับ มีสาระสำคัญ ดังนี้

1.ร่างเอกสารท่าทีไทยสำหรับการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 (The 78th Session of the United Nations General Assembly: UNGA78) 

ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ตามร่างระเบียบวาระการประชุม UNGA78 ซึ่งประกอบด้วย 177 ระเบียบวาระ ภายใต้ 9 หมวด ได้แก่ 

  • หมวด A การส่งเสริมการพัฒนาและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ตามข้อมติของสมัชชาสหประชาชาติและผลการประชุมสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง 
  • หมวด B การรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ 
  • หมวด C การพัฒนาในทวีปแอฟริกา 
  • หมาด D การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน 
  • หมวด E การประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม 
  • หมวด E การส่งเสริมความยุติธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศ 
  • หมวด G การลดอาวุธ 
  • หมวด H การควบคุมยาเสพติด การป้องกันอาชญากรรมและการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศทุกรูปแบบ 
  • หมวด I การบริหารองค์การและอื่น ๆ

 

เปิดร่างเอกสารสำคัญ 4 ฉบับ “เศรษฐา” ถกยูเอ็น 18 - 22 ก.ย.นี้

2.ร่างปฏิญญาทางการเมืองของการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG summit) 

เป็นผลจากกระบวนการเจรจาระหว่างคณะผู้แทนถาวรของประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก โดยร่างปฏิญญาฯ เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ระดับผู้นำ มีสาระสำคัญกล่าวถึงการดำเนินการเพื่อบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายของสหประชาชาติ 

รวมทั้งการดำเนินการในการขจัดความท้าทายต่าง ๆ ที่อาจเป็นอุปสรรคในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว อาทิ ความยากจน วิกฤตด้านอาหาร ความไม่เท่าเทียมทางเพศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงผลพวงจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) 

3.ร่างประเด็นในประกาศความมุ่งมั่นระดับประเทศ (national commitment) สำหรับการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals Summit: SDG Summit) 

ครอบคลุมประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญในกรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีความเชื่อมโยงกับหมุดหมายต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570) ในสามหัวข้อหลัก ได้แก่ การลดความเหลื่อมล้ำ การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายต่าง ๆ ทั้ง

  • เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจนในทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ 
  • เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย 
  • เป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ สร้างการศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน 
  • เป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ จัดให้มีพลังงานที่ทันสมัย ยั่งยืน เสถียร และเข้าถึงได้สำหรับทุกคน 

4.ร่างปฏิญญาและมาตรการเพื่อส่งเสริมการมีผลใช้บังคับของสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Final Declaration and Measures to Promote the Entry into Force of the Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty)  

มีพื้นฐานจากร่างปฏิญญาฯ ฉบับปี ค.ศ. 2021 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 ให้ไทยร่วมรับรอง โดยมีสาระสำคัญ คือ

  • ย้ำความสำคัญของ CTBT ในฐานะกลไกพหุภาคีหลักของระบอบการลดและไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ และความจำเป็นเร่งด่วนของการมีผลใช้บังคับของ CTBT 
  • แสดงความยินดีที่มีรัฐผู้ลงนามและให้สัตยาบันเพิ่มขึ้น 
  • สนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการเตรียมการสำหรับองค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Preparatory Commission for the Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty - CTBTO) เพื่อให้สามารถบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้อง 
  • จำกัดการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งนี้ ร่างปฏิญญาฯ อยู่ระหว่างการเจรจาของประเทศต่าง ๆ