“ไบเดน” เสนอชื่อ พล.ร.อ.ลิซ่า ฟรานเชตติ เป็น “ผบ.ทร.หญิง” คนแรกของสหรัฐ

22 ก.ค. 2566 | 10:23 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ค. 2566 | 10:31 น.

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เสนอชื่อ พลเรือเอก ลิซ่า ฟรานเชตติ เป็นผู้บัญชาการกองทัพเรือที่เป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ทางการทหารของสหรัฐอเมริกา

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกา ได้เสนอชื่อแต่งตั้ง พลเรือเอก ลิซ่า ฟรานเชตติ ให้เป็น ผู้บัญชาการกองทัพเรือ ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญใน ประวัติศาสตร์ของสหรัฐ ที่จะทำลายกำแพงทางเพศในกองทัพ โดยเธอจะเป็นผู้หญิงคนแรกในระดับสั่งการและเป็นสมาชิกของเสนาธิการร่วมของกองทัพ

รายงานข่าวระบุว่า การตัดสินใจของปธน.ไบเดน เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ เจ้าหน้าที่เพนทากอนคาดหวังว่าการเสนอชื่อจะตกเป็นของ ซามูเอล พาพาโร ที่เป็นผู้นำในกองทัพเรือในแปซิฟิก และมีประสบการณ์ในการต่อสู้กับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นจากจีน

พลเรือเอก ลิซ่า ฟรานเชตติ

อย่างไรก็ตาม พล.ร.อ.ฟรานเชตติ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งงรองหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของกองทัพเรือ ก็เป็น 1 ในชื่อที่เชื่อว่าจะลงสมัครชิงตำแหน่งนี้ เธอได้รับการนับถืออย่างกว้างขวางและมีประสบการณ์มากมาย รวมถึงในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐในคาบสมุทรเกาหลี

ปธน.ไบเดนมีแถลงการณ์ระบุถึงประสบการณ์ 38 ปีของพล.ร.อ.ฟรานเชตติว่า “ตลอดอาชีพการงานของเธอ พลเรือเอกฟรานเชตติได้แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญที่กว้างขวาง ทั้งในด้านการปฏิบัติการและนโยบาย” และยังระบุด้วยว่า เธอเป็นผู้หญิงคนที่ 2 ที่เคยได้รับตำแหน่งพลเรือเอกระดับ 4 ดาวในกองทัพเรือสหรัฐ

ทั้งนี้ ข่าวระบุว่า เมื่อปี 2565 ปธน.ไบเดนเลือกพลเรือเอก ลินดา ฟาแกน ให้เป็นผู้นำหน่วยยามชายฝั่งของสหรัฐ ทำให้เธอเป็นผู้บัญชาการหญิงคนแรก แต่หน่วยยามฝั่งอยู่ภายใต้กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงกลาโหมอย่างเป็นทางการ

พล.ร.อ.ฟรานเชตติจะกลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่รับราชการทหารในกระทรวงกลาโหมและได้เข้าร่วมกับหัวหน้าเสนาธิการร่วม ซึ่งเป็นกลุ่มสมาชิกทหารสูงสุด 8 คน ที่ให้คำแนะนำแก่ประธานาธิบดีเกี่ยวกับเรื่องทางทหาร