สาเหตุจรวดยักษ์ “สตาร์ชิป” บึ้ม! กลางอากาศ หลังปล่อยจากฐานไม่กี่นาที

21 เม.ย. 2566 | 05:33 น.
อัปเดตล่าสุด :21 เม.ย. 2566 | 11:33 น.
1.0 k

จรวดยักษ์ “สตาร์ชิป” ของบริษัทสเปซเอ็กซ์ ระเบิดกลางอากาศ หลังปล่อยขึ้นจากฐานในรัฐเท็กซัส เพียงไม่กี่นาทีช่วงค่ำวานนี้ (20 เม.ย.ตามเวลาประเทศไทย) เหตุไม่สามารถแยกตัวจากจรวดสนับสนุน จนสูญเสียการควบคุมและตกดิ่งลงอ่าวเม็กซิโกไปในที่สุด

 

จรวดยักษ์ “สตาร์ชิป” (Starship) ของ บริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) เป็น จรวดแบบไร้คนขับ การระเบิดกลางอากาศ หลังปล่อยขึ้นจากฐานในครั้งนี้ จึงไม่มีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ

เหตุการณ์ระทึกขวัญเกิดขึ้นที่ฐานปล่อยจรวดสตาร์เบส (Starbase) ซึ่งเป็นท่าอวกาศยานของบริษัทสเปซเอกซ์ ในเมืองโบคาชิกา รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากที่จรวดยักษ์ถูกปล่อยออกจากฐานยิงได้สำเร็จเมื่อเวลา 08.33 น. ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐ หรือตรงกับเวลาประมาณ 20.33 น. ของวันที่ 20 เม.ย.ตามเวลาประเทศไทย

จากนั้นราว 4 นาทีมันก็สูญเสียการทรงตัวและระเบิดเป็นควันพวยพุ่งในท้องฟ้าท่ามกลางสายตาของผู้ชมทั่วโลกที่รับชมการถ่ายทอดสด (ไลฟ์สตรีม) การทดสอบปล่อยจรวด รวมทั้งสายตาของมวลมหาชนที่มาปักหลักรอชมการปล่อยจรวดยักษ์นี้จาก South Padre Island ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากท่าอวกาศยานสตาร์เบสที่เป็นจุดปล่อยจรวด

เหตุการณ์ระทึกขวัญเกิดขึ้นที่ฐานปล่อยจรวดสตาร์เบส (Starbase) ท่าอวกาศยานของบริษัทสเปซเอกซ์ ในเมืองโบคาชิกา รัฐเท็กซัส

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ตามกำหนดแล้ว จรวดยักษ์สตาร์ชิปจะต้องแยกตัวออกจากจรวดสนับสนุนซึ่งติดอยู่ด้านล่างของมันภายในระยะ 3 นาทีแรกของการบิน แต่การแยกตัวดังกล่าวล้มเหลว ทำให้จรวดสูญเสียการทรงตัว และก็ระเบิดกลางท้องฟ้าเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ที่ปล่อยควันพวยพุ่งเป็นทางยาว ก่อนจะโหม่งลงไปในน้ำทะเลอ่าวเม็กซิโกในที่สุด

มีรายงานบางกระแสระบุว่า จริงๆแล้ว ทีมงานภาคพื้นดินได้ตัดสินใจสั่งระเบิดจรวดเพื่อความปลอดภัย แต่เรื่องนี้ยังไม่ได้รับการยืนยัน ทั้งนี้ จรวดสตาร์ชิปไม่มีการส่งมนุษย์ขึ้นไปด้วยแต่อย่างใด จึงไม่มีใครเจ็บหรือตายจากเหตุการณ์ระเบิดกลางอากาศครั้งนี้

จรวดสูญเสียการทรงตัว และระเบิดกลางท้องฟ้าเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ที่ปล่อยควันพวยพุ่งเป็นทางยาว

ภารกิจล้มเหลวแต่ก็ให้บทเรียนเพื่อก้าวต่อไป

แม้จะล้มเหลวในการทดสอบการบินเต็มเวลา 90 นาทีเพื่อไปให้ถึงวงโคจร แต่นายอีลอน มัสก์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและซีอีโอของสเปซเอ็กซ์ เจ้าของจรวดยักษ์ลำนี้ ก็ยังประกาศ “ความสำเร็จ” ของการทดสอบดังกล่าว

"ผมขอแสดงความยินดีต่อทีม @SpaceX ในการทดลองปล่อยยานสตาร์ชิปที่น่าตื่นเต้น! เราได้เรียนรู้มากมายสำหรับการปล่อยจรวดครั้งต่อไป ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า" นายอีลอน มัสก์ ระบุในทวิตเตอร์ส่วนตัววานนี้ (20 เม.ย.)

ด้านบริษัทสเปซเอ็กซ์แถลงว่า "การทดสอบครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จ เพราะได้สอนอะไรหลายๆอย่างให้เราได้เรียนรู้ และความล้มเหลวในวันนี้จะช่วยให้เราปรับปรุงสตาร์ชิปให้ดีขึ้น"

จรวด หรืออวกาศยาน “สตาร์ชิป” ลำนี้ ถูกออกแบบมาเพื่อบรรทุกลูกเรือและสินค้าออกโคจรนอกโลก หรือจะเรียกว่าเพื่อส่งมนุษย์ท่องอวกาศก็ได้

ลำตัวจรวดสตาร์ชิปมีความสูงทั้งสิ้น 164 ฟุต ขณะปล่อยออกจากฐานมันจะถูกประกอบเข้ากับยอดของจรวดสนับสนุนชื่อซูเปอร์ เฮฟวี (Super Heavy) ที่มีขนาดสูง 230 ฟุต ทั้งสองส่วนนี้จะถูกปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้าพร้อมกันในทุกๆปฏิบัติการ และถูกนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก

การทดสอบการบินวานนี้ (20 เม.ย.) เป็นการทดสอบแบบรวม เพื่อวัตถุประสงค์ในการประเมินประสิทธิภาพร่วมกัน

ก่อนหน้านี้เมื่อวันจันทร์ (17 เม.ย.) บริษัทมีกำหนดทดสอบปล่อยจรวดครั้งแรก แต่ไม่สำเร็จเนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของวาล์วแรงดันแช่แข็งในบูสเตอร์ระยะแรกของจรวด ทำให้ต้องเลื่อนการปล่อยจรวดมาเป็นวันที่ 20 เม.ย.  

ตามแผนการเดิมนั้น จรวดลำนี้ต้องดีดตัวออกจากจรวดสนับสนุนที่เป็นชิ้นส่วนฐานล่างของยานภายในเวลาไม่กี่นาทีหลังถูกปล่อยจากฐาน เพื่อที่จรวดสตาร์ชิปที่อยู่ด้านบนจะเดินทางต่อไปได้ โดยมันจะออกเดินทางโคจรรอบโลก และต้องตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิกใกล้กับรัฐฮาวาย โดยไม่มีนักบินอวกาศหรือดาวเทียมใด ๆ อยู่บนยานลำนี้

เช่นเดียวกับนายอีลอน มัสก์ ที่มองว่า ความล้มเหลวครั้งนี้คือก้าวไปข้างหน้าที่สำคัญ นายบิล เนลสัน ผู้อำนวยการองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ได้เข้ามาร่วมแสดงความยินดีกับบริษัทสเปซเอ็กซ์ โดยกล่าวว่า "ทุกความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ตลอดประวัติศาสตร์นั้น ต้องการความเสี่ยงจากการคำนวณในระดับหนึ่ง เพราะความเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่มาพร้อมกับรางวัลอันยิ่งใหญ่"

ยานสตาร์ชิปถูกออกแบบเพื่อให้ขนส่งคนและสิ่งของไปยังดวงจันทร์ และดาวอังคาร

อะไรคือเป้าหมายหลักของภารกิจยานสตาร์ชิป

นี่คือความพยายามในการปล่อยจรวดสตาร์ชิปครั้งที่ 2 ของสเปซเอ็กซ์ (ครั้งแรกคือวันจันทร์ที่เกิดปัญหากับระบบควบคุมแรงดันของจรวดท่อนล่างที่เป็นตัวเร่งเครื่องยนต์ จึงต้องเลื่อนมาเป็นวันพฤหัสฯ) ทำให้การทดสอบที่เป้าหมายสูงสุดคือการใช้เป็นยานพาหนะในการเดินทางไปดาวอังคาร ต้องล่าช้าออกไป

  • สเปซเอ็กซ์ วางแผนจะใช้ยานสตาร์ชิปในการส่งคนและสิ่งของไปยังดวงจันทร์ และมีเป้าหมายสูงสุดคือดาวอังคาร โดยองค์การนาซาได้ทำข้อตกลงกับสเปซเอ็กซ์ จับจองจรวดยักษ์สตาร์ชิปนี้สำหรับใช้เป็นยานพาหนะนำทีมสำรวจที่จะส่งนักบินอวกาศขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้งในรอบหลายทศวรรษ
  • องค์การนาซาเลือกสตาร์ชิปเพื่อใช้ในภารกิจส่งนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์ให้ได้ภายในปี 2568 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอาร์เทมิส 3 (Artemis III) ต่อจากความสำเร็จของโครงการอะพอลโล (Apollo) ที่สิ้นสุดไปตั้งแต่ปี 2515
  • ขณะเดียวกัน บรรดามหาเศรษฐีนักท่องเที่ยว ต่างก็ตื่นเต้นกับการจับจองตั๋วทัวร์ดวงจันทร์กันล่วงหน้าแล้ว

บริษัทสเปซเอ็กซ์มั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จในการส่งจรวดสตาร์ชิปขึ้นสู่วงโคจรได้ในที่สุด โดยหลังจากอยู่ในวงโคจรแล้ว สตาร์ชิปจะได้รับการเติมเชื้อเพลิงด้วยยานลำอื่น เพื่อให้มันสามารถเดินทางต่อไปยังดาวอังคารหรือดาวที่ไกลออกไปได้

เป้าหมายสุดท้าย คือการสร้างฐานหรือสถานีบนดวงจันทร์และดาวอังคาร และทำให้มนุษยชาติสามารถดำรงอยู่บนสิ่งที่นานอีลอน มัสก์เรียกว่า  "เส้นทางสู่การสร้างอารยธรรมบนดาวเคราะห์หลายดวง"