เยอะไปมั้ย "นาซา" หวั่น “สเปซเอ็กซ์” ปล่อยดาวเทียม 3 หมื่นดวง! เสี่ยงชนกันเอง

11 ก.พ. 2565 | 17:22 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.พ. 2565 | 00:32 น.

องค์การนาซายื่นจดหมายร้องเรียนต่อคณะกรรมการด้านการสื่อสารของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FCC) ระบุโครงการปล่อยดาวเทียม 30,000 ดวงของ “สเปซเอ็กซ์” อาจก่อให้เกิดสลัมดาวเทียมในอวกาศ จนเกิดความเสี่ยงที่จะพุ่งชนกันเอง และอาจรบกวนภารกิจของยานอวกาศนาซา

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration – NASA) หรือ องค์การนาซา แสดงความกังวลถึงแผนการปล่อยดาวเทียมจาก โครงการสตาร์ลิงค์ อีก 30,000 ดวงของ บริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) โดยเฉพาะในแง่ความปลอดภัย

 

สื่อต่างประเทศรายงานว่า นาซาได้ยื่นจดหมายถึง คณะกรรมการด้านการสื่อสารของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FCC) เมื่อต้นสัปดาห์นี้ ระบุว่า แผนการของสเปซเอ็กซ์อาจทำให้มีดาวเทียมอยู่กัน “แออัด” จนเกิดความเสี่ยงที่จะพุ่งชนกันเองมากขึ้น และอาจรบกวนภารกิจการเดินทางด้วยยานอวกาศของนาซา

 

เนื้อหาส่วนหนึ่งในจดหมายของนาซา ยังระบุด้วยว่า เนื่องจากในระยะหลัง ๆ นี้ มีการเสนอโครงการถึง FCC เพื่อขอปล่อยกลุ่มดาวเทียมจำนวนมากเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นาซาจึงมีความกังวลว่าจะเกิดเหตุดาวเทียมเข้าประชิดกันถี่ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และอาจส่งผลกระทบต่อภารกิจด้านวิทยาศาสตร์และการเดินทางของมนุษย์ด้วยยานอวกาศของนาซา

ภาพจำลองกลุ่มดาวเทียมสตาร์ลิงค์ในอวกาศ

"นาซาต้องการมั่นใจว่า การส่งดาวเทียมสตาร์ลิงก์รุ่นที่ 2 เข้าสู่วงโคจรจะดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในการเดินทางของยานอวกาศ ตลอดจนความยั่งยืนระยะยาวของสภาพแวดล้อมในอวกาศ" จดหมายของนาซาระบุ

ทั้งนี้ เมื่อเดือน พ.ค. 2563 สเปซเอ็กซ์ได้ยื่นขออนุญาตกับทาง FCC เพื่อขอปล่อยกลุ่มดาวเทียมสื่อสารสตาร์ลิงก์ "รุ่นที่ 2" อีกเป็นจำนวน 30,000 ดวง โดยสเปซเอ็กซ์กล่าวว่า มีแผนจะเริ่มปล่อยดาวเทียมชุดนี้อย่างเร็วที่สุดในเดือนมี.ค. ปี 2565

 

สำหรับการปล่อยดาวเทียมสตาร์ลิงค์โดยบริษัทสเปซเอ็กซ์ ซึ่งเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยียานอวกาศและการสำรวจอวกาศที่ก่อตั้งโดยนายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกันที่ร่ำรวยเป็นอันดับ1 ของโลกนั้น แม้การปล่อยดาวเทียมจะเป็นไปอย่างราบรื่น แต่ระยะหลังก็มีข่าวเชิงลบที่เกี่ยวเนื่องกับดาวเทียมที่ปล่อยไปแล้วออกมาเป็นระยะ ๆ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา จรวดฟัลคอม 9 ซึ่งเป็นยานขนส่งทางอวกาศของ บริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX Falcon 9) ได้ทำภารกิจปล่อยดาวเทียมสตาร์ลิงค์ (Starlink) ซึ่งเป็นดาวเทียมสื่อสารจำนวน 49 ดวงเข้าสู่วงโคจรระดับต่ำเป็นผลสำเร็จ  แต่ดาวเทียมทั้งหมดต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “พายุแม่เหล็กโลก” (geomagnetic storm) ทำให้เกิดแรงเสียดทานในชั้นบรรยากาศสูงขึ้นกว่าปกติ

ยานฟัลคอมของสเปซเอ็กซ์

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ดาวเทียมสตาร์ลิงค์มากถึง 40 ดวงตกกลับเข้าชั้นบรรยากาศของโลก และมีการเผาไหม้ไปทั้งหมดแล้ว  บริษัทอธิบายว่า ในการปล่อยดาวเทียมทุกครั้งจะปล่อยให้อยู่ในระดับความสูงที่ต่ำกว่าวงโคจรที่กำหนดไว้ เพราะหากดาวเทียมเกิดปัญหาขัดข้องขึ้นมาก็จะตกกลับมาในชั้นบรรยากาศโลกและเกิดการเผาไหม้ ซึ่งทำให้ไม่กลายเป็นขยะอวกาศล่องลอยอยู่ในวงโคจร

 

ทั้งนี้ ข่าวระบุว่า ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา สเปซเอ็กซ์มีการปล่อยกลุ่มดาวเทียมสตาร์ลิงค์เป็นระยะ ๆ บางครั้งอาจจะมีจำนวนมากถึง 60 ดวง เพื่อสร้างกลุ่มดาวเทียมขนาดใหญ่ในวงโคจร เป้าหมายเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแก่ลูกค้าทุกที่บนโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่ด้อยโอกาส

 

ในปี 2565 สเปซเอ็กซ์ส่งดาวเทียมสตาร์ลิงค์ขึ้นสู่วงโคจรมาแล้ว 3 ครั้ง โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีการปล่อยดาวเทียมเป็นครั้งที่สามภายใต้ชื่อ "ภารกิจสตาร์ลิงค์ 4-7" ( Starlink 4-7) เป็นภารกิจส่งดาวเทียมสื่อสาร 49 ดวงเข้าสมทบกับดาวเทียมสื่อสารสตาร์ลิงค์อีก 1,800 ดวงที่อยู่ในวงโคจรอยู่แล้ว ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 31 ม.ค. บริษัทเพิ่งปล่อยดาวเทียมสำรวจของอิตาลี และในวันที่ 2 ก.พ. เป็นการปล่อยดาวเทียมของสหรัฐอเมริกา