“คิชิดะ” นายกฯญี่ปุ่นเยือนยูเครน แย่งซีนจีน-รัสเซียซัมมิต 

22 มี.ค. 2566 | 05:40 น.
อัปเดตล่าสุด :22 มี.ค. 2566 | 06:25 น.

ขณะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน เดินทางเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 20-22 มี.ค.นี้ ความเคลื่อนไหวฝ่ายพันธมิตรสหรัฐที่น่าจับตาคือการเดินทางเยือนกรุงเคียฟของนายฟูมิโอะ คิชิดะ ผู้นำญี่ปุ่น วานนี้ (21 มี.ค.)

 

นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เดินทางเยือน ยูเครน เมื่อวันอังคาร (21 มี.ค.) โดยไม่มีการประกาศล่วงหน้า ดึงความสนใจจากประชาคมโลกในช่วงที่ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง กำลังเยือนกรุงมอสโกเป็นวันที่สอง เพื่อหารือกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน

การเยือนยุโรปของสองผู้นำจากประเทศเอเชียครั้งนี้มีขึ้นในระยะทางห่างกันราว 800 กิโลเมตร (ระหว่างกรุงเคียฟกับกรุงมอสโก) และเป็นการเน้นย้ำถึง “จุดยืนของแต่ละฝ่าย” ในสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่กำลังย่างเข้าสู่ปีที่สอง

นายคิชิดะ นายกฯญี่ปุ่น ซึ่งกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกลุ่มจี7 ในเดือนพฤษภาคมนี้ ได้เข้าพบหารือกับประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ที่กรุงเคียฟ ในช่วงเดียวกันกับที่ประธานาธิบดีสี กำลังหารือกับประธานาธิบดีปูตินเป็นวันที่สองที่กรุงมอสโก

ผู้นำยูเครนให้การต้อนรับนายคิชิดะ พร้อมระบุว่า ญี่ปุ่นเป็น “ผู้ปกป้องระเบียบโลก” อย่างแท้จริง และเป็นพันธมิตรยาวนานของยูเครน

กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นแถลงเกี่ยวกับการเยือนยูเครนของนายคิชิดะว่า "ท่านนายกฯ คิชิดะแสดงความเคารพต่อความกล้าหาญและความอดทนของชาวยูเครนที่ยืนหยัดป้องกันมาตุภูมิภายใต้การนำของประธานาธิบดีเซเลนสกี และแสดงความเป็นเอกภาพและการสนับสนุนอย่างแนวแน่ต่อยูเครนในฐานะผู้นำญี่ปุ่นและประธานกลุ่ม จี7 ในปีนี้"

นายคิชิดะได้เยี่ยมเยือนโบสถ์แห่งหนึ่งในเมืองบูชา ชานกรุงเคียฟ (ขอบคุณภาพข่าวเกียวโด)

ขณะเดียวกัน NTV สื่อโทรทัศน์ของญี่ปุ่นได้แพร่ภาพนายคิชิดะ เดินทางด้วยรถไฟจากโปแลนด์ไปยังกรุงเคียฟ ขณะที่สำนักข่าวเกียวโด สื่อใหญ่ของญี่ปุ่น รายงานว่า นายคิชิดะได้เยี่ยมเยือนโบสถ์แห่งหนึ่งในเมืองบูชา ชานกรุงเคียฟ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความโหดร้ายป่าเถื่อนที่ทหารรัสเซียกระทำต่อชาวยูเครนด้วย

ผู้นำญี่ปุ่นได้กล่าวต่อเจ้าหน้าที่ยูเครนว่า เขาขอเป็นตัวแทนชาวญี่ปุ่นแสดงความไว้อาลัยต่อผู้เสียชีวิตในสงคราม พร้อมยืนยันว่า ญี่ปุ่นยินดีจัดหา "ความสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อสร้างสันติภาพในยูเครน"

นายราห์ม เอมานูเอล ทูตสหรัฐอเมริกาประจำญี่ปุ่น ทวีตข้อความเมื่อวันอังคาร (21 มี.ค.) ว่า ความเป็นพันธมิตรของยุโรป-แปซิฟิก แสดงให้เห็นสองขั้วที่แตกต่างกันอย่างยิ่ง โดยในขณะที่นายคิชิดะ ผู้นำญี่ปุ่น ยืนหยัดกับเสรีภาพ ปธน.สี จิ้นผิง ผู้นำจีน กลับยืนเคียงข้าง “อาชญากรสงคราม” ทูตสหรัฐอ้างอิงถึงคำสั่งของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC)ที่ออกหมายจับประธานาธิบดีปูตินเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (17 มี.ค.) จากข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน

ทั้งนี้ ตั้งแต่เกิดสงครามในยูเครน ญี่ปุ่นได้เข้าร่วมกับชาติตะวันตกประกาศมาตรการลงโทษต่อรัสเซียและสนับสนุนความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่ยูเครนมาโดยตลอด ในขณะที่จีนได้ปฏิเสธที่จะประณามรัสเซียและยังวิจารณ์มาตรการที่ชาติตะวันตกนำมาใช้กับรัสเซียอีกด้วย

ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดหาความช่วยเหลือมูลค่ากว่า 7,000 ล้านดอลลาร์ให้แก่ยูเครน และรับชาวยูเครนมากกว่า 2,000 คนเข้าไปลี้ภัยในญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นกับประเทศที่มีนโยบายรับคนเข้าเมืองที่เข้มงวดอย่างญี่ปุ่น

ขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและจีนยังคงมีประเด็นขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานานแล้ว โดยญี่ปุ่นมีข้อพิพาทด้านอาณาเขตทางทะเลทั้งกับจีนและรัสเซีย และมีความกังวลต่อความสัมพันธ์ที่แนบแน่นของสองประเทศนี้ รวมทั้งการซ้อมรบของจีนและรัสเซียที่ไม่ไกลจากพื้นที่ชายฝั่งของญี่ปุ่นด้วย

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวว่า จีนพยายามติดต่อกับรัสเซียเพื่อเป็นตัวกลางนำสันติภาพกลับคืนมาโดยเร็ว ซึ่งประธานาธิบดีปูตินและรัฐบาลรัสเซียต่างแสดงความยินดีต่อจุดยืนที่ยุติธรรม มีเป้าหมายและมีความสมดุลของจีนในเรื่องนี้ และเมื่อถามถึงการเยือนยูเครนของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โฆษกจีนกล่าวว่า "เราหวังว่าญี่ปุ่นจะดำเนินการมากขึ้นเพื่อลดความขัดแย้งแทนที่จะทำในสิ่งตรงกันข้าม"