ผลสำรวจชี้ ซีอีโอส่วนใหญ่มองศก.โลกปี 66 ซบเซา-รุมเร้าด้วยเงินเฟ้อ

17 ม.ค. 2566 | 08:00 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2566 | 15:21 น.

บริษัทวิจัย PwC เผยผลสำรวจในวันแรกของงานเวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรัม ระบุ ซีอีโอส่วนใหญ่มองเศรษฐกิจโลกปี 66 ซบเซาท่ามกลางวิกฤตเงินเฟ้อ

 

เวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรัม (WEF) เวทีระดมพลังความคิดเพื่อพิชิตความท้าทายหลากหลายมิติที่โลกกำลังเผชิญ เปิดฉากแล้วที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เริ่ม 16 ม.ค.เป็นวันแรก มีการเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของบรรดาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ทั่วโลก พบว่าส่วนใหญ่มอง แนวโน้มเศรษฐกิจโลก จะซบเซาในปีนี้ท่ามกลาง ภาวะเงินเฟ้อ ที่เป็นปัญหาใหญ่อันดับต้น

การสำรวจของบริษัทวิจัย ไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (PwC) พบว่า บรรดาซีอีโอส่วนใหญ่ (73%) ที่เข้าร่วมการสำรวจในครั้งนี้ คาดการณ์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงในปี 2566 ซึ่งถือเป็นมุมมองต่อเศรษฐกิจโลกที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ที่ PwC เริ่มทำผลสำรวจในปี 2554 ภายใต้หัวข้อ PwC Global CEO Survey

 

เงินเฟ้อคือภัยคุกคามอันดับ1

การสำรวจครั้งล่าสุดนี้ เป็นการสำรวจความคิดเห็นของบรรดาซีอีโอจำนวน 4,410 คน ใน 105 ประเทศและภูมิภาค ในช่วงเดือนต.ค.-พ.ย. 2565 โดยมีหัวข้อให้บรรดาซีอีโอเลือกว่า "อะไรคือภัยคุกคามเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงเป็นอันดับหนึ่ง" ซึ่งมีผลออกมาว่า

  • ซีอีโอ 40% เลือกเงินเฟ้อ
  • 31% เลือกความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาค
  • 25% เลือกความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์

 

บรรดาซีอีโอมีมุมมอง “เป็นลบ” ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจมากที่สุดในรอบกว่า 10 ปี

นายบ็อบ มอริทซ์ ประธาน PwC กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน เงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบหลายสิบปี และความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ถือเป็น 3 ปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้บรรดาซีอีโอมีมุมมอง “เป็นลบ” ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจมากที่สุดในรอบกว่า 10 ปี

"ซีอีโอทั่วโลกกำลังประเมินรูปแบบการดำเนินธุรกิจของตนเองอีกครั้ง และพากันลดต้นทุน แต่พวกเขายังคงให้ความสำคัญกับพนักงาน เพื่อที่จะรักษาพนักงานที่มีความสามารถพิเศษ ท่ามกลางกระแสการแห่ลาออกจากงานครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก (Great Resignation)"

นอกจากนี้ เกือบ 40% ของซีอีโอที่เข้าร่วมการสำรวจ ต่างก็เชื่อว่าองค์กรของพวกเขาจะไม่สามารถเติบโตต่อไปได้ภายในระยะเวลา 10 ปีหากไม่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบทางธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ

 

ทางออกคือทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน

นายมอริทซ์ยังกล่าวถึง “สิ่งที่เป็นความท้าทาย” ในสายตาของบรรดาซีอีโอ ที่ต่างก็มองว่า

  • ความต้องการในหมู่ผู้บริโภคและกฎระเบียบต่าง ๆที่มีการเปลี่ยนแปลง
  • ภาวะขาดแคลนแรงงานและทักษะที่จำเป็นในการทำงาน
  • เทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน (Technology Disruption)

ถือเป็น “ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุด” ที่จะมีผลต่อศักยภาพในการทำกำไรในระยะยาวของอุตสาหกรรม

"ความเสี่ยงต่าง ๆ ที่องค์กรและสังคมกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ ไม่สามารถแก้ไขได้เพียงลำพังหรือทำได้ด้วยตนเอง แต่ซีอีโอจะต้องร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นวงกว้างเพื่อให้หน่วยงานเหล่านี้มีส่วนในการขจัดความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสร้างความน่าเชื่อถือ และสร้างคุณค่าในระยะยาว ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อธุรกิจของพวกเขา เพื่อสังคมและโลกใบนี้"

สำหรับการประชุม เวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรั่ม (WEF) ประจำปี 2566 นั้น จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ "Cooperation in a Fragmented World" โดยการประชุมมีขึ้นตั้งแต่วันจันทร์ที่ 16 ม.ค.ไปจนถึงวันศุกร์ที่ 20 ม.ค.นี้