“เมียนมา”ประกาศอภัยโทษแก่นักโทษที่ถูกคุมขัง 7,012 คน

05 ม.ค. 2566 | 19:53 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ม.ค. 2566 | 02:59 น.

“เมียนมา”ประกาศอภัยโทษแก่นักโทษที่ถูกคุมขัง จำนวน 7,012 คน เนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี วันเอกราช พร้อมยุติการปฏิบัติการเคลื่อนไหวด้านการทหารตั้งแต่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.2566 ยกเว้นป้องกันประเทศ

 

สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยสภาบริหารการปกครองแห่งรัฐ ได้ออกคำสั่งฉบับที่ 1/2566 วันที่ 4 มกราคม 2566 เรื่อง คำสั่งอภัยโทษ ระบุว่า 

 

ประธานสภาบริหารการปกครองแห่งรัฐได้อนุมัติลดหย่อนผ่อนปรน และอภัยโทษแก่นักโทษชาย หญิงที่ถูกคุมขังอยู่ตามที่ต่างๆ ทั้งในเรือนจำ ในห้องขัง ในศูนย์กักกัน จำนวนทั้งสิ้น 7,012 คน ตามวิธีปฏิบัติในคดีอาญามาตรา 401 (1)   

โดยมีข้อแม้ว่า ถ้าหากกระทำผิดซ้ำนอกจากโทษที่จะต้องได้รับแล้ว ยังจะถูกนำโทษที่ค้างจากการประกาศอภัยโทษ มารวมให้รับโทษจนครบ 


ทั้งนี้เพื่อเป็นที่รำลึกเนื่องในวันครบรอบ 75 ปี วันเอกราช ในวันที่ 4 มกราคม 2566 เพื่อสร้างความปีติสุขแก่ประชาชน และเห็นแก่ทางสังคม เพื่อให้เข้าใจในเมตตา และเจตนาของภาครัฐต่อไป ตามคำสั่งของ พล.ท.อ่องลินดวย เลขานุการสภาบริหารการปกครองแห่งรัฐ

 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2565 รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยสำนักงานกองบัญชาการทหารสูงสุด ได้ออกแถลงการณ์เพื่อยุติการสู้รบ และสันติภาพถาวร ระบุว่า

 

1. ตามที่กองทัพได้ประกาศยุติการสู้รบตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 รวมประกาศ 21 ครั้ง เป็นเวลานานกว่า 4 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งสันติภาพถาวรทั่วทั้งประเทศ เพื่อให้สามารถส่งเสริมดำเนินการกระบวนงานสันติภาพมากขึ้น เพื่อให้สามารถดำเนินการกระบวนงานด้านการควบคุมรักษาซึ่งโรคระบาดโควิด 19 ให้มีประสิทธิภาพ

 

กองทัพได้ช่วยยุติการสู้รบมาอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นเรื่องการป้องกันประเทศ และเรื่องการบริหารการปกครอง รวมทั้งการก่อกวนโจมตีทำลายโครงข่ายความมั่นคง และการปกครองของรัฐบาล

 

2. ระยะเวลาที่กองทัพเข้ามารับช่วงต่อในการปฏิบัติหน้าที่ของบ้านเมืองที่เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2008 จนถึงเวลานี้รวมเวลาหนึ่งปีสิบเอ็ดเดือน ในส่วนของสภาบริหารการปกครองแห่งรัฐได้กำหนดมาตรการปฏิบัติงาน 5 ประการต่อไป เพื่อทำให้ระบบประชาธิปไตยที่มีกฎระเบียบ และเพื่อการเสริมสร้างสหภาพที่มีพื้นฐานของระบบสหพันธ์ประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์

 

มีการดำเนินการตามแผนงานสันติภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานตามกระบวนการในข้อที่ 4 ของแผนงานทั้ง 5 ประการ ที่ว่า “จะให้ความสำคัญในการปฏิบัติงานตามข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญาข้อตกลงยุติการสู้รบทั่วประเทศ (NCA) เพื่อให้ได้มาซึ่งสันติภาพถาวรทั่วประเทศ”

 

3. ในส่วนของสภาบริหารการปกครองแห่งรัฐ สามารถจัดงานเฉลิมฉลองพร้อมกับประชาชนพลเมืองทั่วสหภาพเนื่องในวันครบรอบสหภาพปีที่ 75 อย่างยิ่งใหญ่ สามารถปลูกจิตสำนึกรักสหภาพแก่ประชาชนพลเมืองทุกคนให้อยู่ในจิตในใจเพื่อความมั่นคงเข้มแข็งของสหภาพ

 

4. วันที่ 4 มกราคม 2566 เป็นวันเอกราชครบรอบปีที่ 75 ซึ่งเป็นวันที่มีความหมายอย่างลึกซึ้งในประวัติศาสตร์ เพราะความขัดแย้งที่ต้องต่อสู้กันด้วยอาวุธภายในประเทศ ที่เกิดขึ้นจากพื้นฐานความแตกต่างทางความคิดตั้งแต่ได้รับเอกราชเป็นต้นมา ทำให้ประชาชนทั่วทั้งประเทศยังไม่สามารถได้ลิ้มลองรสแห่งคำว่าเอกราชเป็นเวลานานถึง 75 ปีเต็ม แล้วด้วยเช่นกัน

 

เมื่อสามารถแก้ไขความขัดแย้งที่ต้องต่อสู้กันด้วยอาวุธ จึงจะสามารถได้ลิ้มลองรสชาดที่เป็นสาระแก่นสารของประชาธิปไตย แก่นสารของเอกราชอย่างสมบูรณ์

 

5. ในส่วนของ พลเอกอาวุโส มิ้นอ่องหล่าย ประธานสภาบริหารการปกครองแห่งรัฐ/นายกรัฐมนตรีแห่งรัฐ เคยกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับสันติภาพต่อกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ และเกี่ยวกับสันติภาพเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2565 ที่ผ่านมาแล้ว พร้อมกันนั้นได้เชิญชวนผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ เพื่อให้สามารถพบปะพบคุยอย่างเปิดเผย และโปร่งใสด้วยตนเองสำหรับการปฏิบัติงานเรื่องสันติภาพให้เกิดผลในทางปฏิบัติ 

 

จากคำเชิญชวนดังกล่าวจนถึงวันนี้ สามารถพบปะกับกลุ่ม DKBA, KNU/KNLA-PC, PNLO, NMSP, ALP, RCSS (SSA), LDU เป็นต้น ทั้ง 7 กลุ่ม ที่ลงนามยุติการสู้รบ NCA และกลุ่ม UWSA, NDAA, SSPP(SSA) เป็นต้น รวมสามกลุ่ม ทั้งสิ้น 10 กลุ่ม ถึงสองครั้ง

 

6. การเจรจาดังกล่าวได้พูดคุยสนทนากันถึงรายละเอียดต่างๆ ด้วยความโปร่งใส เกี่ยวกับเรื่องการใช้ระบบประชาธิปไตยแบบหลายพรรคการเมือง และการเสริมสร้างสหภาพที่มีพื้นฐานของระบบประชาธิปไตย และสหพันธรัฐ เรื่องข้อเรียกร้องของกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ เรื่องความจำเป็นอย่างแท้จริงสำหรับท้องถิ่นและบ้านเมือง สามารถสร้างผลในเชิงสร้างสรรค์จากการพูดคุยหารือ

 

อีกทั้งจะได้ดำเนินงานตามกระบวนการสันติภาพต่อไป ซึ่งจะเป็นการปฏิบัติตามแนวทางสันติภาพที่มีพื้นฐานของกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2008 และข้อตกลงสัญญายุติการสู้รบทั่วประเทศ (NCA) 
 

7. ขอประกาศว่ากองทัพจะยุติการปฏิบัติการเคลื่อนไหวด้านการทหารตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ยกเว้นเรื่องการป้องกันประเทศ และเรื่องการบริหารการปกครอง รวมทั้งการก่อกวนโจมตีทำลายโครงข่ายความมั่นคง และการปกครองของรัฐบาล เพื่อให้สามารถดำเนินงานตามกระบวนการการเจรจาสันติภาพที่สามารถเป็นจริงในทางปฏิบัติ เพื่อให้ได้มาซึ่งสันติภาพถาวร ที่ประชาชนทั่วทั้งประเทศต้องการ และปรารถนา
 

 

8. จะเป็นการก้าวเดินสู่เป้าหมายที่ว่า ความสงบร่มเย็นของสหภาพ ความเจริญก้าวหน้าในชีวิตเศรษฐกิจและสังคม และการประสานพูดคุยหาทางออกไปสู่เป้าหมายคือ สันติภาพถาวร ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกชาติพันธุ์ต้องการ และปรารถนาโดยทั่วกันให้เป็นไปตามวิธีปฏิบัติของประชาธิปไตย

 

ในส่วนของกลุ่มองค์กร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการสันติภาพ ในห้วงเวลาที่กองทัพประกาศยุติการเคลื่อนไหวด้านการทหาร เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของสหภาพ ขอให้ทุ่มเทแรงกาย สติปัญญาช่วยพยายามดำเนินการพูดคุยเจรจาสันติภาพอย่างเต็มความสามารถ