ทางรอดของสินค้าการเกษตรของเมียนมา

12 ธ.ค. 2565 | 04:21 น.
638

คอลัมน์เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา มีเพื่อนรุ่นหลานคนหนึ่งจากประเทศเมียนมา ได้ส่งไลน์เข้ามาทักทายผม และบอกผมว่า ตอนนี้เขาได้เข้ามายังประเทศไทยแล้ว หลานชายคนนี้ เป็นเด็กที่รูปหล่อมาก เคยไปประกวดชายงามที่ประเทศอินเดีย และได้รางวัลรองชนะเลิศมา พอเขากลับมาที่ประเทศเมียนมา ก็อยากจะเข้าสู่วงการแสดง แต่น่าเสียดายที่ไปได้ไม่ไกล ต่อมาได้มารู้จักกับกลุ่มเพื่อนๆ ผม จึงเปลี่ยนอาชีพเข้ามาทำธุรกิจ ซึ่งก็ถือว่าโชคดีกว่าเพื่อนๆ เขาอีกหลายคน ที่ยังอยู่ในวงการบันเทิง เพราะช่วงที่ผ่านมาหากยังอยู่ในวงการบันเทิง คงต้องกระโดดเข้าสู่ขบวนการต่อต้านรัฐบาลอย่างแน่นอน เพราะวงการนี้มีคนเข้าสู่ท้องถนนประท้วงรัฐบาลเยอะมาก และส่วนใหญ่ก็ไปไม่รอด บางคนก็ต้องเข้าป่าไป บางคนก็ต้องหนีออกนอกประเทศ ที่แย่หน่อยก็ถูกจับตัวเข้าคุกเข้าตะรางไปเลยครับ
 

เขาโทรมาหาผมเพื่อจะบอกผมว่า ตอนนี้เขาได้เข้ามาประเทศไทยเพื่อมาเรียนรู้การทำการเกษตรแบบก้าวหน้า ซึ่งสถานที่เขาเข้าไปฝึกงาน เท่าที่เขาส่งรูปมาให้ผมดู น่าจะเป็นฟาร์มที่ใหญ่และทันสมัยพอสมควรเลยครับ ผมจึงคิดว่าเป็นการดีสำหรับชาวเมียนมามาก ที่มีโอกาสได้มาเรียนรู้ที่นี่ เพราะว่าปัจจุบันนี้ การเกษตรของประเทศเมียนมา มีแต่เกษตรพื้นฐานเท่านั้น แต่สักวันหนึ่ง หากฟ้าเปิดประเทศเขาก็จะต้องเดินเข้าสู่การเกษตรอุตสาหกรรม หรือเกษตรก้าวหน้าอย่างไม่ต้องสงสัยเลยครับ

 

ที่ประเทศเมียนมาทรัพยากรธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง และได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ในภูมิภาคนี้มาก ดินฟ้าอากาศก็ดีกว่า อีกทั้งน้ำที่เป็นปัจจัยสำคัญของการเกษตร ก็ดีกว่าประเทศในแถบนี้แทบจะทุกประเทศ เพราะมีแม่น้ำสายใหญ่คือแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำอิยะวดี ขนาบข้างทั้งทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ที่สำคัญแม่น้ำสายเล็กๆ ยังมีอีกเยอะมาก ทำให้เห็นว่าทุกปีจะมีน้ำท่วมทุกครั้งในฤดูฝนหรือฤดูน้ำหลาก น้ำท่วมนำมาซึ่งปุ๋ยธรรมชาติ ที่มากับกระแสน้ำหลากนั่นเอง
 

นี่เป็นธรรมชาติสร้างสรรค์อย่างแท้จริง อีกทั้งที่ประเทศเมียนมา พื้นที่ป่าไม้ส่วนใหญ่ ยังคงสมบุรณ์ไม่ถูกทำลาย ไม่เหมือนประเทศไทยเรา ที่จะเหลือเพียงในป่าสงวนเท่านั้น ทั้งๆ ที่จำนวนประชากรของเขากับของไทยเรา ไม่ได้ห่างกันมากมายเลย นั่นอาจจะมีสาเหตุมาจากการคมนาคมไม่สะดวก ถนนหนทางค่อนข้างจะทุรกันดาร เลยทำให้ป่าไม้ยังไม่ถูกทำลายไปก็เป็นได้ครับ
 

การเกษตรส่วนใหญ่ของประเทศเมียนมา ก็จะเป็นการเกษตรพื้นฐานเสียมากกว่า กล่าวคือการพัฒนาพืชพันธุ์ใหม่ๆ ยังไม่ไปถึงไหน อีกทั้งการขนส่งระหว่างไร่นารากสวน เข้าสู่ตลาดยังคงเป็นลักษณะแบบดั้งเดิม ทำให้เกษตรกรขายสินค้าการเกษตรได้ในราคาที่ต่ำมาก เพราะจะต้องขายผ่านพ่อค้าคนกลาง ที่เขาลงทุนเข้าไปขนสินค้าการเกษตรออกมาจากไร่นา ด้วยความยากลำบาก พอมีค่าโลจิสติกส์เข้ามาเป็นตัวแปรของราคาสินค้า จึงทำให้เม็ดเงินที่ถึงมือเกษตรกร มันช่างน้อยนิด น่าสงสารจริงๆ ครับ
 

ในขณะที่การพัฒนาด้านเกษตรอุตสาหกรรมในประเทศเมียนมาเอง ก็ยังไม่ได้พัฒนาเลย ซึ่งก็พอจะเข้าใจได้ ก็คล้ายๆ ประเทศไทยเมื่อยุคต้นปี 2500 นั่นแหละครับ เขาคงต้องมองมาที่ประเทศไทยเราเป็นบทเรียนเล่มใหญ่ ให้เขาศึกษาแล้วละครับ

 

ประเทศไทยเราเมื่อครั้งที่เริ่มพัฒนาสินค้าการเกษตรอุตสาหกรรม เราก็ได้ต้อนรับการเข้ามาลงทุนจากต่างประเทศก่อน พอเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาสู่ประเทศไทย ก็มีกลุ่มสินค้าการเกษตรอุตสาหกรรม ที่มองเห็นศักยภาพของประเทศไทยเรา ซึ่งในยุคนั้นค่าแรงก็ต่ำมากๆ อีกทั้งยังได้รับแรงส่งเสริมจากกรมการส่งเสริมการลงทุน ต่อมาก็มี BOI (Board Of Investment) เข้าร่วมในการดึงเอานักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา ในยุคนั้นก็มีจากไต้หวันและญี่ปุ่นเป็นหลัก
 

แน่นอนว่าการเข้ามาลงทุน ทำให้หน้าใหม่ของการเข้าสู่การเกษตรยุคใหม่ของประเทศไทยเราเปลี่ยนโฉมไปโดยสิ้นเชิงครับ ซึ่งเขาเข้ามาพร้อมทั้งนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ ในยุคนั้นเราจะยังไม่เคยได้รับรู้เข้ามาสู่ประเทศไทยเราครับ ปัจจุบันนี้เถ้าแก่ที่มาจากไต้หวันหลายๆ ท่าน ยังคงเป็นตำนานที่ยังมีชีวิตอยู่ในประเทศไทยเราอยู่ ซึ่งทุกวันนี้ผมก็ยังได้มีโอกาสประชุมร่วมกับท่านทุกเดือนอยู่เลยครับ นับว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นผู้ที่สร้างคุณูปการให้แก่ประเทศไทยเรา โดยปิดทองหลังพระจริงๆ ครับ
 

หันกลับมามองประเทศเมียนมา ในยุคปัจจุบันนี้ คงจะยากที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่างชาติ เข้าไปลงทุนในประเทศเมียนมา เพราะการถูกต่างชาติโดยเฉพาะพี่ใหญ่ในประเทศตะวันตกแซงชั่น ถึงสองครั้งสองครา ทำให้ความเชื่อมั่นลดลงอย่างมาก ในมุมมองของผม ช่องทางที่ประเทศเมียนมาทำได้ในขณะนี้ ก็ยังพอมีอยู่นะครับ ยังไม่ถึงกับตีบตันเสียเลยทีเดียว
 

กล่าวคือการส่งคนออกมาเรียนรู้จากประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งต้องให้กลุ่มคนที่ออกมานั้น สร้างความสัมพันธ์ที่ดี คล้ายๆ กับเป็นฑูตสันถวไมตรีภาคเอกชน เพื่อรอวันเวลาว่า ประเทศเมียนมาสงบลงเมื่อใด การต่อยอดขององค์ความรู้กับสายสัมพันธ์เหล่านั้น ก็จะทุ่นเวลาการขยายตลาดและกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วครับ
 

กลุ่มที่เป็นเจ้าของฟาร์มใหญ่ๆ หรือโรงงานแปรรูปสินค้าการเกษตรอุตสาหกรรม ที่มีบุคลากรจากประเทศเมียนมา หากท่านรับเขามาฝึกงาน เราควรต้องอาศัยจังหวะนี้ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเขา บางครั้งเราเองก็คงไม่ทราบว่า เขาเป็นใคร? มีความสำคัญอย่างไร? ก็อย่าได้มองข้ามเขานะครับ ดูอย่างเจ้าหลานชายคนที่ผมเกริ่นนำมาเถอะครับ ใครจะไปรู้ได้ว่าเขาคือลูกชายแท้ๆ ของอดีตเลขาประจำกายของบุคคลสำคัญอันดับหนึ่งของประเทศเมียนมาเลยครับ