เหตุที่ทำให้การพัฒนาประเทศเมียนมาลำบากมาก

05 ธ.ค. 2565 | 04:25 น.

คอลัมน์เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

มีแฟนคลับได้โทรศัพท์เข้ามาหาผม และได้แสดงความคิดเห็นมาว่า สาเหตุที่ประเทศเมียนมาพัฒนายาก เพราะเหตุผลที่มาจากการรัฐประหารของทหาร ซึ่งโดยส่วนตัวผมมีความคิดว่า นั่นไม่ใช่เป็นคำตอบที่ถูกต้องทั้งหมด ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ประเทศเมียนมาพัฒนายากลำบากนั้น ไม่เพียงแต่จะมีการรัฐประหารทั้งหมดหรอกนะครับ
 

หากเรามองด้วยสายตาที่เป็นธรรมแล้ว ประเทศไทยเราเองก็มีการรัฐประหารบ่อยมาก ไม่แพ้ชาติใดในโลก อีกทั้งยังมีอีกหลายประเทศ ที่มีการปกครองในลักษณะที่ผู้มีอำนาจผูกขาด ที่มาจากการรัฐประหาร แต่ทำมั้ยประเทศเหล่านั้นจึงมีการพัฒนาประเทศได้ละครับ ในความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เราก็จะมองด้วยความเป็นกลางน่าจะดีกว่านะครับ ผมเป็นอีกคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตทำมาหากินอยู่ในประเทศเมียนมามายาวนานกว่าสามสิบกว่าปี จึงอยากจะแชร์มุมมองของผมให้อ่านเล่นๆ นะครับ อย่าได้จริงจัง เพราะเรื่องการเมืองเป็นเรื่องละเอียดอ่อนครับ
 

การพัฒนาประเทศนั้น จะประกอบด้วยหลากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น การพัฒนาด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา การสาธารณสุข และสาธารณสมบัติเป็นต้น แต่ละด้านล้วนมีความสำคัญไม่แพ้กันครับ การพัฒนาสังคมที่ผมเอามาไว้จั่วหัวนั้น เป็นปัจจัยที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งในประเทศเมียนมา เพราะที่นั่นเป็นสังคมที่ผสมปนเปกันไปหมด

 

ก็อย่างที่ทราบว่า สังคมในประเทศเมียนมาเป็นสังคมที่มีชนชาติพันธุ์หลากหลายเผ่าพันธุ์ ที่แต่ละกลุ่มก็มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ภาษาพูดภาษาเขียนก็แตกต่างกันมาก บางเผ่าพันธุ์หากไม่ได้เข้าเรียนหนังสือที่เป็นโรงเรียนของรัฐบาล เด็กๆ จะไม่สามารถพูดภาษาเมียนมาที่เป็นภาษาราชการได้เลย บางคนอายุจนแก่เฒ่า ก็ไม่รู้จักหนังสือเมียนมาแม้แต่ตัวเดียวด้วยซ้ำไป
 

ส่วนคนในสังคมเมืองกับสังคมท้องถิ่น ความเหลื่อมล้ำก็แตกต่างกันเยอะมาก ชีวิตความเป็นอยู่ก็แตกต่างกันออกไป อย่างที่พวกเราคาดไม่ถึงเลยละครับ บางรัฐที่อยู่ห่างไกลเมืองหลวงมากๆ ความเป็นอยู่แทบไม่น่าเชื่อว่าเป็นประเทศเดียวกันเลยครับ
 

ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเมียนมา ก็ยากเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา เพราะด้วยพื้นที่ห่างไกลความเจริญ พื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นพื้นที่เกษตรกรรมแบบดั้งเดิม ผลผลิตทางการเกษตรที่ได้มาแต่ละฤดู ก็ห่างไกลตลาดเอามากๆ การคมนาคมและการขนส่งก็ยากมาก กว่าจะมาถึงตลาดที่อยู่ในเมืองใหญ่ๆ ราคาค่าสินค้าบวกค่าโลจิสติกส์ก็ทำให้สินค้าไม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ เพราะราคาสูงจนเกินไป นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้รายได้ของประชาชนคนยากคนจน ยังคงรอการพัฒนากันต่อไปครับ
 

ในขณะที่ประชาชนคนเมืองเอง การลงทุนจากต่างประเทศ ก็ไม่มีอะไรจูงใจให้เขาเข้ามาลงทุน อีกทั้งยังโดนชาติตะวันตกแซงชั่นมานานกว่าสามทศวรรษ การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจที่เคยดีมากของประเทศนี้ ก็มีระยะเวลาสั้นๆ เพียงสิบปีเท่านั้น แล้วก็หันหลังกลับไปเริ่มต้นใหม่อีกรอบเสียแล้ว ผมเองเฝ้ารอคอยมาตั้งแต่ปี 1990 จนถึงปี 2010 พอเห็นแสงสว่างอยู่ได้แค่สิบปี ก็เริ่มเข้าสู่โหมดของโรคระบาดโควิด ติดตามด้วยการเปลี่ยนแปลงการปกครองอีกรอบ เฮ้อ.....
 

การพัฒนาการทางด้านการเมือง ผมไม่อยากจะอธิบายมาก ได้แต่พูดว่าเป็นเรื่องที่เป็นวัฒนธรรมของเขาครับ เพราะตั้งแต่ยุคมีการปกครองโดยกษัตริย์ จนมาถึงยุคของการปกครองโดยระบอบทหารนำการเมือง การยุ่งเหยิงของกลุ่มกองกำลังต่างๆ ก็เริ่มรุนแรงจนหยุดไม่อยู่ ยิ่งมาในยุคนี้ ที่มีกองกำลังผสมโรงอยู่หลากหลายกองกำลัง ยิ่งมองแล้วยิ่งสงสารประชาชนคนตาดำๆ กันครับ ได้แต่ภาวนาขอพระเจ้าคุ้มครองชาวเมียนมาครับ
 

การพัฒนาด้านการศึกษา ก็อย่างที่เล่ามาในตอนต้นละครับ หลังจากที่มีอยู่ยุคหนึ่ง ที่ทางภาครัฐเห็นความสำคัญทางด้านการศึกษามาก มีการสถาปนามหาวิทยาลัยใหม่ๆ ขึ้นมาอีกหลายสิบแห่ง แต่การผลิตบุคลากรทางด้านการศึกษา เพื่อมาเป็นครูบาอาจารย์ ก็ผลิตออกมาไม่เพียงพอ ทำให้ความสำคัญของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งไม่เท่าเทียมกัน
 

ในขณะที่เด็กๆ คนรุ่นใหม่เอง การใฝ่รู้ของเด็กๆ มีอยู่มาก แต่โอกาสทางการศึกษาเขามีน้อย ยิ่งคนแถบชนบทหากเปรียบเทียบกับคนในเมือง โอกาสก็ยิ่งริบหรี่ลงไปมาก ดังนั้นความทัดเทียมกันทางการศึกษา ยังคงห่างไกลมากที่จะพูดถึงการศึกษาภาคบังคับ นอกจากนี้หากเรียนจบการศึกษาออกมา การหางานทำให้สมกับสถานะของผู้ที่จบปริญญามา ก็แทบจะยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร แต่หากจะเปรียบเทียบความใฝ่รู้หรือการแสวงหาความรู้ของเยาวชนเมียนมา กับเยาวชนบ้านใกล้เรือนเคียง ผมยังคิดว่าเยาวชนของเขามีความใฝ่รู้มากกว่าเสียด้วยซ้ำไปครับ หรือถ้าจะเปรียบเทียบไอคิวหรืออีคิวของเยาวชน ผมก็ยังคิดว่าเยาวชนเมียนมาไม่ได้แพ้ชาติใดๆ เลยนะครับ 
 

ด้านการพัฒนาการสาธารณสุข ต้องบอกว่าสาธารณสุขขั้นพื้นฐานของเขา ยังห่างไกลกับประเทศเพื่อนบ้านมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์ ด้านบุคลากรทางการแพทย์ ด้านการให้บริการสาธารณสุข ด้านความรู้พื้นฐานสาธารณสุข หรือความเข้าใจด้านสุขอนามัย ล้วนแล้วแต่ไม่สามารถที่จะนำเอามาตรฐานของปฏิญญากฎบัตรออตตาวา ในเรื่องเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (The Ottawa Charter for Health Promotion) ที่มีการประชุมกันที่เมืองออตตาวา เมื่อวันที่ 17-21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 เพื่อนำออกมาใช้เป็นมาตรวัดไม่ได้เลยครับ เพราะประชาชนยังไม่สามารถเข้าใจหรือเข้าถึงพื้นฐานของสุขอนามัยใดๆ เลย เอาแค่สามารถดูแลตนเองไม่ให้เจ็บป่วยก็ยากแล้วครับ 
 

ส่วนการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานหรือสาธารณสมบัติของชาติ ในเมื่อประเทศชาติอยู่ในสถานะที่ถูกชาติตะวันตกแซงชั่น เศรษฐกิจตกต่ำ รายได้ของประชาชนไม่ดี เงินทุนสำรองระหว่างประเทศไม่เพียงพอ เงินลงทุนจากนักลงทุนจากต่างประเทศไม่เข้าตามเป้าหมาย รัฐบาลเองจะหาเงินมาลงในโครงสร้างพื้นฐาน ก็คงมีทางเดียวเท่านั้น คือต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากมิตรประเทศเท่านั้นแหละครับ
 

ดังนั้นตามที่แฟนคลับท่านนั้น ที่ได้โทรศัพท์เข้ามาคุยกับผม ที่ท่านเข้าใจว่าเป็นเพราะรัฐบาลทหารทำการปฎิวัติรัฐประหาร ประเทศจึงเป็นเช่นนี้ คงจะเป็นแค่เพียงปลายเหตุเท่านั้นครับ สาเหตุนั้นมีหลากหลายปัจจัยเกินกว่าจะบรรยายจริงๆ ครับ ผมก็ขอเอาใจช่วยประเทศเมียนมา ที่เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของผม ให้รอดพ้นจากสถานการณ์เช่นนี้ไปให้ได้ครับ