ชนชาติพันธุ์ในรัฐฉาน เมียนมา

31 ต.ค. 2565 | 04:30 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ย. 2565 | 00:25 น.
1.4 k

คอลัมน์เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

มีหลายคนอาจจะสงสัยและเข้าใจผิดว่า รัฐฉานมีเพียงชนชาติชาวไทยใหญ่หรือชาวไตเผ่าพันธุ์เดียว แท้ที่จริงแล้วชนชาติพันธุ์ที่ผมรู้จักในรัฐฉานนั้น อย่างน้อยๆ ก็มี 6-7 เผ่าพันธุ์แล้ว ที่ไม่รู้จักก็ยังมีอีกหลายเผ่าพันธุ์มากครับ วันนี้เรามาดูกันว่า แต่ละเผ่าพันธุ์ที่อยู่ในรัฐฉานนั้น เขาอยู่ที่ไหนกันบ้าง? หรือส่วนใหญ่เขาทำมาหากินกันอย่างไร? ซึ่งก็น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการที่เราจะทำมาหากินกับเขาครับ
 

ในรัฐฉานเอาเฉพาะชนชาติพันธุ์ที่เป็นชาวไต ก็แบ่งออกมาเป็นหลากหลายไตแล้วครับ เช่นไตโหลง(ไตหลวง) ไตหล่ำ(ไตดำ) ไตแหลง(ไตแดง) ไตเขิน ไตลื้อ ไตยอง ไตยน ไตหนอง นี่แค่ชาวไตที่อยู่ในรัฐฉานเท่านั้นนะครับ ถ้านอกรัฐฉานอย่างในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ยังมีชาวไตจ้วงที่อยู่ในมณฑลกวางสี และชาวไตสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ในประเทศอินเดียก็มีชาวไตอัสสัม หรือในประเทศเวียดนามก็มีชาวไตญ้อ ที่อยู่ทางภาคเหนือของเวียดนาม
 

ประเทศลาวหรือประเทศไทย ก็นับว่าเป็นเผ่าพันธุ์หนึ่งของชาวไต ที่แตกต่างจากชาวไตที่รัฐฉานยังมีอีกหลายเผ่าพันธุ์มากครับ แต่ภาษาที่ใช้พูดจะใกล้เคียงกันมาก คล้ายๆ กับภาษาไทยกับภาษาลาวนั่นแหละครับ แต่ถ้าจะพูดถึงชาวไตอย่างเดียว คงต้องใช้หน้ากระดาษอีกบทความหนึ่งเลยครับ 
 

ชาวไตโหลงหรือไตหลวง ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่แถบทางเหนือหรือ Upper-Shan ซึ่งชาวไตโหลงมักจะอาศัยอยู่ในเวียง(ชุมชน) และทำมาหากินดุจคนเวียงเขาทำกัน ไม่ว่าจะเป็นเป็นการค้า-ขาย การช่างฝีมือต่างๆ และการทำเกษตรกรรม ซึ่งเขามักจะชอบให้ลูกหลานได้รับการศึกษา ดังนั้นจะสังเกตว่าชาวไตโหลงจะมีวิวัฒนาการที่ทันสมัยกว่าชาวไตกลุ่มอื่นๆ ครับ
 

ส่วนทางแถบเชียงตุง ต่ำลงมาถึงแถบท่าขี้เหล็ก ก็จะเป็นไตลื้อ ไตเขิน ไตยน ไตยองเป็นส่วนใหญ่ แน่นอนว่าก็จะมีชาวไตโหลงแฝงอยู่อีกมากด้วยเช่นกันครับ ส่วนทางแถบทะเลสาบอินเล เมืองเฮโฮ นอกเมืองตองจี จะเป็นชาวไตหนองครับ กลุ่มนี้มีวิถีชีวิตที่อาศัยอยู่บนทะเลสาบหรือหนองน้ำ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่สวมใส่ ก็จะแตกต่างจากชาวไตเชื้อสายอื่นๆ บ้างครับ
 

ผมเคยได้มีโอกาสไปร่วมงานเฉลิมฉลองประจำปีของวัดพระบัวเข็ม ในวันเข้าพรรษาที่อยู่บนทะเลสาบอินเล จะมีพี่น้องชาวไตหนองมาร่วมงานเยอะมาก มีการแข่งเรือจากกลุ่มชาวบ้านต่างๆ ที่ไม่ใช่แข่งความเร็วนะครับ แต่แข่งกันตกแต่งเรือให้สวยงาม แล้วพายมาร่วมงานกัน บนศาลาวัดเล็กๆ ที่อยู่ด้านหลังวัด ก็มีการแสดงต่างๆ มีสาวๆมาเต้นรำพื้นเมืองของชาวไตให้ได้ชมกันครับ ก็สวยงามไปอีกแบบหนึ่งครับ 

 

ส่วนชาวชาติพันธุ์อื่นๆ ที่อยู่ในรัฐฉานที่ผมรู้จัก ยังมีชาวปะโอ่ เพราะผมมีพนักงานที่เป็นชาวปะโอ่ที่มาทำงานอยู่กับผมที่กรุงเทพฯ ครอบครัวเขาอาศัยอยู่ที่เมืองตองจี ชื่อ “น้องทู” เขาจะคอยส่งข้อมูลของประเทศเมียนมา มาให้ผมเป็นประจำครับ ชาวปะโอ่จะชอบอาศัยอยู่แถบตามสันดอยสันเขา ส่วนใหญ่จะมีอยู่แถบเมืองล่ายข้า เมืองปางโหลง เมืองปอน เมืองหนองหมอน เมืองสีแสง(น่าจะเป็นศรีแสง นะครับ แต่ออกเสียงเป็นสีแสง ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด คำว่า “สี” น่าจะมาจากสี่ ส่วน “แสง” หมายความว่า อัญมณี) เรื่อยลงมาจนถึงเขตเมืองตองจี กลุ่มชาวปะโอ่นี้ เขาจะมารวมตัวกันที่เมืองตองจีกันเป็นส่วนใหญ่ ทุกปีของงานโคมลอยวันเพ็ญเดือนสิบสอง (ที่ผมเล่าไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว) จะเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ประจำปีของเขาเลยครับ
 

ยังมีชาวว้า ที่อยู่เขตเมืองลา เมืองสะโถง หว่านแสง(บ้านแสง) หว่านเลิน(บ้านเดิ่น) และแถบพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน ประกอบอาชีพทำไร่-ทำสวนเป็นส่วนใหญ่ ชาวว้านั้นน่าจะเป็นชนชาติพันธุ์ ที่โยกย้ายถิ่นฐานมาจากมณฑลยูนนานของจีน ชนกลุ่มนี้จะนิยมสื่อสารด้วยภาษาจีนยูนนานครับ จึงเชื่อได้ว่า เขาก็คือพี่น้องชาวจีนเรานี่แหละครับ
 

พูดถึงชนชาติพันธุ์ที่เป็นเชื้อสายจากจีนยูนนาน ยังมีชาวแข่ ซึ่งคำว่า “แข่” นั้นชาวไตหรือไทยใหญ่มักจะใช้เรียกชาวจีนว่าเป็น “คนแข่” เสมอครับ หรือภาษาจีนเขาก็จะเรียกว่า “คำแข่” นั่นเองครับ ยังมีชาวโก่ก้าง ก็จะพูดภาษาจีนเหมือนกันครับ แต่จะเพี้ยนๆ จากภาษาจีนยูนนานเล็กน้อย ซึ่งภาษาจีนของเขา ชาวยูนนานทั่วไปเรียกว่า “ม่าลีปาฮั้ว” หรือภาษาม่าลีปา ซึ่งถ้าเปรียบกับภาษาไทยก็คล้ายๆ กับภาษาไทยอีสานกับภาษาอีสานเมืองเลย นั่นแหละครับ
 

ยังมีชาวชนชาติพันธุ์ในเขตรัฐฉานอีกเยอะครับ บางชนชาติพันธุ์ที่ในประเทศไทยเราก็มีเช่นกัน เช่นชาวลีซอ ชาวแม้ว ชาวเย้า ชาวอาข่า เป็นต้น ซึ่งกลุ่มชนชาติพันธุ์เหล่านี้ ทางบ้านเราจะมองว่าเป็น “ชาวเขา” เสียเป็นส่วนใหญ่ อันที่จริงแล้ว ถ้าเปรียบเทียบจำนวนประชากรของเขาแต่ละเผ่าพันธุ์ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ถ้าเทียบกับชาวจีนแคะ หรือจีนแต้จิ๋ว และจีนอื่นๆ อีกหลายกลุ่มในบ้านเรา เขาก็มีวัฒนธรรมที่ยาวนานไม่น้อยกว่าเราเลยครับ อาจจะเป็นเพราะพวกเราโชคดีกว่าเขา ที่บรรพบุรุษของเรา ได้นั่งเรือสำเภาเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารก่อนพวกเขา อีกทั้งพวกเขาใช้วิธีการเดินเท้าเข้ามาสู่ประเทศไทย จึงไม่ได้มีโอกาสเหมือนพวกเรา เราจึงไปดูแคลนเขาไม่ได้โดยเด็ดขาดนะครับ เพราะเรากับเขาก็หนีร้อนมาพึ่งเย็นเหมือนกันครับ