เมื่อจีนเดินหน้ายกระดับ ความมั่นคงด้านอาหาร (1)

15 ธ.ค. 2565 | 12:42 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ธ.ค. 2565 | 19:50 น.
868

เมื่อจีนเดินหน้ายกระดับ ความมั่นคงด้านอาหาร (1) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3844

 

เรื่อง “ปากท้อง” นับเป็นเรื่องใหญ่ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนให้ความสำคัญ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนประสบปัญหาเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) และความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security) และดูเหมือนว่าสารพัดการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อมโลก ทำให้ “ความมั่นคงด้านอาหาร” กลายเป็นประเด็นที่รัฐบาลจีนหันมาให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น …


ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โลกต้องเผชิญกับความผันผวนและความท้าทายใหม่เพิ่มขึ้น อาทิ จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น และหลากหลายวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นโควิด-19 โลจิสติกส์ พลังงาน และ อาหาร 


จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ วิกฤติโควิด-19 ก็ส่งผลกระทบต่อมิติความมั่นคงด้านอาหารในวงกว้าง เฉพาะในปี 2020 คนทั่วโลกจำนวนราว 810 ล้านคนได้รับอาหารต่ำกว่าระดับที่เหมาะสม หรือ คิดเป็นถึง 10% ของจำนวนประชากรโลกโดยรวม

 

สิ่งนี้สะท้อนว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goal) ในประเด็น “คนหิวโหยเป็นศูนย์” (Zero Hungry) เป็น “โจทย์” ข้อใหญ่ที่รอการแก้ไขอยู่ และจีนก็เป็นหนึ่งในประเทศ ที่ใช้ความสำคัญในประเด็นนี้อย่างยิ่งยวดเช่นกัน


อันที่จริง จีนถือเป็นประเทศที่มีการเพาะปลูกพืชมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก โดยจีนในปัจจุบันผลิตธัญพืชคิดเป็นราว 25% ของโลก แต่ปัจจัยพื้นฐานด้านการผลิตของจีน ก็แฝงไว้ซึ่งความท้าทายมากมายซ่อนอยู่ 


จีนมีจำนวนประชากรกว่า 1,400 ล้านคน คิดเป็นราว 20% ของจำนวนประชากรโลก ทำให้ “ความพอเพียง” ด้านอาหารยังเป็นความท้าทายใหญ่ของจีน ขณะเดียวกัน แม้ว่าจีนมีพื้นที่ในเชิงภูมิศาสตร์ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก โดยมีขนาดใหญ่กว่าไทยถึงราว 18 เท่าตัว แต่จีนก็มีพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกราว 1.2 ล้านตารางกิโลเมตร หรือใหญ่กว่าไทย 2 เท่าตัวเพียงเล็กน้อย และคิดเป็นไม่ถึง 10% ของพื้นที่การเพาะปลูกโดยรวมของโลก


หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมจีนจึงมีพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกน้อยขนาดนั้น คำตอบก็คือ สภาพภูมิประเทศของจีนมีส่วนที่เป็นเทือกเขาสูง และทะเลทรายอยู่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านซีกตะวันตกของจีน

 

แถมจีนยังต้องจัดสรรพื้นที่เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในการก่อสร้างเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรตามกระแสการพัฒนาชุมชนเมือง และโรงงานอุตสาหกรรมที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เหล่านี้ส่งผลให้พื้นที่เพื่อการเกษตรกรรมของจีนลดลง และด้วยแนวโน้มที่เป็นอยู่ก็คาดว่า พื้นที่การเกษตรของจีนจะลดลงในอนาคต 


นอกจากนี้ ชาวจีนที่เพิ่มขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ก็ยังเปลี่ยนโครงสร้างด้านอุปสงค์ และเพิ่มความท้าทายในด้านอุปทานสินค้าเกษตรและอาหาร รายได้เฉลี่ยต่อหัวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ยังทำให้พฤติกรรมการบริโภคอาหารของชาวจีนเปลี่ยนจาก “พืช” ไปเป็น “เนื้อสัตว์” มากขึ้น และเราต้องไม่ลืมว่า การผลิต “เนื้อสัตว์” ใช้พื้นที่ทางการเกษตรมากกว่าการเพาะปลูก “พืช” ถึง 3 เท่าตัว ซึ่งยิ่งเพิ่มความท้าทายมากขึ้น


จีนยังมีปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ในเชิงบวกอยู่อีกหลายประการ พื้นที่ลาดต่ำจากเทือกเขาหิมาลัยในแถบมณฑลเฉิงตูและชิงไห่ ได้สร้างสายน้ำขนาดใหญ่หลายสาย อาทิ แม่น้ำแยงซีเกียง (Yangtze River) หวงเหอ (Huanghe) หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า “แม่น้ำเหลือง” หรือ “ฮวงโห” และแม่น้ำโขงที่ไหลลงมาทางตอนใต้ของจีน อย่างไรก็ดี สายน้ำเหล่านี้เป็นแหล่งน้ำที่คิดเป็นเพียง 6% ของแหล่งน้ำจืดของโลก 

                                     เมื่อจีนเดินหน้ายกระดับ ความมั่นคงด้านอาหาร (1)
นอกจากนี้ จีนยังมี “แถบดินดำ” (Black-Soil Belt) ที่เหมาะแก่การเพาะปลูกอยู่กว้างขวางในบริเวณมองโกเลียใน และพื้นที่ “อีสานจีน” ซึ่งมีแม่น้ำซงหัว (Songhua) ไหลพาดผ่าน ท่านผู้อ่านหลายคนอาจนิยมไปเยือนพื้นที่นี้ในช่วงฤดูหนาวที่อุณหภูมิอยู่ที่ -30 องศาเซลเซียส เพื่อชิมปลาที่มีเนื้อหวานมัน
ด้วยความพร้อมด้านปัจจัยการผลิต เฮยหลงเจียง ซึ่งเป็นมณฑลเหนือสุดของจีน ก็นับเป็นพื้นที่เพาะปลูกธัญพืชที่ใหญ่ที่สุดของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวและข้าวโพด

 

ขณะเดียวกัน จีนมีพื้นที่เพาะปลูกสำคัญในอีกหลายมณฑลทางตอนเหนือของจีน อาทิ เหอหนาน ซานตง และเหอเป่ย ที่เพาะปลูกข้าวสาลีมาก รวมทั้งอันฮุย และเจียงซู ในแถบ “อกไก่” และพื้นที่ราบตอนในบริเวณ “ปีกไก่” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสฉวน และฉงชิ่ง 


อย่างไรก็ดี ภายหลังการเปิดประเทศมาเป็นเวลากว่า 4 ทศวรรษ พื้นที่สำหรับการเพาะปลูกเหล่านี้มีคุณภาพดินที่ต่ำลง และปนเปื้อนมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม 


จีนนับเป็นประเทศที่ใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงเกินความจำเป็นอยู่มาก จากพื้นที่การเกษตรไม่ถึง 10% ของโลกดังกล่าว จีนใช้ปุ๋ยเคมีคิดเป็นสัดส่วนถึง 30% ของอุปทานโลก ส่งผลให้จีนไม่อาจเพิ่มผลผลิตด้านอาหารเชิงปริมาณและคุณภาพได้อย่างที่ต้องการ และต้องทดแทนด้วยการนำเข้าอาหารมากขึ้นในช่วงหลายปีหลัง


จากดัชนีความมั่นคงด้านอาหารโลกในปี 2021 ที่คิดคำนวณจากข้อมูลด้านความสามารถในการซื้อหา ความมีอยู่ คุณภาพ และความปลอดภัยของอาหาร จีนถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 34 จากจำนวน 113 ประเทศ ซึ่งแม้ว่าจะเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่ดัชนีฯ ได้รับการปรับปรุงมากที่สุดในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังอยู่ห่างจากระดับความมุ่งหวังและเป้าหมายการยืนอยู่บนลำแข้งของตนเองด้านอาหารในระดับ 100% (Self-Sufficiency) ได้ 


ถึงขนาดว่า สี จิ้นผิง ผู้นำจีนเคยกล่าวว่า เราต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้มั่นใจว่า “คนจีนมีอาหารอยู่เต็มชามข้าว” ดังปรากฏในหลายเวทีการประชุมใหญ่ของจีน อาทิ ที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อปี 2022 เพื่อปลุกขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐ เกษตรกร และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในการร่วมมือกัน “เดินทางไกล” ในครั้งนี้ และสร้างความมั่นใจให้ประชาชน


คราวหน้าเราจะไปคุยกันต่อว่า แล้วจีนเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนสินค้าเกษตรและอาหารอะไร และดำเนินนโยบายและมาตรการอะไรบ้าง ในความพยายามที่จะเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ให้เพียงพอต่อความต้องการ และขยับระดับของความมั่นคงด้านอาหารของจีนให้สูงขึ้นตามที่รัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายไว้ ...