เมื่อสตาร์บัคส์ยกเครื่องครั้งใหญ่สู่ร้านกาแฟยุคใหม่ในจีน (จบ)

08 ต.ค. 2565 | 09:30 น.
751

เมื่อสตาร์บัคส์ยกเครื่องครั้งใหญ่สู่ร้านกาแฟยุคใหม่ในจีน (จบ) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3825

เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลจีน และสังคมโลก สาขาใหม่ของสตาร์บัคส์ในจีน ถูกออกแบบและตกแต่งให้ดูเรียบง่าย เฟอร์นิเจอร์ที่เป็นสไตล์มินิมอล ปรับโลโก้ให้ดูทันสมัยยิ่งขึ้น และลดการปลดปล่อยคาร์บอน น้ำ และของเหลือ  


รวมทั้งสนับสนุนพฤติกรรมการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การออกแคมเปญเพื่อกระตุ้นให้ลูกค้านำแก้วของตนเองมาใส่เครื่องดื่ม แลกกับการเพิ่มขนาดให้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม การใช้หลอดกระดาษ และแก้วที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งเกิดจากการร่วมมือกับเครือข่ายซัพพลายเออร์ที่ผสมผสานกระดาษและสิ่งทอด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย 

นอกจากนี้ สตาร์บัคส์ยังพยายามเพิ่มประสบการณ์และการมีส่วนร่วมที่ดีกับลูกค้าและเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ อาทิ การเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้ลิ้มลองชิมกาแฟหลากรสชาติโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และการตกแต่งร้านโดยนำเอาแก้วสตาร์บัคส์คอลเล็กชั่น “ท้องถิ่น” หลากหลายรุ่นและแบบมาจัดแสดงบริเวณประตูทางเข้าร้าน

 

ในด้านหนึ่ง การตกแต่งดังกล่าวก็เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย และในอีกด้านหนึ่งก็ช่วยเสริมสร้างความรักและความภาคภูมิใจในเมืองของตนเอง โดยเราน่าจะเห็นร้านกาแฟภายใต้คอนเซ็ปต์ “Greener Stores” ราว 2,500 แห่งในตลาดจีนภายในปี 2025  

ขณะเดียวกัน ในโอกาสของการเปิดสาขาที่ 1,000 ในเซี่ยงไฮ้ดังกล่าว บริษัทฯ ยังขยายกระแส “คนรักกาแฟ” ด้วยการเปิดตัว “กาแฟเซี่ยงไฮ้” ในสไตล์ เครมม่า ริสเตรตโต้ (Crema Ristretto) ที่ดึงเอารสชาติของลูกกวาดยอดนิยมของเซี่ยงไฮ้ผสมผสานเข้ากับกาแฟริสเตรตโต้ที่เข้มข้น ปรุงแต่ด้วยน้ำเชื่อมกลิ่นบัตเตอร์สก็อตช์ ครีม และตบด้วยผงมอล์ท ซึ่งถือเป็นการรังสรรค์ “กาแฟของเมือง” แห่งแรกในจีน และได้รับการตอบรับจากคอกาแฟอย่างรวดเร็ว


ในด้านดิจิทัล บริษัทฯ ยังได้นำเอา “อินเตอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง” (IoT) ที่ใช้ระบบเซ็นเซอร์และอุปกรณ์อัตโนมัติ บิ๊กดาต้า (Big Data) และการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง การสั่งสินค้า การพัฒนาบริการผ่านช่องทาง O2O และการจัดตารางทำงานพนักงาน               

                            เมื่อสตาร์บัคส์ยกเครื่องครั้งใหญ่สู่ร้านกาแฟยุคใหม่ในจีน (จบ)

ระบบอัจฉริยะดังกล่าวยังช่วยให้การใช้พลังงานและทรัพยากรอื่นของร้านเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ เครื่องปรับอากาศ ไฟฟ้าแสงสว่าง และ น้ำ ประการสำคัญ บริษัทฯ จะเร่งนำเอาระบบดิจิตัลดังกล่าวไปติดตั้งในสาขาต่างๆ ทั่วจีนเพื่อยกระดับการให้บริการและการบริหารจัดการภายในของบริษัทฯ อีกด้วย 


แม้ว่าสตาร์บัคส์ได้ประสบความสำเร็จอย่างมากในตลาดจีนจนทำรายได้มากเป็นอันดับที่ 2 ของรายได้โดยรวมของบริษัทฯ ในปัจจุบันแล้ว แต่ถึงกระนั้น ผู้บริหารของสตาร์บัคส์ก็ยังมองว่า ตลาดกาแฟในจีนยังอยู่ในขั้น “แบเบาะ” และมีศักยภาพที่จะเติบโตอีกมากในอนาคต  


ด้วยเหตุนี้ สตาร์บัคส์จึงต้องการจะเอาประโยชน์จากการเติบโตของตลาดกาแฟของจีนเพิ่มขึ้นในอนาคต จากแผนธุรกิจของบริษัทฯ พบว่า สตาร์บัคส์ตั้งเป้าจะเพิ่มรายได้ถึง 2 เท่าตัว และเพิ่มจำนวนสาขาอีก 50% ใน 3 ปีข้างหน้า ซึ่งนั่นเท่ากับว่า จำนวนสาขาของสตาร์บัคส์จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 13% ต่อปีเป็นถึง 9,000 แห่งใน 300 เมืองทั่วจีน คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของจำนวนสาขาร้านกาแฟของสตาร์บัคส์ทั่วโลก 


ด้วยอัตราการเติบโตดังกล่าว ก็เท่ากับว่า เฉลี่ยทุกๆ 9 ชั่วโมงจะมีร้านกาแฟสตาร์บัคส์ที่เปี่ยมเสน่ห์ผุดขึ้น 1 สาขาในจีนในปี 2025 ดังนั้น การมีจำนวนร้านกาแฟสตาร์บัคส์แตะหลัก 10,000 สาขา ในตลาดจีนในปี 2026 จึงดูไม่ไกลเกินเอื้อมเสียแล้ว  


มีโอกาสเดินทางไปเมืองจีนคราวหน้า ผมคงต้องแวะไปลิ้มรสกาแฟและสัมผัสบรรยากาศในร้าน “สตาร์บัคส์” ยุคใหม่บ้างแล้วครับ ...