รู้จัก 'ชาเฮด' (Shahed) โดรนพิฆาตจากอิหร่าน เขี้ยวเล็บรัสเซียในศึกยูเครน

19 ต.ค. 2565 | 15:47 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ต.ค. 2565 | 15:18 น.
1.9 k

โดรนชาเฮด (Shahed) ที่เป็นโดรนราคาถูกผลิตในอิหร่าน ได้กลายมาเป็นอาวุธสำคัญชนิดหนึ่งที่รัสเซียใช้ในการทำสงครามรุกรานยูเครน เจ้าโดรนพิฆาตนี้อาจเป็นปัจจัยกำหนดความได้เปรียบในการรบที่กำลังเกิดขึ้นอย่างดุเดือด

'ชาเฮด' (Shahed) โดรนทางการทหาร ที่ผลิตใน อิหร่าน เป็นโดรนราคาถูก แต่ติดตั้งเทคโนโลยีนำทางเพื่อความแม่นยำ อาวุธชนิดนี้จึงถูก รัสเซีย นำมาใช้ และเปลี่ยนชื่อเป็น 'เกอราน-2' เพื่อการทิ้งตัวทำลายเป้าหมายจากทางอากาศในสงครามที่รัสเซียเปิดศึกกับยูเครน

 

จุดเด่นของโดรนชาเฮด คือ สามารถนำมาใช้ในปริมาณมาก และได้ชื่อว่า "ขีปนาวุธร่อนของคนจน" หมายความว่า มันมีราคาถูกมาก

 

โดรนชาเฮดรุ่น 136 ที่รัสเซียนำมาใช้ในการจู่โจมเป้าหมายในยูเครนเร็วๆนี้ มีราคาลำละประมาณ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 760,000 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ วันนี้) ซึ่งถูกกว่ามากเมื่อเทียบกับโดรน TB2 ที่ผลิตในตุรกี ราคาอยู่ที่ระหว่าง 1-5 ล้านดอลลาร์ (38 - 190 ล้านบาท) ขณะที่โดรนทางการทหาร MQ-9 Reaper ของสหรัฐ มีราคาไม่ต่ำกว่า 14 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 532 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับขีปนาวุธเต็มรูปเเบบอย่างเช่น ขีปนาวุธร่อนรุ่น คาลิเบอร์ (Kalibr) ของกองทัพรัสเซียที่มีราคา 1 ล้านดอลลาร์ต่อลูก ก็ถือว่าการหันมาใช้โดรนชาเฮด ทำให้รัสเซียสามารถประหยัดต้นทุนการจู่โจมได้มาก โดยก่อนหน้านี้ รัสเซียใช้ขีปนาวุธร่อนคาลิเบอร์ โจมตียูเครนอย่างกว้างขวางในช่วง 8 เดือนเเรกของสงคราม

 

โดรนชาเฮด ที่ติดระเบิดเพื่อการทิ้งตัวทำลายเป้าหมาย มีความคล้ายกับการโจมตีแบบ "กามิกาเซ่" ของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สองหรือการพุ่งชนเป้าหมายเพื่อให้เกิดการระเบิดเสียหาย มันจึงถูกเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "กามิกาเซ่ โดรน"

รูปลักษณ์และสมรรถนะ  

สำนักข่าวเอพีรายงานอ้างอิงข้อมูลของสื่อออนไลน์ยูเครน Defense Express อ้างตัวเลขจากอิหร่านที่ระบุว่า ชาเฮด เป็นโดรนรูปสามเหลี่ยม มีความยาว 3.5 เมตร กว้าง 2.5 เมตร น้ำหนักประมาณ 200 กิโลกรัม

ชาเฮด-136 เป็นโดรนรูปสามเหลี่ยม ในภาพถูกนำซ้อนบนรถลำเลียง

 

โดรนชนิดนี้ติดเครื่องยนต์ 50 แรงม้า และมีความเร็วสูงสุด 114 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

การนำ "โดรนพิฆาต" ชนิดนี้มาใช้ในยูเครน มีลักษณะน่าสนใจคือ แม้โดรนชาเฮดจะบินได้ไกล 1,000 กิโลเมตร แต่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโดรนอย่างนายแซเมล เบนเด็ตต์ แห่งองค์กรวิจัยด้านนโยบาย CNA กล่าวว่า ระยะบินของโดรนดังกล่าวในสงครามยูเครนสั้นกว่านั้น

 

เขาอธิบายว่า สาเหตุที่โดรนบินในระยะที่ใกล้กว่าศักยภาพจริง เพราะต้องการหลีกเลี่ยงการถูกใช้คลื่นก่อกวนระบบนำทางจีพีเอสนั่นเอง

 

รัสเซียใช้โดรนชนิดนี้หลายลำระดมโจมตียูเครน เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงถูกโต้กลับรุนเเรงต่อเครื่องบินรบล้ำสมัย และลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตนักบินด้วย วิธีการนี้ ทำให้รัสเซียสามารถเก็บขีปนาวุธพิสัยไกลความเเม่นยำสูงที่มีอยู่อย่างจำกัด ไว้ใช้เมื่อถึงเวลาจำเป็น


อย่างไรก็ตาม มีข้อจำกัดหรือจุดด้อยในการใช้โดรนชาเฮด เกี่ยวกับเรื่องนี้นายมิโคลา เบไลสคอฟ นักวิจัยแห่งสถาบันยุทธศาสตร์ศึกษาของยูเครน เปิดเผยว่า ระเบิดที่จะนำขึ้นไปติดตั้งกับโดรน จะมีน้ำหนักสูงสุดได้เพียง 40 กิโลกรัม ซึ่งปริมาณดังกล่าวถือว่าน้อยมากหากเทียบกับขีปนาวุธแบบปกติ ที่บินได้ไกลกว่ามากและสามารถติดระเบิดได้หนักถึง 480 กิโลกรัม

 

กระนั้นก็ตาม โดรนชาเฮดยังคงสามารถสร้างความเสียหายที่รุนเเรงและส่งผลต่อขวัญกำลังใจของทหารยูเครนได้

 

โดยในการโจมตีเมื่อวันจันทร์ (17 ต.ค.) โดรนลำหนึ่งทิ้งตัวลงไปยังอาคารที่พักอาศัยและทำลายห้องพัก 3 ห้อง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน

ซากโดรนชาเฮดที่พบตกในยูเครน

เบไลสคอฟ กล่าวว่าการโจมตีด้วยโดรนชาเฮด สร้างความหวั่นเกรงและความไม่มั่นใจในศักยภาพของระบบป้องกันทางอากาศของยูเครน

 

อย่างไรก็ตามเขาระบุว่า แม้รัสเซียจะใช้โดรนชนิดนี้จำนวนมาก แต่สิ่งที่รัสเซียไม่ได้กลับคืนมา คือดินแดนบางส่วนที่ยูเครนสามารถรุกคืบเข้าไปยึดคืนมาได้ในช่วงที่ผ่านมา