รัสเซียถล่มหนักกรุงเคียฟ โลกประณาม "ปูติน" เล็งเป้าหมายพลเรือน

11 ต.ค. 2565 | 13:10 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ต.ค. 2565 | 20:46 น.
894

สถานการณ์สู้รบในยูเครนส่อเค้าบานปลาย หลังรัสเซียระดมยิงขีปนาวุธโจมตีกรุงเคียฟ ตอบโต้ยูเครนทำลายสะพานเชื่อมแคว้นไครเมีย ขณะที่เบลารุส พันธมิตรใกล้ชิดของรัสเซีย สั่งการให้ทหารประจำการร่วมกับกองทัพรัสเซียใกล้ชายแดนยูเครน

รัสเซีย ระดมยิงขีปนาวุธโจมตี กรุงเคียฟ เมืองหลวง และอีกหลายเมืองใน ยูเครน เมื่อวันจันทร์ (10 ต.ค.) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำประกาศของ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ว่าจะมีการ "โจมตีครั้งใหญ่" เพื่อตอบโต้การก่อวินาศกรรมทำลายสะพาน "เคียร์ช" ที่เชื่อมแคว้นไครเมียกับแผ่นดินใหญ่ของรัสเซียเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งรัสเซียเชื่อว่าเป็นฝีมือของกองทัพยูเครน

 

ระหว่างการประชุมสภาความมั่นคงรัสเซียวานนี้ (10 ต.ค.) ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ยืนยันว่า การยิงขีปนาวุธโจมตีหลายพื้นที่ของยูเครน โดยเฉพาะที่กรุงเคียฟ ถือเป็นการล้างแค้น ตอบโต้ เหตุโจมตีสะพาน “เคียร์ช” (Kerch) ที่เชื่อมต่อระหว่างแผ่นดินใหญ่ของรัสเซียกับแคว้นไครเมียซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของยูเครน และปัจจุบันประกาศเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย

 

ส่วนหนึ่งของภาพความเสียหาย

โดยประธานาธิบดี ปูติน เตือนว่า หากเกิดการก่อวินาศกรรมจากฝ่ายยูเครนอีก รัสเซียจะดำเนินการตอบโต้ด้วยความรุนแรงในระดับที่เทียบเท่ากับภัยคุกคามที่เกิดขึ้นกับรัสเซีย

 

ด้านทางการยูเครนเปิดเผยว่า รัสเซียยิงขีปนาวุธ 75 ลูกใส่หลายเมืองในยูเครน ทำลายเป้าหมายอย่างน้อย 10 แห่ง โดยการโจมตีส่วนใหญ่ในกรุงเคียฟ ซึ่งเป็นเมืองหลวง เกิดขึ้นบริเวณใจกลางเมืองในย่านที่มีผู้คนพลุกพล่าน รวมทั้งสวนสาธารณะและแหล่งท่องเที่ยว ทำให้เบื้องต้นมีรายงานผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 5 ราย บาดเจ็บ 12 ราย

 

ในวันเดียวกัน มีรายงานผู้เสียชีวิตในเมืองอื่นๆ ของยูเครนอีกอย่างน้อย 5 รายจากการปูพรมถล่มด้วยขีปนาวุธของรัสเซียในครั้งนี้

 

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และพันธมิตรชาติตะวันตก ได้ออกมาประณามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทันที พร้อมประกาศคำมั่นว่าจะนำส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับกองกำลังของยูเครนเพื่อรับมือกับรัสเซียต่อไป

 

ผู้นำสหรัฐระบุในแถลงการณ์ว่า “การยิงขีปนาวุธถล่มยูเครนครั้งล่าสุดนี้ เป็นอีกครั้งที่แสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายทารุณอย่างที่สุดของสงครามอันผิดกฎหมายของประธานาธิบดีปูตินที่มีต่อประชาชนชาวยูเครน” ปธน.ไบเดนยังระบุด้วยว่า การโจมตีเหล่านี้ มีแต่จะตอกย้ำความมุ่งมั่นของสหรัฐอเมริกา ที่จะยืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวยูเครนตราบนานเท่าที่จะเป็นไปได้ และสหรัฐจะร่วมมือกับพันธมิตรในการดำเนินมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียที่ทำการรุกราน(ยูเครน) เพื่อบีบให้ปธน.ปูตินและรัสเซีย รับผิดชอบต่อความโหดร้ายและอาชญากรรมสงคราม สหรัฐยืนยันว่า จะจัดหาการสนับสนุนที่จำเป็นต่อกองกำลังยูเครนเพื่อป้องกันประเทศและเสรีภาพของตนเอง

ปธน.ปูตินย้ำว่า การโจมตีกรุงเคียฟและอีกหลายเมืองของยูเครนเมื่อวันจันทร์ (10 ต.ค.) ถือเป็นการตอบโต้ยูเครนที่ก่อเหตุวินาศกรรมสะพานเชื่อมไครเมียกับแผ่นดินใหญ่ของรัสเซีย

 

ด้านนางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า เธอรู้สึก "ตกใจและตะลึงกับการโจมตีอันแสนชั่วร้ายต่อเมืองต่าง ๆ ของยูเครน ... รัสเซียในยุคของปูตินนั้นแสดงให้โลกเห็นอีกครั้งว่า พวกเขาต้องการอะไร (ซึ่งก็คือ) ความโหดร้ายและความหวาดกลัว"

 

อย่างไรก็ตาม ปธน.ปูติน ผู้นำรัสเซีย กล่าวต่อที่ประชุมสภาความมั่นคงรัสเซียว่า การโจมตีครั้งล่าสุดนี้ พุ่งเป้าไปที่โครงสร้างพื้นฐานภาคพลังงาน การทหาร และการสื่อสารของยูเครน และเป็นการตอบโต้การที่ยูเครนลอบก่อเหตุทำลายสะพานเชื่อมแคว้นไครเมียที่รัสเซียยึดครองมาตั้งแต่ปี 2014 (พ.ศ.2557) รัสเซียไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ภาคพลเรือน

 

"เป็นที่ชัดเจนว่า หน่วยข่าวกรองของยูเครนเป็นผู้สั่งการ วางแผน และโจมตีในลักษณะก่อการร้ายดังกล่าว(ต่อสะพานเคียร์ช) โดยมีเป้าหมายทำลายโครงสร้างพื้นฐานทางพลเรือนที่สำคัญของรัสเซีย" ปธน.ปูตินกล่าว

 

เกี่ยวกับข้อกล่าวหาของรัสเซียข้างต้นนี้ ทางการยูเครนยังไม่ได้ออกมายอมรับหรือปฏิเสธ ว่าเป็นผู้โจมตีสะพานที่ว่านี้จริงหรือไม่

 

ทั้งนี้ นอกจากที่กรุงเคียฟแล้ว ขีปนาวุธของรัสเซียยังได้ทำลายเมืองลวิฟทางภาคตะวันตก เมืองดนิโปรในภาคกลาง และเมืองคาร์คิฟทางภาคตะวันออก ขณะที่ฝ่ายกองทัพยูเครนเปิดเผยว่า ได้ยิงทำลายขีปนาวุธของรัสเซียไปได้ราว 41 ลูก

 

ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน เปิดเผยว่า รัสเซียมุ่งเป้าโจมตีพื้นที่พลเรือนและระบบไฟฟ้าต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยมุ่งหวังให้เกิด "ความตื่นตระหนกและโกลาหล" และทำลายเครือข่ายพลังงานของยูเครน นอกจากนี้ ยังเปิดเผยว่า จะมีการจัดประชุมฉุกเฉินร่วมกับผู้นำกลุ่ม G-7 ในวันอังคารนี้ ( 11 ต.ค. ตามเวลาท้องถิ่น) เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

"เราจะหารือเรื่องศักยภาพของระบบป้องกันตนเองทางอากาศของยูเครน รวมทั้งการตอบโต้ที่แข็งกร้าวจากทางยุโรปและประชาคมโลก และการเพิ่มแรงกดดันต่อรัสเซีย" ประธานาธิบดีเซเลนสกีทวีตหลังการหารือกับประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศสเมื่อวันจันทร์ (10 ต.ค.)

 

ด้านนายดมีโทร คูเลบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยูเครน กล่าวว่า ปูตินเป็นฝ่ายจัดฉากใช้เหตุการณ์โจมตีสะพานเชื่อมไครเมียเป็นข้ออ้างในการใช้ขีปนาวุธโจมตียูเครน

 

"รัสเซียใช้ขีปนาวุธโจมตียูเครนมาโดยตลอดก่อนที่สะพานแห่งนั้นจะถูกระเบิด" และว่า "ปูตินกำลังสิ้นหวังจากความพ่ายแพ้ในสมรภูมิ และพยายามใช้ความโหดร้ายจากขีปนาวุธในการเปลี่ยนทิศทางของสงครามครั้งนี้"

ภาพความเสียหายในกรุงเคียฟหลังถูกโจมตีเมื่อวันจันทร์ (10 ต.ค.)

สงครามส่อแววขยายวง

ในวันจันทร์เช่นกัน (10 ต.ค.) ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ผู้นำเบลารุส ซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรใกล้ชิดของประธานาธิบดีปูตินแห่งรัสเซีย เปิดผยว่า เขาได้สั่งการให้ทหารประจำการร่วมกับกองกำลังรัสเซียใกล้ชายแดนยูเครน โดยกล่าวหารัฐบาลยูเครนและบรรดาชาติตะวันตกที่สนับสนุนยูเครน กำลังวางแผนโจมตีประเทศของเขา

 

ลูคาเชนโก ซึ่งครองอำนาจในเบลารุสมาตั้งแต่ปี 1994 สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสที่สงครามในยูเครนจะลุกลามบานปลายมากยิ่งขึ้น จากความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดการผนึกกำลังกันของกองกำลังร่วมรัสเซีย-เบลารุส ทางภาคเหนือของยูเครน

 

"เราเตรียมพร้อมสำหรับสิ่งนี้มานานหลายทศวรรษ และถ้าจำเป็น เราจะตอบโต้" ลูคาเชนโกกล่าว พร้อมเผยว่าเขาได้พูดคุยกับประธานาธิบดีปูติน เกี่ยวกับสถานการณ์นี้แล้ว ระหว่างพบปะหารือกันในนครเซนต์ปีเตอร์เบิร์กของรัสเซียเมื่อเร็ว ๆนี้

ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ผู้นำเบลารุส

ลูคาเชนโก กล่าวว่า เขาเห็นพ้องกับปูติน ในการประจำการกองทหารในภูมิภาค และเริ่มการทำงานร่วมกันระหว่างกองกำลังของทั้ง 2 ประเทศเมื่อ 2 วันก่อน สันนิษฐานว่า ความเคลื่อนไหวนี้น่าจะเกิดขึ้นหลังจากเกิดเหตุโจมตีสะพานเคิร์ชซึ่งเป็นทั้งถนนและทางรถไฟที่เชื่อมระหว่างรัสเซียกับไครเมียเมื่อช่วงเช้าวันเสาร์ที่ผ่านมา (8 ต.ค.)

 

ประธานาธิบดีลูคาเชนโก ยังกล่าวด้วยว่า มีคำเตือนส่งมาถึงเบลารุสผ่านช่องทางอย่างไม่เป็นทางการ ว่า ยูเครนมีแผนก่อเหตุวินาศกรรมอีก แต่เขาไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ พร้อมบอกฝากไปยังประธานาธิบดีเซเลนสกีแห่งยูเครนและพวกพ้อง ที่เขาเรียกว่า "พวกคนบ้าอื่นๆ" ว่า อย่าได้แตะต้องดินแดนของเบลารุสแม้แต่ตารางเมตรเดียว

 

ทั้งนี้ กองทัพเบลารุสมีกำลังพลราว 60,000 นาย และก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงต้นปี เบลารุสได้ส่งกลุ่มกองพันโจมตีทางยุทธวิธี 6 กอง รวมหลายพันนาย เข้าประจำการตามพื้นที่ชายแดน ก่อนที่ล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ (9 ต.ค.) ผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์ชายแดนของเบลารุส กล่าวหายูเครนกำลังก่อพฤติกรรมยั่วยุตามแนวชายแดน

 

รายงานข่าวระบุว่า ทหารรัสเซียใช้เบลารุสเป็นฐานจัดวางกองกำลังสำหรับปฏิบัติการรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา และมีการส่งทหารรวมทั้งยุทโธปกรณ์จากฐานทัพต่างๆในเบลารุส บุกเข้าสู่จังหวัดทางเหนือของยูเครน

 

ความร่วมมือระหว่างเบลารุสกับรัสเซีย ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเบลารุสกับประเทศตะวันตกเสื่อมทรามลง ล่าสุดรัฐบาลโปแลนด์ซึ่งมีแนวชายแดนติดกับเบลารุส ได้ออกคำแนะนำเมื่อวันจันทร์(10 ต.ค.) ให้พลเมืองโปแลนด์ในประเทศเบลารุส เร่งเดินทางออกจากเบลารุส ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศมีความตึงเครียดมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์สงครามในยูเครน