การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อวานนี้ (12 ต.ค.) มีการลงมติต่อกรณีรัสเซียพยายามผนวก 4 ดินแดนยูเครนอย่างผิดกฎหมาย
ผลการลงมติชาติสมาชิก
ทั้งนี้ในภูมิภาคอาเซียน ไทยลงมติงดออกเสียงเหมือนกับเวียดนามและลาว ขณะที่ชาติอาเซียนอื่นๆ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และบรูไน ลงมติเห็นด้วยต่อการประณามรัสเซีย โดยกรณีเมียนมา ผู้ลงมติเป็นผู้แทนที่ได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลก่อนการรัฐประหาร
ทั้งนี้ในเอกสารที่เผยแพร่โดยกระทรวงการต่างประเทศ ระบุถึงคำอธิบายของนายสุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ต่อการลงมติงดออกเสียงในครั้งนี้ ตอนหนึ่งระบุว่า
ประเทศไทยเลือกที่จะงดออกเสียงในการลงมติดังกล่าว เพราะมันเกิดขึ้นในช่วงที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงได้เร็ว และเต็มไปด้วยอารมณ์ การไม่ให้ความสำคัญกับโอกาสที่จะเกิดวิกฤติทางการทูต ที่จะนำไปสู่สันติและการเจรจาที่ทำได้จริง จะผลักไสให้โลกเดินหน้าสู่สงครามนิวเคลียร์และภาวะเศรษฐกิจโลกล่มสลาย
ขณะที่ผู้แทนสหรัฐอเมริกา ประจำสหประชาชาติ ซึ่งลงมติเห็นด้วยกับการประณามรัสเซียให้เหตุผลว่า วันนี้รัสเซียบุกยูเครน แต่ในวันพรุ่งนี้ อาจเป็นประเทศอื่นที่พรมแดนถูกละเมิดก็ได้
ด้านผู้แทนรัสเซียประจำสหประชาชาติระบุถึงการลงมติในครั้งนี้ว่า การประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติกลายเป็นการเมืองที่ปฏิเสธข้อเท็จจริงทั้งปวง
ส่วนผู้แทนจีนประจำยูเอ็นที่ลงมติงดออกเสียงมองว่า ความเคลื่อนไหวในการลงมติครั้งนี้ไม่ได้ช่วยให้เกิดการเจรจาหรือแก้ปัญหาใดๆ
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา หลายฝ่ายมองว่า การลงมติในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติมีส่วนทำให้เห็นจุดยืนของแต่ละประเทศได้อย่างชัดเจนที่สุด โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็มีการลงมติในประเด็นสำคัญหลายครั้ง ซึ่งไทยก็มีจุดยืนที่แตกต่างกันออกไป
อย่างเมื่อวันที่ 2 มี.ค. ที่ผ่านมา สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติจัดประชุมเร่งด่วน พร้อมลงมติเห็นด้วยกับการประณามรัสเซียที่รุกรานยูเครนอย่างท้วมท้น ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วยกับการประณาม 141 เสียง ไม่เห็นด้วย 5 เสียง และงดออกเสียง 193 เสียง ซึ่งในตอนนั้นไทยลงมติเห็นด้วยกับการประณาม
ในตอนนั้น นายสุริยา จินดาวงษ์ ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ แถลงต่อที่ประชุมว่า ไทยได้พิจารณาร่างมติอย่างถี่ถ้วน เนื่องจากให้ความสำคัญกับหลักการตามกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเคารพในบูรณภาพแห่งดินแดน และการไม่ใช้กำลังต่อรัฐ
นอกจากนี้สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ยังเคยให้มีการลงมติคว่ำบาตรการขายอาวุธให้เมียนมา หลังกองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ปีที่แล้ว โดยผลการลงมติปรากฎว่า เสียงส่วนใหญ่จำนวน 119 เสียง สนับสนุนการห้ามขายอาวุธให้เมียนมา และมีเพียง 1 ประเทศคือเบลารุส ที่ลงมติไม่เห็นด้วยกับการคว่ำบาตร ส่วนอีก 36 ประเทศ รวมทั้งจีน รัสเซีย และไทย งดออกเสียงในกรณีนี้