5 เรื่องน่ารู้ การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20

16 ต.ค. 2565 | 08:23 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ต.ค. 2565 | 15:47 น.
2.2 k

การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (NCCPC) ครั้งที่ 20 กำลังจะเริ่มขึ้นแล้วในวันนี้ (16 ต.ค.) ในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อไปนี้ เป็น “5 เรื่องน่ารู้” เกี่ยวกับการประชุมที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่เกิดขึ้นทุก ๆ 5 ปีในประเทศจีน  

1) การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (NCCPC) ครั้งที่ 20 จะเริ่มต้นในเวลา 10.00 น. ของวันอาทิตย์ (16 ต.ค.) ตามเวลาปักกิ่ง ณ อาคารมหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของ จีน และจะสิ้นสุดวันที่ 22 ต.ค. รวมระยะเวลา 7 วัน

 

สำนักข่าวซินหัว สื่อใหญ่ของจีน รายงานว่า คณะผู้แทนฯ ที่จะเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ได้เดินทางมารวมตัวกัน ณ กรุงปักกิ่ง แล้วตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ (14 ต.ค.) โดยมีจำนวนคณะผู้แทนทั้งสิ้นมากกว่า 2,200 คนเป็นตัวแทนสมาชิกพรรคฯ ที่มีอยู่ทั่วประเทศจีนมากกว่า 96 ล้านคน

การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 จะมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 16-22 ต.ค. 2565

นอกจากนี้ การประชุม NCCPC ยังจะมีผู้แทนจากทุกภาคส่วนทั้งเจ้าหน้าที่มณฑล กองทัพ ศาสตราจารย์ และภาคประชาชนกลุ่มรากหญ้า จำนวนราว 2,300 คน เดินทางมารวมตัวกันที่มหาศาลาประชาชน ในจัตุรัสเทียนอันเหมิน ก่อนที่ 200 คนในจำนวนนี้จะได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์ กับสมาชิกทางเลือกอีก 170 คน ซึ่งหลังจากนั้น คณะกรรมการกลางจะเลือก 25 คนเป็นสมาชิกกรมการเมือง (โปลิตบูโร) ก่อนที่โปลิตบูโรจะเลือกสมาชิกคณะกรมการเมืองถาวร (Politburo Standing Committee: PSC) ซึ่งมีอำนาจตัดสินใจทางการเมืองสูงที่สุดในประเทศ

 

สมาชิก PSC ชุดปัจจุบันมี 7 คน ได้ชื่อว่าเป็น "7 อรหันต์" หรือ 7 บุคคลที่มีอิทธิพลสูงสุดทางการเมืองของจีน แน่นอนว่ามีประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง รวมอยู่ในนั้นด้วย 

สมาชิก PSC ชุดปัจจุบันมี 7 คน รวมทั้งปธน. สี จิ้นผิง และนายกฯ หลี่ เค่อเฉียง

2) การประชุมดังกล่าวจะถ่ายทอดสดโดยไชน่า มีเดีย กรุ๊ป (CMG) และสำนักข่าวซินหัว โดยจะถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์และวิทยุทั่วจีน เว็บไซต์ข่าว แพลตฟอร์มสื่อใหม่ หน้าจอกลางแจ้งขนาดใหญ่ และโทรทัศน์เคลื่อนที่ นี่คืองานอีเวนต์ใหญ่สุดในปฏิทินการเมืองของจีนซึ่งจะเกิดขึ้นเพียง 1 ครั้งในทุกๆ 5 ปี

 

3) วาระสำคัญในการประชุม คือการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยเฉพาะในช่วงท้ายที่สมาชิกคณะกรมการเมืองถาวร (Politburo Standing Committee หรือ PSC) ชุดใหม่ จะปรากฏตัวบนเวทีตามลำดับความสำคัญ ซึ่งจะบ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงในนโยบายของจีน ผู้นำคนใหม่ หรือว่าที่ผู้สืบทอดในอนาคต

 

อ่านเพิ่มเติม: ส่องโปรไฟล์ 'หวาง หยาง' ตัวเก็งนายกฯ จีนคนต่อไป

 

นอกจากนี้ ยังจะมี การรายงาน “ผลงาน” ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯ ในวาระโอกาสนี้ จะมีการส่งสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางของจีนในอีก 5 ปีข้างหน้าด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  หลายฝ่ายจับตามองว่า ในเนื้อหาการประชุมครั้งนี้ จีนจะทำอย่างไรต่อไปกับนโยบายโควิดเป็นศูนย์  การรับมือวิกฤติเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์กับไต้หวันและชาติตะวันตก เป็นต้น

4) ไฮไลท์การประชุมครั้งนี้ซึ่งจะแตกต่างไปจากครั้งก่อนๆ คือ เป็นที่คาดหมายอย่างกว้างขวางว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะได้รับการยืนยันให้เป็นผู้นำประเทศสมัยที่ 3 ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้นำจีนสามารถอยู่ในตำแหน่งได้มากที่สุดเพียง 2 สมัยหรือ 10 ปี แต่หลังจากที่มีการแก้ไขธรรมนูญของพรรคในปี 2018 ก็สามารถต่ออายุการครองตำแหน่งของประธานาธิบดีออกไปได้ เพื่อนำพาประเทศจีนเข้าสู่ยุคใหม่ ทั้งยังมีความเป็นไปได้ด้วยว่า ปธน.จะสามารถอยู่ในตำแหน่งไปจนตลอดชีวิต

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

ปัจจุบัน สี จิ้นผิง อายุ 69 ปี เขากุมอำนาจไว้ในมือโดยดำรง 3 ตำแหน่งสำคัญสูงสุดของรัฐบาลจีน ได้แก่

  • เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน
  • ประธานคณะกรรมการกองทัพกลาง หรือผู้บัญชาการทหารสูงสุด
  • ประธานาธิบดี

 

รายงานข่าวระบุว่า มีความเป็นไปได้สูงที่หลังจากการประชุม NCCPC สี จิ้นผิง จะรักษา 2 ตำแหน่งแรกเอาไว้ แต่จะยังไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 อย่างเป็นทางการ จนกว่าจะมีการประชุมสมัชชาประชาชนแห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในเดือนมีนาคมปีหน้า (2566)

 

5) สิ่งที่ผู้คนจับตา นอกเหนือจากการรับรองการต่อวาระการเป็นผู้นำเป็นสมัยที่3 ของสี จิ้นผิงแล้ว อีก 3 ประเด็นสำคัญที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจคือ

  • จีนยังจะคงนโยบายโควิดเป็นศูนย์ต่อไปหรือไม่
  • จีนจะรับมือกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจทั้งของจีนเองและแนวโน้มถดถอยของเศรษฐกิจโลกอย่างไร
  • ท่าทีของจีนที่มีต่อไต้หวันรวมทั้งประเทศพันธมิตรไต้หวันอย่างสหรัฐอเมริกา

 

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังกล่าวด้วยว่า การประชุมสมัชชาฯครั้งที่ 20 นี้ อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในธรรมนูญของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดย "'แนวคิด สี จิ้นผิง" จะถูกปรับเข้ามาอยู่ในธรรมนูญ และถูกยกย่องให้เป็นปรัชญานำทางของพรรค แต่หลายฝ่ายมองว่า "แนวคิด สี จิ้นผิง" คือลัทธิสังคมนิยมจีนที่สี จิ้นผิง นำมาประทับตรา ถือเป็นปรัชญาชาตินิยมที่สุดโต่งอย่างมาก และไม่เชื่อในพลังอำนาจของธุรกิจเอกชน สะท้อนให้เห็นได้จากการปราบปรามบริษัทที่มีอำนาจในหลายภาคธุรกิจภายในเศรษฐกิจของจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา (เช่นกรณีของนายแจ็ค หม่า และอาลีบาบา)  

 

สิ่งที่น่ากังวลก็คือ ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นจริง ประกอบกับอำนาจแบบเบ็ดเสร็จที่มีอยู่ในมือ นั่นก็อาจทำให้สี จิ้นผิง กลายเป็นผู้นำเผด็จการได้หากเขาต้องการให้เป็นเช่นนั้น ซึ่งก็ต้องจับตาดูกันต่อไป